คลองลาดพร้าวคลองลาดพร้าว เป็นคลองสายหนึ่งในพื้นที่เขตห้วยขวางและเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มต้นแยกจากคลองแสนแสบ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ตัดกับทางน้ำสำคัญคือ ลำรางยมราช คลองพลับพลา คลองบางซื่อ คลองทรงกระเทียม คลองน้ำแก้ว และคลองเสือน้อย ไปสิ้นสุดบริเวณระหว่างสะพานถนนเสนานิคม 1 กับสะพานถนนประเสริฐมนูกิจ โดยมีแนวคลองที่ตรงต่อเนื่องไปคือคลองบางบัว ช่วงตั้งแต่วัดลาดพร้าวขึ้นไปจนถึงคลองบางบัวนั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า "คลองวังหิน" แต่ปัจจุบันทางการได้เรียกรวมเป็นส่วนหนึ่งของคลองลาดพร้าว คลองลาดพร้าวมีความกว้างประมาณ 20–30 เมตร มีความยาวประมาณ 22 กิโลเมตร ความลึกของคลองในปัจจุบันประมาณ 1.5 เมตร[1] ประวัติคลองลาดพร้าวขุดขึ้นมาในสมัยใด ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับการขุดคลองแสนแสบ (ขุดเมื่อ พ.ศ. 2380 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) หากพิจารณาจากการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและการสร้างวัดริมคลอง พบว่าวัดลาดพร้าวสร้างเมื่อ พ.ศ. 2410 คลองลาดพร้าวยังมีชุมชนมุสลิมตั้งกระจายอยู่ตลอดแนวคลองเช่นกัน ส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากชุมชนสามอิน เชื้อสายชาวปัตตานี เช่น ชุมชนลาดพร้าว 80 (มัสยิดอีมาร่อตุ๊ดดิน) ชุมชนร่วมมิตรแรงศรัทธา ใกล้ตลาดยิ่งเจริญ (เขตดอนเมือง) ฯลฯ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 ครัวเรือน ในช่วง พ.ศ. 2536 บริษัท นาวานำโชค จำกัด ให้บริการเดินเรือโดยสารความจุ 50 คน ในคลองลาดพร้าว มี 15 ท่าเรือ มีผู้โดยสารใช้บริการมากและเป็นที่นิยมพอสมควร ผู้โดยสารส่วนใหญ่มักใช้บริการจากตลาดยิ่งเจริญไปถึงคลองพระโขนง ยังสามารถต่อเรือไปคลองแสนแสบได้ในช่วงที่มีการเดินเรือ จนเมื่อ พ.ศ. 2538 เลิกกิจการไปเนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องการเดินเรือแล้วทำให้ริมตลิ่งของชุมชนริมคลองพังเสียหายและเรือวิ่งเร็วส่งเสียงดัง[2] หลังเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 รัฐบาลมีนโยบายจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยเริ่มที่คลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรก[3] มีการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว ความกว้างของแนวเขื่อน 25–38 เมตร และขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิม 4 เมตร สถานที่ริมคลองจากข้อมูล พ.ศ. 2561 คลองลาดพร้าวมีชุมชนต่าง ๆ ตั้งเรียงรายอยู่ใน 8 เขต คือ เขตวังทองหลาง เขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง และเขตสายไหม รวม 50 ชุมชน ประมาณ 7,069 ครัวเรือน[4] ชุมชนเคยจัดการแห่เรือเข้าพรรษา มีวัดที่ตั้งอยู่ริมคลองได้แก่ วัดลาดพร้าว วัดใหม่เสนานิคม และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก[5] อ้างอิง
|