ข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง เป็นข้อจำกัดทางกฎหมายที่จำกัดจำนวนวาระของบุคคลในการดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาจเป็นการห้ามดำรงตำแหน่งเกินบางวาระติดต่อกัน หรือห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำ[1] ข้อจำกัดเช่นนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดแบบรัฐธรรมนูญนิยมที่มีไว้จำกัดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของระบอบประชาธิปไตย[2] เช่น เพื่อป้องกันความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผูกขาดตำแหน่ง ประธานาธิบดีหลายคนเคยพยายามอยู่เกินวาระที่จำกัดไว้โดยอาศัยหลายวิธี[3][4] มีสถิติปรากฏว่า ในช่วง ค.ศ. 1960–2010 หนึ่งในสี่ของประธานาธิบดีที่มีวาระจำกัดได้ขยายหรือฝ่าฝืนวาระของตนเป็นผลสำเร็จ และการบังคับใช้ข้อจำกัดวาระเป็นหนึ่งในงานที่ท้าทายที่สุดในพัฒนาการทางประชาธิปไตย นอกจากนี้ ข้อจำกัดวาระยังเป็นกลไกทางประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่รับรองทั้งระดับประเทศและระดับสากลมากกว่ากลไกอย่างอื่น และความพยายามฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระมักพบกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในประเทศและจากเวทีโลกด้วย[5] การฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระยังสัมพันธ์กับความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน[6] ถึงแม้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยจะพบการฝ่าฝืนข้อจำกัดวาระได้บ่อยกว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแข็งแรง แต่ในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ยังสามารถบังคับใช้ข้อจำกัดวาระได้โดยผ่านฝ่ายค้าน รัฐบาลต่างประเทศ และบรรดาพลเมืองเอง[7] ในทางประวัติศาสตร์ ข้อจำกัดวาระเช่นนี้สามารถย้อนหลังไปได้ถึงยุคกรีซโบราณ สาธารณรัฐโรมัน และสาธารณรัฐเวนิส[8] ส่วนข้อจำกัดวาระที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแบบสมัยใหม่เป็นครั้งแรกนั้น คือ ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 3 (ค.ศ. 1795) สมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ซึ่งกำหนดว่า ดีแร็กตัวร์ (ผู้บริหารสูงสุดของประเทศ) อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 5 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งซ้ำ[9] อ้างอิง
บรรณานุกรม
|