Share to:

 

กำเนิดวีนัส (บอตติเชลลี)

กำเนิดวีนัส
ศิลปินซานโดร บอตติเชลลี
ปีค.ศ. 1482 - 1486
ประเภทสีฝุ่นบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์อุฟฟิซิ ฟลอเร็นซ์

กำเนิดวีนัส (อังกฤษ: The Birth of Venus) เป็นจิตรกรรมที่เขียนโดยซานโดร บอตติเชลลี[1]จิตรกรสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ, ฟลอเร็นซ์ในประเทศอิตาลี

ซานโดร บอตติเชลลีเขียนภาพ “กำเนิดวีนัส” ระหว่างปี ค.ศ. 1484 ถึงปี ค.ศ. 1486 ที่เป็นภาพของวีนัสลอยมาเกยฝั่งอย่างผู้หญิงเต็มตัว

ที่มา

ภาพใหญ่เช่นภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ” อาจจะเขียนสำหรับวิลลาดิคาสเตลโลของลอเร็นโซ ดิ เปียร์ฟรานเชสโค เดอ เมดิชิ (Lorenzo di Pierfrancesco de' Medici) ราวปี ค.ศ. 1482 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นก็ได้ นักวิชาการบางคนเสนอว่า “วีนัส” ที่เขียนให้ลอเร็นโซและที่กล่าวถึงโดยจอร์โจ วาซารีอาจจะเป็นงานคนละชิ้นกับชิ้นนี้ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อฉลองความรักของจุยเลียโน ดิ เปียโร เดอ เมดิชิ (Giuliano di Piero de' Medici) (ผู้ที่เสียชีวิตในกรณีการคบคิดพัซซิในปี ค.ศ. 1478) ต่อซิโมเน็ตตา คัตตาเนโอ เวสปุชชิ (Simonetta Cattaneo Vespucci) ผู้ที่พำนักอยู่ที่เมืองพอร์โตเวเนเร ที่ติดทะเลและเป็นเมืองที่ตำนานว่าเป็นที่เกิดของวีนัส เชื่อกันว่าบอตติเชลลีเองก็หลงรักซิโมเน็ตตาคนสวยผู้เป็นภรรยาน้อยของเดอ เมดิชิ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเขียนภาพนี้ก็ตาม ภาพก็ยังมีความคล้ายคลึงที่เห็นได้ชัดกับมหากาพย์ “มหากาพย์เมตะมอร์ฟอร์ซิส” และ “Fasti” โดยโอวิด และ “Verses” โดย โพลิเซียโน นอกจากนั้นก็ยังเชื่อกันว่าซิโมเน็ตตาเป็นนางแบบของวีนัสและของสตรีในภาพอื่นๆ ที่บอตติเชลลีเขียนเช่นภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ”

งานจิตรกรรมฝาผนังที่ปอมเปอี

เทพีวีนัสลอยมาจากทะเลมาเกยฝั่งบนหอยที่ถูกเป่ามาโดยเซไฟรัส (Zephyrus) ผู้เป็นเทพแห่งลมตะวันตกและเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่ โดยมีเทพีองค์หนึ่งของเทพีโฮแร (Horae) ซึ่งเป็นเทพีแห่งฤดูมารออยู่และยื่นมอบเสื้อคลุมลายดอกไม้ให้

บรรยากาศของภาพที่ออกไปทางที่ไม่ใช่ศิลปะคริสต์ศาสนาอย่างเช่นภาพส่วนใหญ่ที่เขียนในยุคเดียวกัน เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจที่ภาพเขียนไม่ถูกทำลายในกองไฟของจิโรลาโม ซาโวนาโรลา (Girolamo Savonarola) ที่งานของบอตติเชลลีหลายชิ้นที่เห็นว่าเป็นงานนอกรีตนอกรอยถูกทำลายไป แต่อาจจะเป็นเพราะบอตติเชลลีมีความสนิทกับลอเร็นโซ เดอ เมดิชิซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยทำให้งานชิ้นนี้รอดมาได้

ลักษณะร่างกายของวีนัสและรายละเอียดรองไม่ได้สัดส่วนตามธรรมชาติตามทฤษฎีของสัจจะนิยมของเลโอนาร์โด ดา วินชี หรือราฟาเอล ที่เห็นได้ชัดคือคอที่สูงยาวของวีนัสและไหล่ซ้ายที่ลู่ซึ่งดูไม่ถูกส่วน บางคนก็สันนิษฐานเป็นลักษณะที่มาก่อนสมัยแมนเนอริสม์

แรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิก

งานเขียนนี้เป็นหนึ่งในภาพชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำบรรบายของนักประวัติศาสตร์อัสซีเรียนลูเซียนในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ของงานเขียนกรีกโบราณชิ้นเอกซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว นอกจากนั้นบอตติเชลลีก็ยังใช้ภาพเขียนโบราณ “วีนัสอนาดีโอเมเน” (Venus Anadyomene) โดย อเพลเลส (Apelles) เป็นแบบ ซึ่งคำว่า “Anadyomene” หมายถึงขึ้นมาจากทะเลซึ่งบอตติเชลลีนำมาใช้เป็น “กำเนิดวีนัส” ซึ่งเป็นชื่อที่มารู้จักกันดีในคริสต์ศตวรรษที่ 19th และมีความคล้ายคลึงกับประติมากรรมอโฟรไดทีโดยแพร็กซิเทลีส

บอตติเชลลีไม่เคยเห็นจิตรกรรมฝาผนังของวีนัสที่ปอมเปอี แต่อาจจะเห็นภาพที่ลอกเลียนมาที่มีชื่อเสียงที่เขียนโดยอเพลเลสที่ลูเชียนกล่าวถึง

ในสมัยกรีกโรมันหอยเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะของสตรี

ท่าทางยืนของวีนัสของบอตติเชลลีละม้ายท่ายืนของ “วีนัสแห่งเมดิชิ” ที่เป็นประติมากรรมหินอ่อนจากสมัยกรีกโรมันของงานสะสมของตระกูลเมดิชิ ซึ่งบอตติเชลลีมีโอกาสได้ศึกษา

อ้างอิง

  1. Web Gallery of Art: Sandro Botticelli[1]

ดูเพิ่ม


Kembali kehalaman sebelumnya