Share to:

 

การประกันภัย

การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้

การประกัน (Insurance) คือการบริหารจัดการความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง โดยมีองค์ประกอบสามส่วน

  • ผู้รับประกัน (Insurer)
  • ผู้เอาประกัน (Insured) หรือผู้ถือกรมธรรม์ (Policy Holder)
  • ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary)

การประกันจักต้องผ่านกระบวนการพิจารณารับประกัน (Underwriting) เพื่อผู้รับประกันจักประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าของ บุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สิน นั้นๆ พร้อมกำหนด รายละเอียดความคุ้มครอง และค่าเบี้ยประกัน ผู้รับประกันอาจรับประกัน โดยแบ่งความเสี่ยงมาส่วนหนึ่ง หรือ ปฏิเสธ หากความเสี่ยงนั้นไม่อาจรับได้ หรือ ผู้รับประกันอาจรับประกันโดยเพิ่มอัตราเบี้ยพิเศษ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การทำประกัน เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคู่สัญญาต่างมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบต่อกัน ผู้รับประกันจักต้องคุ้มครองผู้เอาประกันตามรายละเอียดในสัญญาเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยชดเชยตามรายละเอียดความคุ้มครอง ผู้เอาประกันก็มีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันตามที่ระบุในสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การทำประกันจุดประสงค์แท้จริงเพื่อแบ่งเบาความเสี่ยง จากบุคคล, กลุ่มบุคคล หรือ ทรัพย์สินนั้น ๆ ออกเป็นส่วนโดยร่วมกันชดเชยเมื่อมีความสูญเสีย เสียหายเกิดขึ้น โดยยึดหลักสุจริตเป็นสำคัญ และการทำประกันมิใช่สัญญาเพื่อค้ากำไร

ความเป็นมาของการประกันภัย

มีเรื่องปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เล่ากันว่า คืนวันหนึ่ง ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่า มีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้ง ประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี ดังนั้น จึงทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้

ในประเทศจีน ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล พ่อค้าชาวจีนได้พัฒนาวิธีการประกันภัยขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าตามลำน้ำแยงซี ซึ่งมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก และเรื่อบรรทุกสินค้ามักอับปางลงอยู่เสมอ เนื่องจากมีหินใต้น้ำและเกาะแก่งที่คดเคี้นว ซึ่งเป็นอันตรายตาอการเดินเรือ มีปรากฏอยู่เสมอว่าพ่อค้าบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะสินค้าได้รับความเสียหายหมด ดังนั้น ด้วยความกลัว พ่อค้าเหล่านั้นจึงหาวิธีการกระจายความเสี่ยงภัยออกไป โดยนำสินค้าของตนบรรทุกไว้ในเรือลำอื่นหลายลำ เฉลี่ยกันไปจนครบหีบห่อสินค้า ซึ่งถ้าเรือลำใดลำหนึ่งจมลง ก็หมายความว่า สินค้าของพ่อค้าแต่ละคนสูญเสียเพียงคนละ 1 หีบห่อเท่านั้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นที่มาของการประกันภัยในปัจจุบัน ราวก่อนศตวรรษที่ 13 และปรากฏว่ามีการประกันภัยทางทะเลกันอย่างแพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน สัญญาการประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกเท่าที่มีปรากฎเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้ คือ แบบลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี

ส่วนสัญญาประกันภัยฉบับแรกของอังกฤษ เท่าที่ปรากฏตามหลักฐานซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ถึงปัจจุบัน คือ "Broke Sea Insurance Policy" ปี ค.ศ. 1547 วิธีทำประกันภัยสมัยนั้นคือเจ้าของเรือ หรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อประกันภัย จะทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะบรรทุกลงเรือ ใต้รายการเหล่านี้ นายธนาคารหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะรับประกันภัยจะลงชื่อพร้อมกับระบุจำนวนเงินที่ตนจะรับเสี่ยงแล้วลงลายมือชื่อไว้ (และนี่คือที่มาของคำว่า Underwriter) และเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้ลงนามข้างใต้ (Underwriter) แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทน เรียกว่า เบี้ยประกันภัย

ในช่วงเวลานั้น สัญญาประกันภัยส่วนมากเป็น สัญญาประกันภัยทางทะเล ต่อมาก็ขยายออกไปคุ้มครองถึงการเสียชีวิตของนายเรือและลูกเรือ รวมทั้งพ่อค้าที่คุมสินค้าไปกับเรือ ตลอดจนคุ้มครองจำนวนเงินที่จะเป็นค่าไถ่ตัวเมื่อถูกโจรสลัดจับตัวด้วย

ส่วนกรมธรรม์ ประกันชีวิตดังที่เรารู้จักกันในขณะนี้ มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1583

จุดเริ่มต้นของบริษัทประกันภัย

บริษัทที่รับประกันอัคคีภัยในรูปแบบสมัยใหม่ มีจุดกำเนิดจากการเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในนครลอนดอนในราวเดือนกันยายน ค.ศ. 1666 เพลิงไหม้ครั้งนั้นทำให้อาคารบ้านเรือนเกือบสามในสี่ของนครลอนดอนต้องพินาศลง

จากเหตุไฟไหม้ข้างต้น ในปีถัดมา ดร.นิโคลาส บาร์บอน รับหุ้นส่วนเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งแต่เดิมตนเป็นผู้รับภาระอยู่คนเดียว สามปีต่อมาคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งชื่อ "The Friendly" ทั้งสองแห่งนี้ออกกรมธรรม์รับประกันอัคคีภัย และจัดพนักงานดับเพลิงไว้สำหรับผจญเพลิงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้

สำนักงานที่รับประกันอัคคีภัยในสมัยนั้น ไม่อาจเรียกว่าเป็น "บริษัท" ในความหมายของบริษัทรับประกันภัยในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากได้ เพราะในสมัยนั้นสำนักงานที่รับประกันภัยเป็นธุรกิจของรายบุคคลหรือหุ้นส่วนกลุ่มน้อย ซึ่งจำกัดการรับประกันภัยเฉพาะอาคารที่อยู่อาศัยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1710 มีการจัดตั้งบริษัทรับประกันอัคคีภัยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ The Sun Insurance Office of London ซึ่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันในชื่อของ Royal & Sun Insurance Plc.

ในเวลาเดียวกันการประกันภัยทางทะเลและการประกันชีวิตก็เข้าสู้ระยะของการเติบโตอย่างรวดเร็วก่อนปี ค.ศ. 1699 ธุรกิจประกันภัยส่วนใหญ่มักใช้ร้านกาแฟในนครลอนดอนเป็นที่ติดต่อธุรกิจกัน ร้านกาแฟกลายเป็นสถานทีที่คนนิยมไปพบปะกันเพื่อกระจายหรือรับข่าวสารประจำวัน

หนึ่งในจำนวนร้านกาแฟเหล่านี้ เป็นของ Mr. Edward Lloyd ตั้งอยู่บนถนนลอมบาร์ค ที่ร้านนี้เป็น สถานที่ที่พ่อค้า นักธุรกิจและนายเรือ ตลอดจนผู้สนใจในการประกันภัยมักจะมาพบปะพูดคุยรับฟังข่าวสารต่าง ๆ เช่นเรื่องเรือที่มาเทียบท่า เรือ ที่กำลังเดินทางมาใกล้ถึงที่หมาย เรือที่อับปาง รวมทั้งเป็นที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกันด้วย ในที่สุดก็กลายเป็นที่มาของสมาคมผู้รับประกันภัยแห่งลอยด์ หรือลอยด์แห่งลอนดอน (Lloyds of London) ซึ่งเป็นสถาบันประกันภัยที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจวบจนทุกวันนี้

ในปี ค.ศ. 1720 บริษัทอังกฤษสองแห่ง ได้ซื้อรอยัลชาร์เตอร์ด้วยเงินจำนวนมาก เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยทางทะเล ซึ่งต่อมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในนามบริษัท ลอนดอน แอนด์ รอยัลเอกซ์เชนจ์ (London & Royal Exchange) และนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการประกอบธุรกิจการประกันภัยขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ในปีถัดมาบริษัทนี้ได้รับอนุญาตให้รับประกันชีวิตด้วย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดความต้องการในด้านการรับประกันอุบัติเหตุ และทำให้มีการก่อตั้งบริษัทรับประกันใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เครื่องจักรใหม่ ๆ ที่นำมาติดตั้งกับโรงงาน และหัวรถจักรสมัยใหม่ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมาก การประกันภัยนอกจากจะช่วยให้การคุ้มครองอุบัติเหตุเหล่านี้ในด้านการเงินแล้ว ยังงมีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยและมีส่วนช่วยในการกำหนดกฎระเบียบในการรักษาความปลอดภัยด้วย

ก่อนปี ค.ศ. 1880 เมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บในขณะปฏิบัติงาน นายจ้างมักมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายทำให้พ้นผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้าง แต่ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความรับผิดของนายจ้างในปี ค.ศ. 1880 (Employer's Liability Act 1880) บรรดาข้อต่อสู้ทางกฎหมายเหล่านั้น ก็ถูกลบล้างออกไปโดยกฎหมายฉบับนี้ ยังผลให้เกิดความต้องการประกันภัย "ความรับผิดชอบของนายจ้าง" ขึ้น และในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ลูกจ้างก็ยิ่งได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินทดแทนแรงงาน (Workers' Compensation Act)

รูปแบบการประกันภัย

แบบประกันมาตรฐาน แบ่งออกเป็นสองสายหลัก

การประกันชีวิต (Life Insurance)
การประกันชีวิต หมายรวมถึง การประกันต่อความสูญเสีย เสียหายอันจะเกิดแก่บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล โดยสัญญาจักชดเชยเมื่อมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ (Accident and dismemberment), การประกันกรณีทุพพลภาพ (Total Disability) , หรือ การประกันสุขภาพ (Health Insurance) โดยการประกันชีวิตนั้นจะอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)[1] ประกันชีวิต พ.ศ. 2535
การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
การประกันวินาศภัยแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือการประกันอัคคีภัย (Fire Insurance), การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance), การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance), และ การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous/Casualty Insurance) สำหรับการประกันวินาศภัยนั้นจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

ประเภทของการประกันภัย

หลักวิชาของการประกันภัย ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท[2] โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องของการประกันบุคคล ทรัพย์สิน และ การรับผิดตามกฎหมาย

1 การประกันภัยบุคคล (Insurance of the person)

คือการประกันจากภัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวบุคคล ถูกแบ่งออกเป็นประกันชีวิต อุบัติเหตุ และ ประกันสุขภาพ

1.1 การประกันชีวิต

  • ประเภทสามัญ (Ordinary Life Insurance) สำหรับการประกันชีวิตแบบรายบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงและคุ้มครองในการสูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตรวมถึงเป็นการออมทรัพย์ โดยมีการกำหนดเบี้ยประกันแบบยืดหยุ่นรายเดือน รายครึ่งปี ราย 3 เดือน หรือ รายปี และประกันลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ
  • ประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance) แตกต่างจากประเภทสามัญในเรื่องของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต่ำกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง และมีการชำระค่าเบี้ยประกันเป็นรายเดือนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้เอาประกัน การประกันรูปแบบนี้ อาจมีเงื่อนไขกำหนดระยะเวลารอคอย (Waiting Period) มาตรฐานที่ 180 วัน ซึ่งหากผู้เอาประกันเสียชีวิตในระยะเวลาดังกล่าว บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยได้
  • ประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance) เรียกอีกอย่างว่าการประกันชีวิตประเภทหมู่ เป็นการรวมบุคคลหลายคนเข้าอยู่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียว โดยที่เบี้ยประกันจะถูกเฉลี่ยตามจำนวนผู้เอาประกันภัย มักพบมากในการทำประกันในรูปแบบพนักงานบริษัท องค์กร โดยมีจุดประสงค์ในการคุ้มครองความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ อันเนื่องมาจากการทำงานหรือไม่ก็ตาม

1.2 การประกันอุบัติเหตุ

  • ส่วนบุคคล (Personal Accident) ใช้คำย่อว่า PA คือการทำประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะสำหรับบุคคลเท่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงบุคคลในครอบครัวได้
  • แบบกลุ่ม คล้ายกันกับการประกันชีวิต ซึ่งเป็นการทำประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่ม สำหรับการให้สวัสดิการแก่พนักงานในองค์กร
  • สำหรับนักเรียน เป็นประกันอุบัติเหตุสำหรับสถานศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือองค์กรการศึกษา เพื่อให้ความคุ้มครองกับนักเรียน

1.3 การประกันสุขภาพ

การประกันสุขภาพคือการที่บริษัทประกันภัย สามารถชดเชยค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันตามกรมธรรม์ ซึ่งการชดเชยนั้นสามารถเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรค หรือแม้แต่การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้

ความคุ้มครองของการประกันสุขภาพถูกแบ่งออกเป็น สำหรับผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆตามเอกสารแนบท้าย ยกตัวอย่างเช่น การคลอดบุตร การรักษาสุขภาพฟัน การดูแลโดยพยาบาลแบบพิเศษ และการรักษาการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • การประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล (การประกันภัยสุขภาพเฉพาะบุคคลเดียว)
  • การประกันภัยสุขภาพกลุ่ม (สำหรับกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป)

2 การประกันทรัพย์สิน (Property Insurance)

เป็นการประกันภัยต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สิน ซึ่งทางบริษัทประกันจะชดเชยค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัย โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้ทำประกันไว้ โดยประกันในหมวดนี้มีเกี่ยวเนื่องกับ 4 หมวดด้วยกัน

2.1 ประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)

หนึ่งในการประกันวินาศภัย โดยให้ความคุ้มครองที่ต้อง ระบุภัย (Named Peril[3]) โดยทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันได้เช่น บ้านที่อยู่อาศัย อาคาร ร้านค้า โรงแรม โรงเรียน รวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารเช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องจักร สต็อกสินค้า

2.2 ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (Marine Insurance)

การประกันภัยที่คุ้มครองความสูญเสีย และ/หรือ ความเสียหายต่อยานพาหนะประเภทเรือ และ สิ่งของที่อยู่บนเรือ โดยจะรับประกันระหว่างการขนส่ง ไม่ใช่แค่เพียงการขนส่งสินค้าทางเรือเท่านั้น ประกันภัยทางทะเลและขนส่งรวมถึง การขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางบก และทางรถไฟ สามารถแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะ

  • การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) ซึ่งรวมถึงตัวเรือ และ เครื่องจักรในเรือ
  • การประกันภัยขนส่งสินค้า (Cargo Insurance) ทั้งแบบภายในประเทศ และ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

สำหรับความคุ้มครองของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งนั้นรวมถึง ภัยทางทะเลตามธรรมชาติ อัคคีภัย การทิ้งทะเล โจรกรรม การกระทำโดยทุจริตของคนบนเรือ และ ภัยอื่นๆ

อีกหนึ่งในประกันวินาศภัย โดยคุ้มครองตัวผู้เอาประกันภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากรถยนต์ เมื่อเกิดความเสียหาย หรือ สูญเสียชีวิต รวมถึงอาการบาดเจ็บ โดยประกันประเภทนี้ประกอบด้วย

  1. ความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์
  2. ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมถึงบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น อันเนื่องมาจากรถยนต์
ประเภทของการประกันรถยนต์
  • ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) อีกชื่อหนึ่งคือ ประกันภัย พ.ร.บ. ประกันภัยประเภทนี้ถูกบังคับโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535[4] โดยที่รถยนต์ทุกประเภทต้องมีประกันภัยลักษณะนี้
  • ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance) เป็นประกันภัยที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง บริษัทประกันภัย และ ผู้ซื้อ หรือเจ้าของรถยนต์ โดยไม่ใช่ภาคบังคับ ซึ่งบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบความเสียหายส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบจาก ประกันภัย พ.ร.บ.

2.4 ประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)

หนึ่งในประกันวินาศภัย โดยให้ความคุ้มครองต่อความสูญเสีย และความเสียหาย ที่มาจากภัยอื่นๆ นอกเหนือจากการทำประกันรูปแบบอื่น โดยขอบเขตของประกันภัยประเภทนี้ค่อนข้างกว้างขวาง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวด

  1. ความคุ้มครองเกี่ยวกับตัวบุคคล เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance)
  2. ความคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ประกันภัยเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ
  3. ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก
  4. ความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยอื่นๆ เช่น ประกันภัยพืชผล ปศุสัตว์ อิสรภาพ

3. การประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดตามกฎหมาย (Liability Insurance)

เป็นการประกันภัยที่เกี่ยวเนื่องด้วยการกระทำของบุคคล ของผู้เอาประกันภัย โดยอาจเป็นผลจากความประมาท ของบุคคลรอบข้าง ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือ ทรัพย์สินเสียหาย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

  1. การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance)
  2. การประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance)
  3. การประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ (Professional Liability Insurance)

ดูเพิ่ม

  1. "พ.ร.บ. รถยนต์ คุ้มครองอะไรบ้าง หากหมดอายุ ต่ออายุต้องทำอย่างไร". เพื่อนแท้เงินด่วน. 2023-05-17.
  2. "ประเภทของการประกันภัย". สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย.
  3. TGIA. "การประกันอัคคีภัยและทรัพย์สินคืออะไร?". www.tgia.org (ภาษาอังกฤษ).
  4. "ระบบสืบค้นกฎหมายประกันภัย E-Law Library : สมาคมประกันวินาศภัย". www2.tgia.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-21. สืบค้นเมื่อ 2021-03-03.
Kembali kehalaman sebelumnya