Share to:

 

กระท่อม (พืช)

กระท่อม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
เคลด: แอสเทอริด
อันดับ: ดอกหรีดเขา
วงศ์: วงศ์เข็ม
สกุล: Mitragyna

(Korth.) Havil.
สปีชีส์: Mitragyna speciosa
ชื่อทวินาม
Mitragyna speciosa
(Korth.) Havil.
ชื่อพ้อง[1]
  • Nauclea korthalsii Steud. nom. inval.
  • Nauclea luzoniensis Blanco
  • Nauclea speciosa (Korth.) Miq.
  • Stephegyne speciosa Korth.

กระท่อม[2] หรือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa Korth.[3] เป็นพืชในวงศ์กาแฟ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ทางภาคใต้เรียก ใบท่อม (thom) ภาคกลางเรียก อีถ่าง มาเลย์เรียก เบี๊ยะ (biak) หรือ เคอตุ่ม (ketum) หรือ เซบัท (sepat) เป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า และ ปาปัวนิวกินี[4] ที่ซึ่งปรากฏการใช้งานกระท่อมในฐานะยาสมุนไพรมาตั้งแต่อย่างน้อยคริสต์ศตวรรษที่ 19[5] กระท่อมมีคุณสมบัติโอปีออยด์ และมีผลคล้ายสารกระตุ้นบางส่วน[6][7]

ข้อมูลจาก ปี 2018 ระบุว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกระท่อมยังคงไม่สามารถสรุปได้ และยังคงไม่ได้รับการอนุมัติเป็นยารักษาโรคเนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับกระท่อมจำนวนมากขาดคุณภาพ[8][9] ใน ค.ศ. 2019 องค์การอาหารและยาสหรัฐบันทึกไว้ว่า ไม่มีหลักฐานที่ว่ากระท่อมปลอดภัยหรือมีผลต่อการรักษาทุกแบบ[10] อย่างไรก็ตาม ปรากฏผู้คนบางส่วนใช้กระท่อมเพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง, อาการถอนฝิ่น รวมไปถึงการใช้ในเชิงนันทนาการ[4][8] เวลาแสดงผลของกระท่อมอยู่ที่ประมาณ 5-10 นาที และจะคงอยู่ไปถึง 2-5 ชั่วโมง[4]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

กระท่อม (kratom)[11] เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-30 เมตร เปลือกต้นสีเทา ลำต้นของกระท่อมมีลักษณะตรง แตกกิ่งก้านน้อย ลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบป้าน ขอบใบเรียบ แต่บางชนิดอาจมีปลายใบเป็นหยัก เรียก ชนิดหางก้ัง หรือ ยักษ์ใหญ่ ผิวใบเรียบลื่น แผ่นใบบาง ด้านท้องใบมีเส้นใบเป็นสันเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบ ข้างละประมาณ 10-15 เส้น ขนาดใบแตกต่างกันในแต่ละพื้นถิ่น ใบเพสลาดกว้าง 10-16 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร ยอดอ่อนเห็นหูใบรูปใบหอกอยู่ตรงกลางระหว่างกันใบอ่อนท้งสองข้าง จำนวน 1 คู่ เส้นบริเวณท้องใบเป็นสัน ดอกเป็นช่อกระจุกแน่นทรงกลม ออกจากปลายกิ่งประมาณ 1-3 ช่อ ก้านช่อดอกยาว 7-12 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 70-80 ดอก ดอกเมื่อแรกบานมีสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็น สีเหลือง เป็นชนิดดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะผลกลุ่มอัดแน่นเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ภายในผลย่อยมีเมล็ดประมาณ 140-160 เมล็ด และมีปีกบาง ๆ สามารถปลิวไปได้ไกล[12]

การขยายพันธุ์

พืชกระท่อมใช้เมล็ดในการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ เมล็ดที่มีปีกบาง จะสามารถปลิวไปได้ไกลตามแรงลม และสามารถแขวนลอยไปกับน้ำได้ง่าย จึงสามารถพบต้นกระท่อมได้ตามริมลำธารโดยเฉพาะดินชื้นแฉะ เนื่องจากพืชกระท่อมจัดเป็นพืชเสพติดให้โทษ จึงไม่มีการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปก็เพาะต้นกล้าจากเมล็ด จนได้ต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร ย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นเหมาะสม นอกจากนั้นอาจใช้วิธีการติดตา ทาบกิ่งกับต้นตอที่มี ความแข็งแรง รวมไปถึงการติดตากับต้นกระท่อมขี้หมูที่โตไวกว่า มีรายงานวิจัยของประเทศมาเลเซีย[13] เรื่อง การขยายพันธุ์พืชกระท่อมโดยวิธีการปักชำ โดยใช้ต้นกล้าอายุ 2 ปี จากนั้นตัดกิ่งที่มีตาข้าง (ข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 8) ปักในกระบะดิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนเร่งราก สภาวะเลี้ยงคือ ที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 80%

การกระจายพันธุ์

พบที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนคาบสมุทรมลายู สุมาตรา บอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และนิวกีนี โดยในประเทศไทยพบทางภาคใต้ มักขึ้นตามป่าดิบชื้นระดับต่ำหรือป่าพรุความสูงระดับต่ำๆ [14]

ประเภทของกระท่อม

สามารถจำแนกออกตามประเภทของสีของเส้นใบ (Vein) ซึ่งแตกต่างกัน ได้หลักๆดังนี้

1. กระท่อมขาว (White Vein Kratom)

เป็นกระท่อมท่ผลิตจากใบที่มีอายุอ่อนลักษณะเส้นใบจะมีสีขาวได้รับความนิยมมากในตลาดของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าสามารถช่วยเพิ่มกำลังและช่วยทำให้มีอารมณ์ดีคลายเครียด โดยมีประเภทแยกย่อยออกไปตามแหล่งเพาะปลูกอีก เช่น กระท่อมขาวไทย (White Thai Kratom) กระท่อมขาว สุมาตรา (White Sumatra Kratom) และกระท่อมขาวอินโด (White Vein Indo) เป็นต้น

2. กระท่อมเขียว (Green Vein Kratom)

เป็นกระท่อมที่ผลิตจากใบที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ลักษณะเส้นใบจะมีสีเขียวมีฤทธิ์คล้ายกับกระท่อมขาวแต่อ่อนกว่า เชื่อว่าช่วยเพิ่มกำลังและทำให้มีความกล้ามาก ขึ้นเหมาะสำหรับคนที่ขี้อายไม่กล้าเข้าสังคม อีกทั้งยังเชื่อว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้มีอารณ์ดีด้วย โดยมีประเภทแยกย่อยอีก เช่น กระท่อมเขียวมาเลเชียน (Malaysian Green) และ กระท่อมเขียวปอนเตียนาค (Pontianak Green Horn) ชื่อเมืองในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

3. กระท่อมแดง (Red Vein Kratom)

เป็นกระท่อมที่ผลิตจากใบแก่ลักษณะเส้นใบจะมีสีแดงอุดมไปด้วยสาร Mitragynine ทำให้มีประสิทธ์ภาพในการออกฤทธ์ดีจึงถือว่าเป็นประเภทกระท่อมท่มีคุณภาพดีที่สุดจึง ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด เชื่อว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับสามารถผ่อนคลายร่างกายและ อารมณ์ และช่วยลดความเครียดได้ โดยมีประเภทแยกย่อยอีกหลายชนิด เช่น กระท่อมแดงไทย (Red Thai) กระท่อมแดงสุมาตรา (Red Sumatra) กระท่อมแดงปอนเตียนาค (Pontianak Red Horn) และชนิดอื่น ๆ

และสามารถจำแนกออกเป็นประเภทอื่นๆเพิ่มเติม ได้ดังนี้

4. กระท่อมแมงดา (Maeng Da Kratom)

เป็นกระท่อมสายพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ในประเทศไทย โดยได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยเทคนิคการทาบกิ่งจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่และกระจายแหล่งเพาะปลูกไปยัง อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยกระท่อมแมงดาเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคมาก เนื่องจากเชื่อว่าสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการทางจิตช่วยให้อารมณ์คงที่ อีกท้งยังช่วยเพิ่มกำลังด้วย

5. กระท่อมเบนทูแอนจี (Bentuangie Kratom)

โดย Bentuangie หมายถึง “Tropical Blend” กระท่อมประเภทนี้จะผลิตจากใบกระท่อมแห้งและใบกระท่อมหมัก ซึ่งทำให้เกิดเป็นสีน้ำตาลเข้มมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แม้ว่ากระท่อมประเภทน้จะเพิ่งเข้าตลาดได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เช่อว่า สามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยผ่อนคลาย ช่วยในการนอนหลับ และช่วยทำให้อารมณ์ดี อีกทั้ง ยังเชื่อว่าออกฤทธ์นานกว่ากระท่อมประเภทอื่นด้วย

6. กระท่อมเหลือง (Yellow Vein Kratom)

เป็นกระท่อมประเภทสีขาวที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตพิเศษจนทำให้เกิดเป็นสีเหลืองแม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมในตลาดมากนัก แต่เชื่อว่าสามารถช่วยเพิ่มกำลัง ช่วยลดอาการ วิตกกังวล และช่วยเพิ่มสมาธิได้ อีกท้งยังเชื่อว่าสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่ากระท่อมขาวด้วย

พฤกษเคมีของพืชกระท่อม

สารเสพติดที่พบในใบกระท่อม[15] คือ  ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า

ใบ

1. กลุ่มสาร: แอลคาลอยด์

ajmalicine; akuammigine; angustine; corynantheidine; corynantheidaline; corynantheidalinic acid; corynoxeine; corynoxine; corynoxine B; hirsutine; hirsuteine; isocorynoxeine; isomitraphylline; isomitrafoline; isospeciofoline; isorhynchophylline; isocorynantheidine; javaphylline; mitraciliatine; mitrafoline; mitragynalinic acid;mitragynine oxindole mitrajavine; mitraphylline; mitrasulgynine; mitragynaline; mitragynine; mitralactonal; paynantheine; speciociliatine; speciofoline; speciogynine; -3isoajmalicine; -3,4,5,6tetradehydromitragynine; 7a-hydroxy7-H-mitragynine; -3dehydro-mitragynine[16][17][18]

2. กลุ่มสาร: ฟลาโวนอยด์

apigenin; apigenin-7-O- rhamnoglucoside; astragalin; cosmosiin; hyperoside; kaempferol; quercetin; quercitrin; quercetin-3-galactoside-7-rhamnoside; rutin; (-)-epicatechin[19][20][21][22][23]

3. กลุ่มสาร: เฟนิลโพรพานอยด์ caffeic acid; chlorogenic acid

4. กลุ่มสาร: ลิกแนน (+)-pinoresinol

5. กลุ่มสาร: ไตรเทอร์ปีนอยด์ ursolic acid; oleanolic acid

เปลือกต้น

กลุ่มสาร: แอลคาลอยด์

ciliaphylline; isomitraphylline; isorhynchophylline; isospecionoxeine; javaphylline; mitraciliatine;[24]

mitragynine oxindole A; mitragynine oxindole B; mitraphylline; rhynchociline; rhynchophylline; speciogynine; speciociliatine; specionoxeine[25]

เปลือกราก

กลุ่มสาร: แอลคาลอยด์

ciliaphylline; corynoxeine; isocorynoxeine; isomitraphylline; isorhynchophylline; isospecionoxeine; mitraciliatine; mitraphylline; rhynchociline; rhynchophylline; speciociliatine; speciogynine; specionoxeine[26]

พิษวิทยาของพืชกระท่อม

ความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดแอลคาลอยด์จากพืชกระท่อมและไมทราไจนีน พบว่าสารสกัดแอลคาลอยด์จากพืชกระท่อมมีความเป็นพิษต่อเซลลเ์พาะเลี้ยงชนิด HepG2 , HEK293 , MCL-5, cHol และ SH-SY5Y แบบขึ้นกับความเข้มข้น (dose-dependent manner) และที่ความเข้มข้น 1,000 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ทำให้เซลล์ตายท้ังหมด ส่วนการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดพืชกระท่อมต่อสัตว์ทดลองแบบเฉียบพลันมีรายงานว่าค่า LD50 (Lethal Dose 50%) ซึ่งหมายถึง ปริมาณของสารเคมีที่ให้กับสัตว์ทดลองท้ังหมดเพียงคร้ังเดียว แล้วทำให้กลุ่มของสัตว์ทดลองตายร้อยละ 50 (ครึ่งหนึ่ง) ของสารสกัดแอลคาลอยด์จากพืชกระท่อมมีค่าเท่ากับ 173.20 ถึง 591 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[27] ส่วนไมทราไจนีนมีค่า LD50 เท่ากับ 477 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[28] ส่วนสารสกัดน้ำพืชกระท่อม มีค่า LD50 มากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[29] ซึ่งถือว่าสารสกัดน้ำพืชกระท่อมมีความเป็นพิษน้อย

การศึกษาความเป็นพิษในมนุษย์มีรายงานฉบับแรกของ Grewal และคณะ[30] โดยให้ อาสาสมัครจำนวน 5 ราย ดื่มสารละลายไมทราไจนีน ในน้ำท่ีมีปริมาณไมทราไจนีนอะซิเตรด (mitragynine acetate) เท่ากับ 50 มิลลิกรัมในอาสาสมัคร 4 ราย และผงใบกระท่อมน้ำหนัก 1.3 กรัมในอาสาสมัคร 1 ราย พบว่า อาสาสมัครทุกรายมีอาการ cocaine-like effects ได้แก่ มีอารมณ์เคลิบเคลิ้มมีความสุข หัวใจเต้นเร็ว เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ เป็นต้น บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มือส่ันเล็กน้อย และ หน้าแดง

การศึกษาของ Singh และคณะ[31] ได้ทำการศึกษาความเป็นพิษของพืชกระท่อมต่อค่าพารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยาและเคมีคลินิกของเลือด (hematological and clinical-chemistry parameters) ในผู้ใช้พืชกระท่อมจำนวน 55 รายเทียบกับอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรงจำนวน 19 ราย พบว่าค่าพารามิเตอร์หรือผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการของผู้ใช้พืชกระท่อมส่วนใหญ่ มีค่าไม่แตกต่างจากอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง มีเพียงค่าฮีโมโกบิน จำนวนเม็ดเลือดขาว ปริมาณแคลเซียม คลอเลสเตอรอลชนิด HDL (high density lipoprotein) ที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง ส่วนค่าพารามิเตอร์อื่นๆ ที่เป็นผลตรวจจากห้องปฏิบัติการอยู่ในช่วงค่าปกติ รวมถึงผู้ใช้ใบพืชกระท่อมมาเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปีและได้รับไมทราไจนีนในปริมาณ 76.3-114.8 มิลลิกรัมต่อวันท่ีเข้าร่วมการศึกษาดังกล่าว

การใช้ประโยชน์

สรรพคุณของต้นกระท่อม[32]

1. ช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังให้ทำงานได้นานขึ้น

สรรพคุณแรกที่อยากแนะนำ คือ ความสามารถในการช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย จึงมีผลทำให้การทำงานยาวนานขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ทนแดดทนลม กล้ามเนื้ออึดขึ้น ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เป็นอยู่ได้ดี แต่กระนั้นต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย

2. รักษาอาการลำไส้ติดเชื้อ

ลำไส้ติดเชื้อ หรือท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเหลว เราสามารถนำต้นกระท่อมไปต้มเพื่อดื่มกินได้ หรือจะเคี้ยวใบ ชงกับน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการที่เป็นอยู่ก็ไม่มีปัญหา เมื่อดื่มไปแล้วตัวสรรพคุณที่มีในใบ หรือลำต้นก็จะไปช่วยยับยั้งเชื้อในลำไส้ไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบอีก

3. ช่วยลดอาการปวดที่มีผลดีกว่ามอร์ฟีน

กระท่อมมีสารชื่อว่า “ไมทราไจนีน” อันถือเป็นสารที่มีความสำคัญมาก ในไทยพบสูงถึง 66% มีส่วนช่วยกดประสาทส่วนกลาง เพราะมีสารจำนวนอัลคอลอยด์ผสมอยู่ด้วย จึงระงับอาการปวดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีความรุนแรงได้ดี รู้สึกง่วงซึม กระตุ้นให้เกิดความเคลิ้มอย่างมีความสุข ผลจากการศึกษาสารนี้ในใบกระท่อม พบว่ามีส่วนช่วยลดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่ามอร์ฟีน 13 เท่า ทั้งยังช่วยบำบัดผู้ที่เสพติดมอร์ฟีนในบางคนได้ดีอีกด้วย

4. ลดอาการขาดยาจากสารเสพติด

สารเสพติดอย่าง เฮโรอีน, ฝิ่น, มอร์ฟีน เมื่อใครต้องการบำบัดให้หายขาดสามารถเลือกใช้ต้นกระท่อมช่วยได้ แต่ต้องมีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงระยะเวลาไม่นานมากเกินไป กระท่อมจะให้ผลข้างเคียงในการบำบัดที่น้อยกว่าสารตัวอื่น ๆ

5. ช่วยแก้อาการปวดฟัน

โดยทั่วไปแล้วเราสามารถต้มน้ำกระท่อมโดยใช้ส่วนใบเด็ด ล้างให้สะอาดแล้วให้นำมาต้มดื่มกินเป็นน้ำสมุนไพรตามตำราแผนโบราณบอกว่าฤทธิ์ที่มีจะช่วยให้อาการปวดฟันต่าง ๆ ทุเลาลงได้ แต่กระนั้นปัจจุบันไม่ค่อยได้ทำกันแล้วเพราะมีเป็นยาเม็ดแก้ปวดแทน

6. ช่วยลดความดันโลหิตสูง

อย่างที่ทราบว่ากระท่อมมีสารที่ชื่อไมทราไจนีน นอกจากจะช่วยระงับความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีกว่ามอร์ฟีน ก็ยังมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดได้ด้วย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดความดันโลหิต ซึ่งตามตำรับยาแผนโบราณแล้วมีผลวิจัยว่าช่วยปัญหาความดันเลือดสูงจริง

7. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน

กระท่อมเป็นพืชที่สามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเอาใบมาเคี้ยวแล้วคายกากออก หรือต้มดื่มกินในชีวิตประจำวันก็ได้หมด ช่วยในการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอินซูลินในร่างกายของผู้ป่วยอีกต่างหาก

8. ช่วยรักษาแผลในปาก แก้ไอ

สุดท้ายสำหรับสรรพคุณของต้นกระท่อมนอกจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นยังสามารถใช้รักษาอาการแผลในปาก ไม่ว่าจะเกิดจากการกัดปากตัวเอง ร้อนในที่เกิดขึ้น รวมถึงอาการไอ ก็แก้ได้เช่นกัน ซึ่งฤทธิ์ที่มีจะช่วยสมานแผล ห้ามเลือด ที่สำคัญช่วยถอนพิษจากสัตว์ร้ายได้ด้วย

9. การลดอาการปวดเบ่งก่อนคลอด

หมอพื้นบ้านบางท่านที่เคยมีประสบการณ์ใน การทำคลอด เคยต้มใบกระท่อมให้ผู้หญิงที่กำลังจะคลอดลูกกิน เพราะก่อนคลอดจะมีอาการปวดเบ่ง เมื่อได้กินน้ำต้มกระท่อมจะช่วยลดอาการปวดลง แต่หมอพื้นบ้านบางท่านบอกว่าอันตราย คนจะคลอดลูกให้กินใบกระท่อมไม่ได้ เลือดมันจะแรงขึ้น เพราะรสเมาของกระท่อมเข้าไปกระตุ้น อันตรายมาก ใบกระท่อมเป็นตัวกระตุ้น จึงห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือใช้ลดอาการปวดเบ่ง ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในประเด็นนี้

10. ช่วยรักษาโรคตานซาง

มักเกิดในเด็กช่วงอายุประมาณ 1-5 ปี เป็นตุ่มพุพอง น้ำเหลืองย้อย เด็กมีอาการไข้ ตำารับยาที่ใช้ได้แก่ เปลือกกระท่อม โดยคนโบราณนิยมใช้เปลือก เพราะเปลือกกระท่อมขมน้อยกว่าใบ มีรสฝาด ข้าวเย็นเหนือ ตาลน้ำนม ตาลดำ ตาลเสี้ยน ตาลมอญ ตาลลูกอ่อน แต่ละอย่างใช้ปริมาณเท่า ๆ กัน อย่างละ 1 กำ แล้วนำไปต้ม เอาให้เด็กกินประมาณวันละ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วดูอาการของเด็ก กินจนกว่าแผลที่พุพองจะแห้ง น้ำเหลืองแห้ง กินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย

11. ช่วยรักษาอาการไอเรื้อรัง

คนไข้ที่มีอาการไอบางคนกินกระท่อมซีกเดียวก็หายบางคนใช้ 2-3 ใบ ห่อน้ำตาลทรายแดงแล้วกิน ส่วนคนที่ไอเรื้อรังหมอพื้นบ้านใช้ใบกระท่อมต้มกับอ้อยแดง อ้อยแดงสับเป็นท่อน แทนน้ำตาลทรายแดง แล้วต้มกับใบกระท่อม

“อาการไอเรื้อรัง คือไอเกิน 15 วัน ไปซื้อยาที่ตลาดกินเท่าไรก็ไม่หาย กินกระท่อมต้มกับอ้อยแดงหม้อเดียวหายเลย หม้อดินเล็ก ๆ ประมาณ 1 ลิตร ก็ให้เขาจิบกิน เพราะอ้อยแดงทำให้ ชุ่มคอ บำรุงกำลังไม่ให้เพลีย ไม่ให้เจ็บอก ใส่กระท่อมก้านแดง ถ้าใบใหญ่ 8 ใบ ถ้าใบเล็ก 12 ใบ มีเคล็ดอยู่ว่าถ้ารักษาคนให้ใส่เกิน 7 จะหาย ถ้าไม่เกิน 7 ยังเจ็บอยู่ ไม่หาย ใบกระท่อมใช้ใบค่อนข้างแก่ เลยจากเพสลาด (ครึ่งอ่อนครึ่งแก่) ใช้อ้อยปริมาณ 3 ขีด น้ำ 1 ลิตร ต้มให้เหลือครึ่งลิตร ก็ใช้ได้ ใส่ขวดลิโพให้คนไข้ไปไว้จิบแก้ไอ ถ้าอาการไอเรื้อรังยังไม่หายต้องทำสูตรใหม่ และต้องดูว่าเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็จะใช้กะเพราด้วยเพื่อเสริมฤทธิ ปริมาณของกระท่อมและอ้อยแดงเท่าเดิม และเพิ่มกะเพรา กะเพราหักเป็นก้านแล้วนำไปตากแดดให้หมาด ตากน้ำค้าง 1 คืน แล้วนำมาต้มกับกระท่อมและอ้อยแดง

12. เป็นยาสมุนไพร สำหรับสัตว์เลี้ยง

เมื่อสัตว์เลี้ยงเช่น วัว ควาย และหมู ท้องเสีย เจ้าของจะเก็บใบกระท่อมมาผสมกับอาหารให้กิน ผสมให้กินประมาณ 2-3 มื้อ อาการก็ดีขึ้น ช่วยประหยัดเงินในการไปหาซื้อยามารักษา

ประวัติศาสตร์การใช้ประโยชน์

พืชกระท่อมกับการแพทย์แผนไทย

มีการใช้พืชกระท่อมเป็นยารักษาโรค ตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน และตำรับยาแผนโบราณ ยกตัวอย่างเช่น

1. ยาประสะกระท่อม

เอาเทียนทั้ง 5 ฝางเสน แก่นสน ครั่ง งาช้าง สักขี แก่นจันทน์ท้ง 2 ข่า ใบเทียน ใบทับทิม ใบชิงช้าชาลี เขากวาง ใบมะลิซ้อน ใบมะลิลา เอาสิ่งละ 1 สลึง

กำลังวัวเถลิง ขิงแห้ง ขมิ้นชัน การะบูน เอาสิ่งละ 1 เฟื้อง ขมิ้นอ้อย 1 สลึงเฟื้อง กระทือ 2 สลึง ไพลหมกไฟ 1 บาท ใบกระท่อมเท่ายาทั้งหลาย บดปั้นแท่งด้วยสุรา

แก้ปวดมวน ละลายน้ำกานพลูต้มกิน ยานี้แก้โรคธาตุพิการ (อย่างแรง)[33]

2. ยาทำให้อดฝิ่น

เอาขี้ยา 2 สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญ(น)ชาครึ่งกำ ใบกระท่อมเอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป 1 ถ้วย

ให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้ จนกว่ายาจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป[34]

3. ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร

เบญกานี ผลกล้วยตีบ ใบกระท่อม ใบกระพังโหม ใบทับทิม ลูกทับทิมอ่อน ใบสะแก ชันย้อย ดินกิน กระเทียมกรอบ บดละลายน้ำเปลือกต้นคาง แก้ท้องร่วงอย่างแรง

4. ยาแก้บิดลงเป็นเลือด

ใบกระท่อม ขมิ้นอ้อย ไพล เมล็ดผักกาด กระพังโหมท้ง 2 ตำใส่กระบอกไม้ไผ่สีสุก เอาสุราเป็นน้ำหลามแทรกฝิ่นกิน แก้บิด

5. ยาแก้บิดหัวลูก

ใบพลู 3 ใบ ใบกระท่อม ใบไม้ท้งสองปิ้งให้เกรียม กระเทียมสุกบด แทรกฝิ่น ละลายน้ำปูนใส น้ำกระชายกิน แก้บิด

6. ยาประสะกาฬแดง

รากช้าพลู สะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง ขิง ดีปลี หัวแห้วหมู ลูกมะตูมอ่อน ลูกจันทน์ กานพลู พริกไท โกฐท้งห้า เทียนท้งห้า เปลือกลูกทับทิม เอาสิ่งละ 1 บาท

ลูกกระวาน 1 สลึง เบญกานี สีเสียดทั้งสอง ครั่ง หมากขี้ไก่ เปลือกลูกมังคุด เมล็ดตะบูน เปลือกขี้อ้าย เอาสิ่งละ 4 บาท บดปั้นแท่ง แก้ลงท้อง ละลายน้ำ

เปลือกต้นแค ต้มกิน หรือละลายน้ำ เปลือกสะเดา เปลือกขี้อ้าย เทียนดำ ต้มกิน แก้บิดปวดมวน เอาเปลือกต้นไข่เน่า ใบกระท่อม บอระเพ็ด ขมิ้นอ้อย เทียนดำ

ใบเสนียด เอาสิ่งละ 1 บาท ขี้ยาฝิ่น 2 สลึง ต้มเป็นน้ำกระสาย เวลาบด แทรกน้ำเนื้อไม้ต้มแทรกพิมเสนด้วย แก้บิด[35]

7. ยาเหลืองกระท่อม

เอาเทียนท้ง 5 ฝางเสน 1 ครั่ง 1 เขากวาง 1 งาช้าง 1 แก่นใน 1 สักขี 1 จันทน์ทั้ง 2 ข่า 1 ใบเทียน 1 ใบทับทิม 1 ใบชิงชาชาลี 1 ใบมะลิท้ง 2 กำลังวัวเถลิง 1

ขิงแห้ง 1 ขมิ้นชัน 1 การบูร 1 เอาสิ่งละ 1 สลึง ขมิ้นอ้อย 1 สลึง 1 เฟื้อง กระทือ 1 สลึง 1 เฟื้อง ใบกระท่อม 7 บาท แก้บิดปวดมวนฯ[36]

8. ประมวลศิลาจารึกว่าด้วยริดสีดวง บิด เลือดเน่า ศิลาจารึกแผ่นที่ 28 คำอ่านจารึก

สิทธิการิยะ ยาลงเลือด ฝาง 1 รากกล้วยตีบ 1 ฝิ่นต้น 1 ต้ม 3 เอา 1 กินหายแลฯ แก้บิดลงเลือด เบญจกะเม็ง 1 ตำเอาน้ำ 1 เอาลูกช้าพลู 1 ดีปลี 1 พริก 1

กะเทียม 1 เทียนดำ 1 ตำใส่น้ำกะเม็ง แล้วเผาสรรพคุณชุบเสกด้วยสักกัตวากินหายฯ

ขนานหนึ่งใบกระท่อม 1 ขมิ้นอ้อย 1 ไพล 1 พรรผักกาด 1 กระพังโหมท้ง 2 ตำใส่กระบอกไม้หลามให้สุก เอาเหล้าเป็นกระสายแทรกฝิ่นกินหายฯ

ถ้ามิฟังพริก 1 ขิง 1 กระเทียม 1 หอม 1 ไพล 1 ดินประสิวขาว 1 สารส้ม 1 กำมะถัน 1 หรดาล 1 ลูกจันทน์ 2 ดอกจันทน์ 2 ลูกกราย 1 ใบไม้เท้ายายม่อม 1

ขมิ้นอ้อย 1 กัญชาเท่ายาท้งหลายบดด้วยน้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มสายชู แก้สรรพโรคบิด ออกฝีหัดกินหายฯ

วัฒนธรรมการใช้พืชกระท่อม

ชาวบ้านในภาคใต้เคี้ยวใบกระท่อมมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยใช้เป็นตัวกระตุ้นเพื่อช่วยในการทำงานให้ทนนานมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำนา ทำสวน หรือประมง ,ใช้เป็นยารักษาโรค , ของขบเคี้ยวหรือของกินสำหรับต้อนรับแขกที่มาเยือน ตลอดจนใช้ในการสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง ซึ่งในอดีต ก่อนท่จะมีการปราบปรามการใช้พืชกระท่อมอย่างเข้มงวดและการโค่นทำลายต้นกระท่อม ในเขต ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตามร้านน้ำชาจะมีใบกระท่อมให้กินฟรี และในตลาดจะมีใบกระท่อมสดมัดวางขายเป็นประจำทั่วไป กระท่อมจึงเป็นพืชท่แสดงถึงบทบาทหน้าที่ทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทยอย่างชัดเจน

มูลค่าทางเศรษฐกิจ

ตลาดสินค้ากระท่อมในสหรัฐฯ[37]

กระท่อมเริ่มเป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงยุค 90 ในกลุ่มธุรกิจร้านยาสูบ (Smoke Shop) แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยในปี 2016 คาดว่ามีจำนวนผู้ใช้กระท่อมทั่วสหรัฐฯ เพียงประมาณ 8,000 คนเท่านั้น โดยกระท่อมเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันมากขึ้น เนื่องจากกระแสการเปิดเสรีด้านการใช้กัญชาทางการแพทย์และ เพื่อการผ่อนคลายมากขึ้นในสหรัฐฯ โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนเชื่อว่ากระท่อมออกฤทธิ์คล้ายสารเสพติด แต่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าสามารถช่วยลดความเครียด อาการนอนไม่หลับ อาการเจ็บปวด และช่วย ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดประเภทอื่น อีกทั้งยังเป็นสินค้าประเภทอาหารเสริม (Supplement) ที่ไม่ถือว่าผิด กฎหมายในระดับรัฐบาลกลางด้วย

1 ขนาดตลาดและแนวโน้มตลาด

สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าจากกระท่อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ปัจจุบันคาดว่ามีชาวอเมริกันที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากกระท่อมประมาณ 11 – 15 ล้าน คนในสหรัฐฯ

2 ผู้ประกอบการสินค้ากระท่อมในสหรัฐฯ

ปัจจัยด้านความนิยมบริโภคสินค้าจากกระท่อมของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมาส่งผลทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่า มีผู้ประกอบการนำเข้าแปรรูปหรือจำหน่ายสินค้าจากกระท่อมมากกว่า 100 รายในสหรัฐฯ โดย ผู้ประกอบการจำหน่ายปลีกสินค้ากระท่อมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่น

- แบรนด์ Golden Monk (เมือง Las Vegas รัฐเนวาดา)

- แบรนด์ Kraken Kratom (เมือง Portland รัฐออริกอน)

- แบรนด์ Phytoextractum (เมือง Portland รัฐออริกอน)

- แบรนด์ Kratom Spot (เมือง Orange รัฐแคลิฟอร์เนีย)

- แบรนด์ Organic Kratom USA (เมือง Kansas City รัฐมิสซูรี)

- แบรนด์ Coastline Kratom (เมือง Supply รัฐนอร์ทแคโรไลนา)

- แบรนด์ Kratom Krazy (เมือง Supply รัฐนอร์ทแคโรไลนา)

- แบรนด์ Buy Kratom Bulk USA (เมือง New York รัฐนิวยอร์ก)

- แบรนด์ Happy Hippo Herbals (เมือง Meridian รัฐอินเดียนา)

- แบรนด์ Kats Botanicals (เมอื ง Fort Lauderdale รัฐฟลอริดา)

- แบรนด์ New Dawn Kratom (เมือง Colorado Spring รัฐโคโรลาโด)

- แบรนด์ Mitragaia (เมือง Henderson รัฐเนวาดา)

3. ข้อมูลการนำเข้าสินค้ากระท่อมของสหรัฐฯ

สินค้ากระท่อมที่สหรัฐฯ นำเข้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ใบกระท่อมอบแห้ง (HS Code 121190) และกระท่อมแปรรูปส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง (HS Code 130190) โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - กันยายน 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากระท่อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเป็นปริมาณทั้งสิ้น 1,755.94 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 1,065.89 แบ่งเป็นสินค้าใบกระท่อมอบแห้งเป็นปริมาณทั้งสิ้น 912.61 ตัน และสินค้ากระท่อมแปรรูปเป็นปริมาณทั้งสิ้น 843.33 ตัน ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐฯ เริ่มมีปริมาณนำเข้าสินค้ากระท่อม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาใน สหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของชาวอเมริกัน ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนในตลาดหันไปเลือกใช้สินค้าจากกระท่อมเพื่อคลายเครียด และการผ่อนคลายมากขึ้น โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากระท่อมเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 95) มาจากอินโดนีเซีย

4. ช่องทางการจัดจำหน่าย

สินค้ากระท่อมมีวางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกทั่วไปบ้างแต่ไม่มากนัก ส่วนมากจะจำหน่ายตามร้าจำหน่ายยาสูบ (Smoke Shop) ร้านจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมาย (Dispensers) และร้านรับสักเจาะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ เป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการหันไปจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้นถึงเกือบร้อยละ 90 เนื่องจากสะดวกและเข้าถึงกลุ่ม ลูกค้าได้ครอบคลุมมากกว่า

คาดการณ์การตีตลาดสหรัฐฯ ของพืชกระท่อมจากประเทศไทย[38]

พืชกระท่อม จากยาเสพติดประเภท 5 สู่พืชเศรษฐกิจมูลค่านับหมื่นล้านบาท GTH เปิดเกมลุยรายแรก พร้อมส่งออกอเมริกา ล็อตแรก 150 ตัน ชี้ภายในปี 65 ตลาดกระท่อมไทยคึกคัก กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท

นายจุลภาส เครือโสภณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท โกลเด้น ไตรแองเกิล เฮลท์ จำกัด หรือ GTH เปิดเผยว่า จากการปลดล็อกพืชกระท่อมที่ถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 สู่พืชเศรษฐกิจที่ไม่ผิดกฎหมายแบบ 100% จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดพืชกระท่อมได้เป็นอย่างดี เพราะเมล็ดกระท่อมไทย จัดว่าดีที่สุดในโลก

“ปัจจุบันตลาดกระท่อมที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยรักษาโรคซึมเศร้า, บำบัดยาเสพติด, เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระท่อมมีจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น อาหารเสริม ยาดม ชา เป็นต้น ขณะที่อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกกระท่อมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่บอกว่าเมล็ดมาจากประเทศไทย รวมถึงแบรนด์ก็ใช้ชื่อไทย อย่างเช่น แบรนด์ แมงดา ที่ทำรายได้จากการส่งออกกระท่อมไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี”

ด้านนายแดน ปฐมวณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือ NRF กล่าวว่า ทางบริษัทได้ร่วมกับ GTH ในการรุกตลาดพืชกระท่อม ซึ่งขณะนี้ถือว่าเราเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่มีวัตถุดิบใบกระท่อมอยู่ในมือกว่า 150 ตันที่พร้อมส่งออกภายในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงมีพันธมิตรทั้งในรูปแบบของผู้ปลูกพืชกระท่อม โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ปลูกพืชกระท่อมมากสุดในประเทศไทย และพันธมิตรในรูปแบบ B2B ที่เราจะป้อนวัถตุดิบพืชกระท่อมให้เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เซียงเพียวอิ๊ว ที่จะผลิตเป็น ยาดมใบกระท่อม, สมูทอี ที่จะผลิตเป็นครีมชูกำลัง รวมถึงบริษัทเครื่องดื่ม ที่จะผลิตน้ำกระท่อมชูกำลัง และบริษัทขายตรงอีกรายที่จะผลิตสินค้าเกี่ยวกับพืชกระท่อม เป็นต้น

“แผนการดำเนินงานของ NRF จะยังคงเน้นช่องทางอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช โดยเฉพาะพืชกระท่อมที่ร่วมกับทาง GTH โดยรูปแบบการทำธุรกิจจะเป็นแบบ B2B เพราะเน้นเป็นธุรกิจอาหาร ซึ่งจากการรุกตลาดพืชกระท่อมครั้งนี้เชื่อว่าในปี 2565 บริษัทจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50%” นายแดนกล่าว

นายจุลภาส กล่าวเสริมว่า พืชกระท่อมถือเป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นการต่อยอดเสริมไปสู่กลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ เช่น หากเข้าไปเสริมในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง เพียงแค่ 25% ก็มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทแล้ว แต่หากคิดเฉพาะต้นน้ำจริงๆ ปัจจุบันเรารับซื้อใบกระท่อมที่กิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งเรามีอยู่แล้ว 150 ตัน และหลังจากปลดล็อกพืชกระท่อมไปแล้ว เชื่อว่าในปี 2565 คาดว่าจะมีพืชใบกระท่อมไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยทาง GTH พร้อมรับซื้ออย่างต่อเนื่อง และพร้อมเป็นตัวแทนจากพันธมิตรในการส่งออกสินค้าที่ผลิตจากใบกระท่อมไปยังสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เนื่องจากมีช่องทางจำหน่ายอยู่แล้วในสหรัฐอเมริกา

ตำนาน เรื่องเล่า ความเชื่อ

อีกบทบาทหนึ่งของพืชกระท่อมคือ การใช้บนบานศาลกล่าวเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเล่าว่า หากของมีค่าหายหรือหาไม่พบ เขาจะจุดธูปเทียนบนบานกับเจ้าที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพนับถือ เพื่อช่วยในสิ่งที่เขาขอให้ประสบความสำเร็จ หากสำเร็จใบกระท่อมจะถูกนำมาเป็น เครื่องบูชา รวมถึงประเพณีพื้นบ้านต่าง ๆ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับ นอกจากลูกหลานจะจัดเตรียมสำรับอาหารคาวหวานเครื่องดื่มต่าง ๆ ยังไม่ลืมที่จะจัดใบกระท่อมสดวางไว้ข้าง ๆ เพื่อ สักการะแด่ดวงวิญญาณอันเป็นที่เคารพรักของพวกเขา

ในทุก ๆ วันที่ตีเหล็ก ช่างตีเหล็กจะนำใบกระท่อม 3 ใบมาบูชาครูในตอนเช้าก่อนการทำงาน เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ช่างตีเหล็กในหมู่บ้านจะได้รับการยกย่องเป็นครูคนหนึ่งเพราะเป็นวิถีการผลิตที่อยู่คู่กับสังคมการเกษตร ช่างตีเหล็กในหมู่บ้านจะมีครูที่พวกเขาเคารพนับถือ เรียกว่า “หลวงช่าง” “หลวงแสง” พวกเขาต้องเข้าใจเรื่องเหล็ก เรื่องของไฟ แสงไฟบนเหล็ก น้ำหนักของการลงฆ้อนตีเหล็ก ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษที่ช่างท้งหลายให้ความเคารพ

ทุกเช้าของการทำงาน เมื่อกระท่อมถูกวางไว้บนแท่นเหล็ก ช่างตีเหล็กบูชาครู การทำงานจึงเริ่มขึ้น ของที่ไหว้ครูช่างมักไม่นำมากิน แต่ถ้าจะนำมากินก็ได้ เมื่อตีเหล็กเสร็จก็ขอ บอกกล่าวครู เรียกว่า “เดนชานของครู”

ช่างตีเหล็กจะมีพิธีไหว้ครูในช่วงเดือน 6 ของทุกปี ที่เป็นวันเปิด หรือวันข้างขึ้น 9 ค่ำ หรือ 3 ค่ำ เรียกว่าไหว้ครูใหญ่ เครื่องไหว้ครู ได้แก่ ข้าวเหนียว ขนมขาว ขนมแดง ขนมถั่ว ขนมงา ขนมพอง ขนมลา กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน หมากพลู ใบกระท่อม เป็นต้น

การนำใปใช้ในทางที่ผิด   

ปัจจุบันใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน อาจเนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น  โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก  ยากันยุง และยาแก้ไอ (4×100)[39]

ผลจากการเสพ 

พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน  ทำให้สามารถทำงานได้นานและทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น อาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทำให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม)  แต่ในบางรายเสพเพียง 3 ใบ ก็ทำให้เมาได้ ในรายที่เสพใบกระท่อมมากๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และยังพบอีกว่าเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง

อาการเมื่อหยุดเสพ

ไม่มีแรง

ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก

แขนขากระตุก

อ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้

อารมณ์ซึมเศร้า

นํ้าตาไหล นํ้ามูกไหล

ก้าวร้าว

นอนไม่หลับ

ร่างกายมีอุณหภูมิสูงผิดปกติ

ถ่ายอุจจาระเหลวมากปกติ

อยากอาหารยาก

อาเจียนคลื่นใส้

มีอาการไอมากขึ้น

กระวนกระวายมากขึ้น

อ้างอิง

  1. Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. is an accepted name . Theplantlist.org. Retrieved 2013-12-26.
  2. "Mitragyna speciosa". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2013-12-26.
  3. "Mitragyna speciosa Korth. | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ).
  4. 4.0 4.1 4.2 Rech, MA; Donahey, E; Cappiello Dziedzic, JM; Oh, L; Greenhalgh, E (February 2015). "New drugs of abuse". Pharmacotherapy. 35 (2): 189–97. doi:10.1002/phar.1522. ISSN 0277-0008. PMID 25471045. S2CID 206358469.
  5. Hassan, Z; Muzaimi, M; Navaratnam, V; Yusoff, NHM; Suhaimi, FW; Vadivelu, R; Vicknasingam, BK; Amato, D; von Hörsten, S; Ismail, NIW; Jayabalan, N; Hazim, AI; Mansor, SM; Müller, CP (2013). "From Kratom to mitragynine and its derivatives: Physiological and behavioural effects related to use, abuse, and addiction". Neurosci Biobehav Rev. 37 (2): 138–151. doi:10.1016/j.neubiorev.2012.11.012. ISSN 0149-7634. PMID 23206666. S2CID 8463133.
  6. Gottlieb, Scott (6 February 2018). "Statement from FDA Commissioner Scott Gottlieb, M.D., on the agency's scientific evidence on the presence of opioid compounds in kratom, underscoring its potential for abuse". US Food and Drug Administration. สืบค้นเมื่อ 6 February 2018.
  7. Cinosi, E; Martinotti, G; Simonato, P; Singh, D; Demetrovics, Z; Roman-Urrestarazu, A; Bersani, F. S; Vicknasingam, B; Piazzon, G; Li, J. H; Yu, W. J; Kapitány-Fövény, M; Farkas, J; Di Giannantonio, M; Corazza, O (2015). "Following "the Roots" of Kratom (Mitragyna speciosa): The Evolution of an Enhancer from a Traditional Use to Increase Work and Productivity in Southeast Asia to a Recreational Psychoactive Drug in Western Countries". BioMed Research International. 2015: 1–11. doi:10.1155/2015/968786. PMC 4657101. PMID 26640804.
  8. 8.0 8.1 Warner ML, Kaufman NC, Grundmann O (2016). "The pharmacology and toxicology of kratom: from traditional herb to drug of abuse". Int. J. Legal Med. (Review). 130 (1): 127–38. doi:10.1007/s00414-015-1279-y. PMID 26511390. S2CID 2009878.
  9. White CM (2018). "Pharmacologic and clinical assessment of kratom". Am J Health Syst Pharm (Review). 75 (5): 261–267. doi:10.2146/ajhp161035. PMID 29255059.
  10. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ fda4-3-19
  11. เต็ม สมิตินันทน์. 2557. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรมป่าไม้. หน้า 383.
  12. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ อาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา, บรรณาธิการ. 2548. พืชกระท่อมในสังคมไทย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม, กรุงเทพฯ: บางกอกบล็อก.
  13. Ajik, M., Kimjus K. 2010. Vegetative propagation of sepat (Mitragyna speciosa). Sepilok Bulletin 12:1-11.
  14. Ridsdale, C.E. (1978). A revision of Mitragyna and Uncaria (Rubiaceae). Blumea 24: 65.
  15. "กระท่อม (Kratom) – กองควบคุมวัตถุเสพติด" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-28. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
  16. Shellard,E.J.,Philipson,J.D.1966.Theopticalrotationofmitraphylline.Tetrahedron Lett. 11:1113-1115.
  17. Hemingway, S.R., Houghton, P.J., Phillipson, J.D., Shellard, E.J. 1974. 9-hydroxyrhynchophylline-type oxindole alkaloids. Phytochemistry. 14:557-563.
  18. Phillipson, J.D., Tantivatana, P., Tarpo, E., Shellard, E.J. 1973. Hirsuteine and Mitrajavine from Mitragyna hirsuta. Phytochemistry. 12:1507-2048.
  19. Houghton,P.J.,Said,I.M.,1986.3-Dehydromitragynine:analkaloidfromMitragyna speciosa. Phytochemistry. 25:2910-2912.
  20. Houghton, P.J., Latiff, A., Said, I.M., 1991. Alkaloids from Mitragyna speciosa. Phytochemistry. 30:347-350.
  21. Ponglux, D., Wongseripipatana, S., Takayama, H., Kukuchi, M., Kukihara, M., Kitayama, M., Aimi, N., Sakai, S., 1994. A new indole alkaloid, 7 alpha-hydroxy-7H-mitragynine, from Mitragyna speciosa in Thailand. Planta Med. 60:580-581.
  22. Takayama, H. 2004. Chemistry and Pharmacology of analgesic indole alkaloids from the Rubiaceous plant, Mitragyna speciosa. Chem Pharm Bull. 52:916-928.
  23. Hinou, J., Harvala, C. 1988. Polyphenolic compounds from the leaves of Mitragyna speciosa. Fitoterapia. 59:156.
  24. Shellard,E.J.,Houghton,P.J.,Resha,M.1978b.TheMitragynaspeciesofAsiaPart XXXII. The distribution of alkaloids in young plants of Mitragyna speciosa Korth. grow from seed obtained from Thailand. Planta Med. 34:253-263.
  25. Shellard,E.J.,Houghton,P.J.,Resha,M.1978a.TheMitragynaspeciesofAsiaPart XXXI. The alkaloids of Mitragyna speciosa Korth. from Thailand. Planta Med. 34:26-36.
  26. Houghton, P.J., Shellard, E.J. 1974. The alkaloidal pattern in Mitragyna rotundifolia from Burma. Planta med. 26:104-112.
  27. Reanmongkol, W., Keawpradub, N., Sawangjaroen, K. 2007. Effects of the extracts from Mitragyna speciosa Korth. leaves on analgesic and behavioral activities in experimental animals. Songklanakarin J Sci Technol. 29:39-48.
  28. Sabetghadam, A., Navaratnam, V., Mansor, S.M. 2013. Dose–response relationship, acute toxicity, and therapeutic index between the alkaloid extract of Mitragyna speciosa and its main active compound mitragynine in mice. Drug Dev Res. 74: 23–30.
  29. Kamal, M.S.A., Ghazali, A.R., Yahya, N.A., Wasiman, M.J., Ismail, Z. 2012. Acute toxicity study of standardized M. speciosa Korth aqueous extract in Sprague Dawley rats. JPS. 1:120–128.
  30. Grewal, K.S. 1932. Observation on the pharmacology of mitragynine. J Pharmacol Exp Ther. 46:251–271.
  31. Singh, D., Müller, C.P., Murugaiyah, V., Hamid, S.B.S., Vicknasingam, B.K., Avery, B., Chear, N.J.Y., Mansor. S.M. 2018. Evaluating the hematological and clinical-chemistry parameters of kratom (Mitragyna speciosa) users in Malaysia. J Ethnopharmacol. 214:197-206.
  32. https://www.arda.or.th/knowledge_detail.php?id=55
  33. สมาคมเภสัชกรรมไทยโบราณแห่งประเทศไทย. คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 3 รวบรวมโดย ขุนโสภิต บรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) วัดสามพระยา เขตพระนคร.
  34. สมาคมเภสัชกรรมไทยโบราณแห่งประเทศไทย. คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 1 รวบรวมโดย ขุนโสภิต บรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) วัดสามพระยา เขตพระนคร.
  35. พระธาตรี อุปฺปลวณฺโณ. 2557. ประมวลตำรายาอโรคยาศาลวัดป่ากุดฉนวนอุดมพร ฉบับ สงวนเก็บรักษาฯ. อโรคยาศาล วัดป่ากุดฉนวนอุดมพร อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ. พิมพ์ที่ บริษัท ริช แอนด์ ซีมลี จำกัด
  36. ศุภชัย ติยวรนันท์ และชยันต์ พิเชียรสุนทร.2558.ประมวลตำรับยาวัดราชโอรสารามฉบับรวม ศิลาจารึก 5 แผ่น ที่ทำแทนแผ่นที่สูญหาย. พิพิธภัณฑ์เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  37. https://www.ditp.go.th/contents_attach/757180/757180.pdf
  38. https://mgronline.com/business/detail/9640000083949
  39. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-28. สืบค้นเมื่อ 2022-02-28.
Kembali kehalaman sebelumnya