ขุดคลองแลคูนาสยามบริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด (อังกฤษ: Siam Canals, Lands and Irrigation Company) เป็นบริษัทเอกชนที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2431 ในชื่อ กอมปนีขุดคลองแลคูนาสยาม เพื่อดำเนินงานขออนุญาตขุดคลองตามโครงการรังสิต ในระยะแรกมีผู้ร่วมหุ้น 4 คน คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค), นายโยคิม แกรซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี และนายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร) หรือหลวงสาทรราชายุตก์ แต่สุดท้าย เจ้าสัวยมไม่ได้เข้าร่วมงาน และได้หม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ เข้าเป็นหุ้นส่วนแทน ทั้งนี้มีนายโยคิม แกรซีเป็นผู้จัดการบริษัท บริษัทได้รับหนังสือสัญญาพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองรังสิต วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 ให้บริษัททำการขุดคลองได้เป็นเวลา 25 ปี จนรัฐบาลได้อนุญาตให้บริษัทขุดคลองสายแรกคือในปี พ.ศ. 2433[1] บริษัทได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ในรูปของกรรมสิทธิ์ที่ดินสองฝั่งคลองที่ขุด ตลอดทั้งลำคลอง หากคลองกว้าง 8 วา บริษัทจะได้ที่ดิน ยื่นเข้าไปฝั่งละ 40 เส้น คลองกว้าง 6 วา บริษัทจะได้ที่ดินยื่นเข้าไปฝั่งละ 30 เส้น คลองกว้าง 4 วา บริษัทจะได้ที่ดินยื่นเข้าไปฝั่งละ 25 เส้น[2] บริษัทได้ใช้เครื่องจักรและแรงงานคนในการขุดคลองตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2433–2439 แต่ขุดได้ไม่มากนัก จนปี พ.ศ. 2440 จึงเริ่มขุดได้มากขึ้น โดยระหว่างปี 2440–2443 ขุดได้ประมาณปีละ 1,000 เส้น ระหว่างปี 2444–2447 สามารถขุดคลองได้มากเพิ่มขึ้นอีก เป็นเฉลี่ยปีละ 3,000 เส้น จากนั้นปริมาณการขุดคลองก็ลดลง โครงการประกอบด้วย การก่อสร้างระบบคลองในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เขตจังหวัดปทุมธานีที่เรียกว่า ทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงไปยังแม่น้ำนครนายก ยังสร้างประตูระบายน้ำ สำหรับควบคุมการเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูกและสร้างประตูเรือสัญจรเพื่อการคมนาคม[3] จากนั้นในปี พ.ศ. 2447 บริษัทนำเงินซึ่งเป็นผลกำไรจากทุ่งรังสิตไปลงทุนขุดคลองในโครงการทุ่งนครนายก เริ่มขุดตามสัญญาเดือนมกราคม พ.ศ. 2447 แต่บริษัทประสบปัญหาการขาดทุน ไม่มีคนซื้อที่ดินเนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาที่ดินตกต่ำ รายได้รายได้หลักของบริษัทมาจากการขายที่ดิน บริษัทจะออกหนังสือสำคัญของบริษัทให้เรียกว่า "ใบตรอก" ซึ่งถือเป็นความตกลงระหว่างบริษัทกับผู้ซื้อโดยรัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง บริษัทขายที่ได้ดีขึ้นปี พ.ศ. 2440 โดยขายที่ในเขตคลองรังสิตและคลอง 6 วาสายล่าง และขายที่ดินได้แพร่หลายขึ้นในปี พ.ศ. 2441–47 มีผู้มาซื้อที่ดินขนาดใหญ่เพื่อให้ชาวนาเช่า ลูกค้ากลุ่มนี้ได้แก่ เจ้านาย ข้าราชการ บาทหลวงในคริสต์ศาสนา และพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพ อย่างไรก็ตามในการขายที่ดิน รัฐบาลก็ได้พยายามเข้ามาควบคุมการตั้งราคาของบริษัทด้วย บริษัทมีรายได้จาก ค่าธรรมเนียมประตูน้ำ สำหรับเรือที่ผ่านไปผ่านมา ประตูน้ำของบริษัทที่สำคัญมี 3 ประตูคือประตูน้ำจุฬาลงกรณ์, ประตูน้ำเสาวภาปิดกั้นคลองรังสิตทั้งสองด้าน และประตูบริษัทสมบูรณ์กั้นคลอง 6 วาสายล่าง รายได้จากค่าเช่านา เป็นที่ดินที่ยังไม่ได้ขายหรือเป็นที่วิวาทยังไม่ได้ตัดสินตกลงเป็นของฝ่ายใด ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย โดยในปี พ.ศ. 2433 พบว่ามีอยู่ประมาณ 20,000 ไร่ ตามรายงานของพระมหาโยธา ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการเก็บค่าเช่านาปีละ 40,000 บาท บริษัทได้เงินค่าคลอง ที่บริษัทเรียกเก็บจากเจ้าของที่นาที่มีที่นาเป็นของตนเองอยู่แล้ว ผลประโยชน์ที่ต้องตอบแทนรัฐบาลจากสัญญาปี พ.ศ. 2431 ข้อ 8 ระบุว่าบริษัทจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาลโดยคิดจากส่วนกำไรที่บริษัทได้รับร้อยละ 20 และไขข้อสัญญา พ.ศ. 2436 ข้อ 4 กำหนดว่าเงินซึ่งเรียกว่า "ค่าภาคหลวง" ให้บริษัทจ่ายให้รัฐบาลทุกปีจนกว่าคลองจะเสร็จ แต่เมื่อขายที่ดินได้เป็นจำนวนมาก บริษัทไม่ได้แบ่งส่วนกำไรให้รัฐบาลเลย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงยกเลิกสัญญา เปลี่ยนมาเป็นเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตราจอง เมื่อมีการออกโฉนดตราจองที่ให้แก่บริษัทโดยเรียกเก็บไร่ละ 1 สลึง แต่พบหลักฐานว่าบริษัทค้างชำระค่าธรรมเนียมตราจอง[4] อ้างอิง
|