การลงประชามติเอกราชกาตาลุญญา พ.ศ. 2560
สภาบริหารแคว้นปกครองตนเองกาตาลุญญาในประเทศสเปนพยายามจะจัดการลงประชามติว่าด้วยเอกราชของกาตาลุญญาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560[2] ตามที่มีการเสนอเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 สภานิติบัญญัติของแคว้นได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายการลงประชามติดังกล่าวในสมัยการประชุมสมัยหนึ่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 พร้อมกับกฎหมายที่ระบุว่าเอกราชจะมีผลผูกพันกับคะแนนเสียงข้างมากปรกติ โดยไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง[3] บรรดากลุ่มและพรรคฝ่ายค้านในสภานิติบัญญัติของแคว้นปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในสมัยการประชุมดังกล่าวและเรียกร้องให้สมาชิกของตนคว่ำบาตรการออกเสียงในญัตตินี้ ยกเว้นกลุ่ม "กาตาลุญญา ใช่ เป็นไปได้" (Catalunya Sí que es Pot) ที่งดออกเสียงแต่สนับสนุนการลงประชามติแม้จะมองว่าไม่มีผลผูกพันก็ตาม[4] กฎหมายลงประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยธรรมนูญการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญาซึ่งกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากสองในสามในสภานิติบัญญัติของแคว้นสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสถานะของกาตาลุญญา[5] ส่วนการลงประชามติเองก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญสเปนเช่นกัน[6] ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญสเปนมีมติยับยั้งการลงประชามติตามที่สำนักงานอัยการของรัฐได้ร้องขอไป[7] แต่ฝ่ายบริหารของแคว้นกาตาลุญญากล่าวว่าคำสั่งศาลไม่มีผลกับกาตาลุญญา และดำเนินการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากเทศบาล 750 แห่ง[8] จากทั้งหมด 948 แห่งในแคว้น[9][10][11] รวมทั้งได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากเทศบาลนครบาร์เซโลนา[12] เหตุการณ์เหล่านี้นำไปสู่วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญสเปนและส่งผลให้มีปฏิบัติการของตำรวจเพื่อหยุดยั้งการลงประชามติ รัฐบาลสเปนคัดค้านการลงประชามติใด ๆ ที่ว่าด้วยการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของกาตาลุญญา[13][14] โดยยืนกรานว่ารัฐธรรมนูญสเปนไม่อนุญาตให้จัดการออกเสียงลงคะแนนว่าด้วยเอกราชไม่ว่าในภูมิภาคใด ๆ ก็ตามในประเทศ และถือว่าการจัดให้มีประชามติเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหากปราศจากความยินยอมของรัฐบาล[15][16] ซึ่งเป็นการตีความที่คณะกรรมการประกันบทกฎหมายแห่งกาตาลุญญาเห็นชอบเช่นกัน[17] ถึงกระนั้น ฝ่ายบริหารของแคว้นกาตาลุญญาก็ยืนยันว่าการออกเสียงจะยังคงมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม[2] โดยอ้างสิทธิ์ในการกำหนดสถานะการปกครองด้วยตนเอง จนถึงขณะนี้ฝ่ายบริหารของแคว้นได้พยายามหาเสียงสนับสนุนจากนานาชาติแต่ยังไม่สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาประเทศหุ้นส่วนของสเปนในยุโรปถือว่าสถานะของกาตาลุญญาเป็นเรื่องภายในของสเปนอย่างเคร่งครัด[18] ฝ่ายบริหารของแคว้นกาตาลุญญาได้ตั้งเป้าหมายที่จะขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมายในนามของรัฐบาลสเปนด้วยการผลักดันกฎหมายการลงประชามติผ่านคะแนนเสียงข้างมากปรกติ (ซึ่งไม่คำนึงถึงสัดส่วน) ในสภานิติบัญญัติของแคว้นเมื่อเดือนกันยายน[18] โดยประกาศว่าจะปฏิบัติตามความถูกต้องตามกฎหมายของ "กาตาลุญญาเท่านั้น" (ต่างกับความถูกต้องตามกฎหมายของสเปนโดยทั่วไป) โซรายา ซาเอนซ์ เด ซานตามาริอา รองนายกรัฐมนตรีสเปน ได้เตือนฝ่ายบริหารของแคว้นล่วงหน้าแล้วว่ารัฐบาลสเปนจะยับยั้งกฎหมายการลงประชามติทันทีที่กฎหมายดังกล่าวผ่านสภานิติบัญญัติของแคว้น[18] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ การลงประชามติเอกราชกาตาลุญญา พ.ศ. 2560
|