Share to:

 

การปฏิวัติเดือนเมษายน

การปฏิวัติเดือนเมษายนในเกาหลีใต้

การปฏิวัติของนักศึกษาเกาหลีใต้ 19 เมษายน (April Nineteenth Student Rovolution) เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาหัวรุนแรงประท้วงผลการเลือกตั้งในกรุงโซลและเมืองอื่นๆ ในระหว่างวันที่ 18 – 26 เมษายน พ.ศ. 2503 ทำให้การครองอำนาจของประธานาธิบดีอี ซึง-มันสิ้นลุดลง

ความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีอึ ซึง-มันในหมู่นักศึกษาเกิดจากการที่รัฐบาลปกครองประเทศอย่างกดขี่ มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความไม่สงบได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2503 ประธานาธิบดีรี ชิงมันจากพรรคเสรีนิยมไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่สามารถผลักดันยี กีปุงให้เป็นรองประธานาธิบดี ทำให้มีการใช้กลโกงต่างๆในการเลือกตั้ง โดยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ได้มีการปะทะระหว่างนักศึกษากับตำรวจที่บุกขึ้นไปยังห้องเรียนของนักศึกษา ในวันเลือกตั้งได้ประชาชนออกมาประท้วงมากมาย ทำให้มีการปราบปรามอย่างนองเลือด

ในวันที่ 11 เมษายน มีผู้พบศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เสียชีวิตด้วยระเบิดแก๊สน้ำตา ทำให้ชาวเมืองมาซานเกิดความเคียดแค้น การจับตำรวจมาโบยตีเพื่อระบายความแค้น เมื่อข่าวนี้ไปถึงโซล มีนักศึกษาในโซลออกมาประท้วงรัฐบาล 3,000 คน เมื่อ 18 เมษายน แต่เมื่อนักศึกษากลับบ้านหลังการประท้วงกลับถูกทุบตี ลอบทำร้ายจนบาดเจ็บ ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น คือ 19 เมษายน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆในโซลต่างออกมาเดินขบวนประท้วง รวมทั้งนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา ระหว่างที่นักศึกษาพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางเพื่อเข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดี ได้มีการยิงแก๊สน้ำตาและยิงปืนเข้าใส่นักศึกษาจนมีผู้เสียชีวิต ทำให้การประท้วงเต็มไปด้วยความรุนแรง มีการเผาสถานที่ราชการต่างๆ รัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึก และนำทหารออกมาปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน บาดเจ็บราว 1,000 คน

ในวันที่ 25 เมษายน คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ยื่นหนังสือขอให้ประธานาธิบดีรี ชิงมันลาออก[1] ในวันที่ 26 เมษายน การประท้วงรุนแรงขึ้นอีก ข้าราชการที่ใกล้ชิดและสถานทูตสหรัฐก็ร่วมกดดันให้อึ ซึง-มันลาออก เขาจึงลาออกในวันที่ 27 เมษายน และลี้ภัยไปฮาวาย ส่วนยี กีปุงพร้อมภรรยาและบุตรชายได้ทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 28 เมษายน[2] การประท้วงจึงสิ้นสุดลง หลังจากนั้น โฮ ชองอดีตนายกรัฐมนตรีได้เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราว และจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง และยุน โบ-ซ็อนได้เป็นประธานาธิบดี

อ้างอิง

  • เพ็ชรี สุมิตร. การปฏิวัติของนักศึกษา (เกาหลีใต้) 19 เมษายน ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 229 - 231
  1. Kim, C. I. Eugene, and Ke-soo Kim (1964). "The April 1960 Korean Student Movement", The Western Political Quarterly, 17(1).
  2. Tennant, Roger (1996). "A History of Korea", Kegan Paul International London and New York
Kembali kehalaman sebelumnya