Share to:

 

การจัดประมวล

ในทางภาษาศาสตร์ การจัดประมวล (อังกฤษ: codification) คือกระบวนการคัดเลือก พัฒนา และวาง (กำหนด) ต้นแบบสำหรับการใช้ภาษามาตรฐาน[1]

การจัดประมวลภาษาหนึ่ง ๆ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณีและขึ้นอยู่กับลำดับขั้นของการกำหนดมาตรฐานที่อาจเกิดขึ้นแล้วตามธรรมชาติ โดยทั่วไปการจัดประมวลหมายถึงการพัฒนาระบบการเขียน ตั้งหลักเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานสำหรับไวยากรณ์ อักขรวิธี การออกเสียง และการใช้ศัพท์ ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราไวยากรณ์ พจนานุกรม และหลักปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน ในกรณีที่มีรูปแปรหลายรูปสำหรับลักษณะหนึ่ง ๆ (เช่น ตัวสะกดที่แตกต่างกันของคำเดียวกัน) จะต้องมีการตัดสินใจว่ารูปแปรใดจะเป็นรูปมาตรฐาน

ในบางประเทศ การจัดประมวลดังกล่าวกระทำโดยหน่วยงานที่รัฐเป็นผู้จัดตั้ง เช่น บัณฑิตยสถานฝรั่งเศส การจัดประมวลมักเกิดขึ้นเนื่องจากการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงค่านิยม หรืออิทธิพลทางวัฒนธรรมอื่น ๆ หลังกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคมให้มีเอกราช รัฐหลายรัฐในแอฟริกาต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะรักษาภาษาเจ้าอาณานิคมไว้หรือจะเลือกภาษาพื้นเมืองภาษาหนึ่ง (หรือมากกว่าหนึ่ง) ขึ้นมาเป็นภาษาทางการ ซึ่งทำให้การวางแผนภาษากลายเป็นสิ่งจำเป็น

ในตัวแบบการวางแผนภาษาที่เป็นที่รู้จักกันดีของเอนาร์ เฮาเกิน นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน การจัดประมวลเป็นเพียงขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนที่หนึ่งคือกระบวนการคัดเลือก ขั้นตอนที่สามคือการนำสิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไปปฏิบัติในสังคม และขั้นตอนที่สี่คือการจัดทำคำอธิบายคำศัพท์อย่างละเอียด (โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะสาขาวิชา)[2] กระบวนการวางแผนภาษามีสองระดับใหญ่ ๆ ได้แก่ การวางแผนชุดข้อมูลและการวางแผนสถานะ การจัดประมวลเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชุดข้อมูลเนื่องจากมีการวางแผน "เนื้อความ" ของภาษา ไม่ใช่การวางแผนสถานะซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสริมระดับเกียรติภูมิและการใช้ตามหลักภาษา:[3]

  • การวางแผนชุดข้อมูล: การจัดประมวลภาษา (ขั้นตอนที่ 2); การจัดทำคำอธิบายองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาษา เพื่อตอบสนองความต้องการด้านภาษา (ขั้นตอนที่ 4)
  • การวางแผนสถานะ: การเลือกภาษา (ขั้นตอนที่ 1); การนำองค์ประกอบต่าง ๆ ไปใช้โดยการเผยแพร่ภาษา (ขั้นตอนที่ 3)

การจัดประมวลจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับของประชากร รวมทั้งรูปแบบการดำเนินการของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมเกียรติภูมิ การเผยแพร่ หรือการสอนบรรทัดฐานที่ผ่านการประมวลแล้วในสถานศึกษาและหลักสูตรภาษา เป็นต้น

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Sutarma, I Gusti Putu; Sadia, I Ketut (2013). Penggunaan bahasa Indonesia di industri pariwisata: studi kasus perencanaan bahasa pada industri pariwisata Bali. Soshum: Jurnal Sosial dan Humaniora (ภาษาอินโดนีเซีย). Vol. 3. p. 124. ISSN 2580-5622.
  2. http://ofeliagarciadotorg.files.wordpress.com/2011/02/planning-spanish.pdf
  3. Holmes 2001, p. 102
Kembali kehalaman sebelumnya