Share to:

 

คณะภราดาน้อยกาปูชิน

คณะภราดาน้อยกาปูชิน
ชื่อย่อO.F.M. Cap
ก่อตั้งค.ศ. 1520
ประเภทคณะนักบวชคาทอลิก
สํานักงานใหญ่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
บาทหลวง Mauro Jöhri
เว็บไซต์Ordo Fratrum Minorum Capuccinorum

คณะภราดาน้อยกาปูชิน[1] (อังกฤษ: Order of Friars Minor Capuchin) หรือคณะฟรังซิสกันกาปูชิน (Capuchin Franciscans) เรียกโดยย่อว่าคณะกาปูชิน (Capuchins) เป็นคณะนักบวชคาทอลิกประเภทคณะนักบวชภิกขาจาร และถือเป็นสาขาหนึ่งของคณะฟรันซิสกัน อัคราธิการคนปัจจุบันของคณะคือบาทหลวง Mauro Jöhri

กำเนิดคณะ

คณะกาปูชินเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1520 เมื่อภราดามัตเตโอ ดา บาชีโอ (Matteo da Bascio) ไฟรอาร์คณะฟรันซิสกันกลุ่มผู้ถือวินัย (Observant) ได้เดินทางกลับอิตาลี เขาอ้างว่าพระเจ้าได้ดลใจเขาให้รู้ว่าแนวทางที่คณะฟรันซิสกันปฏิบัติอยู่นั้นผิดไปจากที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีดำริไว้ เขาจึงหาทางที่จะนำคณะกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เน้นความสงบวิเวกและการชดใช้บาปอย่างที่ท่านผู้ก่อตั้งคณะได้ปฏิบัติไว้

แต่อธิการของคณะได้ขัดขวางแผนการนี้ ไฟรอาร์มัตเตโอกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มแรกจำต้องหนีหลบซ่อนตัวจากผู้มีอำนาจในคริสตจักรซึ่งตามล่าตัวพวกเขาเพื่อบังคับให้เขาละทิ้งแผนการปฏิรูป แต่ก็มีนักพรตคณะ Camaldolese ให้ที่พักช่วย เพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณนี้ต่อมาพวกเขาจึงเปลี่ยนมาสวมฮูดหรือหมวกคลุมศีรษะ (capuccio) ตามอย่างคณะนั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์การแต่งกายของพวกฤๅษีในอิตาลี รวมทั้งไว้หนวดเครายาว ต่อมาชื่อของฮูดซึ่งเป็นแฮบิตของคณะจึงกลายมาเป็นชื่อคณะว่า "คณะฟรังซิสกันกาปูชิน" ในปี ค.ศ. 1528 ไฟรอาร์ มัตเตโอ ได้รับพระอนุญาตจากสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ให้ดำรงชีวิตอย่างฤๅษีได้ รวมทั้งสามารถจาริกไปได้ทุกที่เพื่อเทศน์ให้คนยากไร้ การอนุญาตนี่ไม่ได้มีผลเฉพาะมัตเตโอแต่รวมถึงผู้อื่นที่ร่วมการปฏิรูปนี้ด้วย จึงมีผู้เข้าร่วมการปฏิรูปกับภราดามัตเตโอจำนวนมาก คณะฟรันซิสกันที่ถูกมัตเตโอกับเพื่อนร่วมกันปฏิรูปนี้ต่อมาได้กลายเป็นคณะนักบวชคาทอลิกอีกคณะหนึ่ง ตอนแรกใช้ชื่อว่าคณะภราดาน้อยฤๅษี (Hermit Friars Minor) และเป็นส่วนหนึ่งของคณะภราดาน้อยคอนเวนชวล แต่มีวิคาร์เป็นอธิการปกครองคณะโดยเฉพาะ โดยยังขึ้นต่ออัคราธิการของคณะฟรันซิสกันคอนเวนชวล ในช่วงนี้กลุ่มผู้ถือวินัย (คือคณะฟรันซิสกันกลุ่มดั้งเดิม) ยังคงต่อต้านขบวนการปฏิรูปอยู่อย่างต่อเนื่อง

วินัยประจำคณะ

ในปี ค.ศ. 1529 คณะกาปูชินมีบ้านพักนักบวชอยู่ 4 แห่งและมีบทบัญญัติทั่วไปเป็นครั้งแรกซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวินัยเฉพาะของคณะ ตามบทบัญญัตินี้ไม่ให้ถือแนวคิดแบบนักพรตเดี่ยว แต่ให้ใช้ชีวิตเคร่งครัด เรียบง่าย และยากจนอย่างที่สุด ตามแนวทางการปฏิบัติของนักบุญฟรังซิส ทั้งอารามและคณะต้องไม่ถือครองทรัพย์สินใด ๆ ทั้งห้ามไม่ให้ใช้อุบายใด ๆ เพื่อเลี่ยงกฎหมายนี้ ห้ามครอบครองสิ่งใดเอาไว้ใช้สนองความต้องการทางโลก ของที่กักตุนไว้ใช้เพื่อในบ้านพักไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน ของทุกอย่างต้องได้มาด้วยการภิกขาจาร และห้ามเหล่าไฟรอาร์แตะต้องเงิน ชุมชนที่ไฟรอาร์อาศัยต้องมีขนาดเล็ก คืออยู่กัน 8 คน อย่างมากที่สุดคือ 12 คน เรื่องเครื่องเรือนเครื่องแต่งกายต้องเรียบง่ายอย่างที่ เหล่าไฟรอาร์ต้องไม่สวมรองเท้า ต้องไปไหนด้วยเท้าเปล่า แม้แต่รองเท้าแตะก็ห้ามใช้

นอกจากการทำวัตรประจำวันเป็นกลุ่มเช่นที่ทำตอนเที่ยงคืนแล้ว นักบวชในคณะยังต้องอธิษฐานส่วนตัวอีกวันละสองชั่วโมง การถืออดอาหารและการรักษาวินัยเป็นไปอย่างเข้มงวดเป็นนิจ กิจกรรมภายนอกคือการเทศน์และการช่วยเหลือทางใจแก่คนยากจน ในด้านเทววิทยา คณะกาปูชินไม่ยึดถือปรัชญาของบุญราศีดันส์ สโกทัสซึ่งเป็นสำนักฟรังซิสกันยุคหลัง แต่หันไปใช้ปรัชญาสำนักโบนาเวนตูราซึ่งเป็นฟรังซิสกันยุคแรก

ในประเทศไทย

คณะกาปูชินเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1982 ปัจจุบันนี้มีสมาชิกที่เป็นบาทหลวงชาวไทย 5 องค์ ชาวอิตาเลียน 3 องค์ และชาวอินโดนีเซีย 2 องค์ มีเซมินารีใหญ่ที่สามพราน มีภราดาที่ปฏิญาณตนตลอดชีวิต 2 คน ถวายตัวครั้งแรก 2 คน โนวิซ 6 คน และมีโปสตูลันต์ 10 คน ส่วนเซมินารีเล็กอยู่ที่โบสถ์นักบุญมาการิตา บางตาล จ.ราชบุรี มีบาทหลวง 3 องค์ คือ คุณพ่อวอลเตอร์ คุณพ่อสมพงษ์ ตรีว่าอุดม คุณพ่ออันโตนีโอ วาลแซ็กกี และภราดาสิทธิชัย สร้างกุศลในพสุธา มีแอสปีรันต์ 22 คน เรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-6 ที่โรงเรียนบอสโกพิทักษ์ จังหวัดนครปฐม[2]

อ้างอิง

  1. คณะภราดาน้อยกาปูชินฉลองนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และฉลอง 800 ปีการรับรองพระวินัยฉบับแรกของคณะ
  2. "คุณพ่อโจวันนี โครเปลลี: ผมไม่ใช่ฤๅษี ภราดาของชาวบ้าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
Kembali kehalaman sebelumnya