Share to:

 

ความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์

ความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์[1] (อังกฤษ: Scientific consensus) หรือ มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ เป็นข้อตัดสิน จุดยืน และความเห็น โดยรวม ๆ ของชุมชนนักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง คำว่า มติส่วนใหญ่ หมายถึงการเห็นพ้องกันโดยทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ความเป็นเอกฉันท์[2]

นักวิทยาศาสตร์จะถึงมติส่วนใหญ่ได้ก็ต้องอาศัยงานประชุม กระบวนการตีพิมพ์ (เช่นหนังสือหรือวารสารวิทยาศาสตร์) การทำงานทดลองซ้ำ (ที่ได้ผลอย่างเดียวกันโดยผู้อื่น) และกระบวนการทบทวนระดับเดียวกัน ซึ่งรวมกันมีผลเป็นสถานการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ในสาขานั้น บ่อยครั้งสามารถรู้ได้ว่าอะไรเป็นมติส่วนใหญ่ แต่การบอกบุคคลอื่น ๆ นอกสาขาว่า มีมติส่วนใหญ่ อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะว่า การอภิปรายที่เป็นเรื่องธรรมดาของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อาจจะปรากฏต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นการต่อสู้กัน[3] บางครั้ง จะมีสถาบันวิทยาศาสตร์ที่พิมพ์คำแถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืน เพื่อที่จะสื่อสารใจความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จากบุคคลภายในไปยังกลุ่มบุคคลภายนอก ในกรณีที่ไม่มีข้อโต้เถียงกันมากในประเด็นใต้การศึกษา การถึงมติส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา

อาจจะมีการอ้างถึงมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ในการอภิปรายทั่วไปหรือทางการเมือง เกี่ยวกับประเด็นที่ยังเป็นเรื่องโต้เถียงยังไม่ยุติในมวลชน แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ เช่นประเด็นเรื่องวิวัฒนาการ[4][5] หรือเรื่องการฉีดวัคซีนรวมแบบ MMR ที่ไม่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งออทิซึม[3] หรือเรื่องโลกร้อน

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของมติส่วนใหญ่

มีทฤษฎีทางปรัชญาและประวัติศาสตร์ที่แสดงแบบจำลองว่า มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนไปได้อย่างไรตามกาลเวลา แต่เพราะว่า ประวัติการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ซับซ้อนมาก และเพราะความโน้มเอียงที่จะยกว่ามี "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" ในอดีตเมื่อเปรียบเทียบกับมติส่วนใหญ่ใน "ปัจจุบัน" จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำและใช้ได้ในทุกกรณี[6] นอกจากนี้ สาขาต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ยังดำเนินไปไม่เหมือนกัน เกี่ยวกับรูปแบบของหลักฐานและวิธีการทดลอง ซึ่งทำให้การสร้างแบบจำลองนั้นยากยิ่งขึ้น

แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์โดยมาก อาศัยการได้ข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาวิทยาศาสตร์คาร์ล ป็อปเปอร์ เสนอว่า เพราะว่า ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะ "พิสูจน์" ได้ไม่ว่าจะมีการทดลองเป็นจำนวนเท่าไร แต่เพียงแค่การทดลองเดียวเท่านั้นก็สามารถจะล้มทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้น วิทยาศาสตร์ควรจะตั้งอยู่ในมูลฐานของการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ (falsifiability)[7] แม้ว่านี้จะเป็นทฤษฎีเชิงตรรกวิทยาของวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่ามติทางวิทยาศาสตร์ควรจะดำเนินไปอย่างไรตามกาลเวลา

มีนักวิชาการท่านอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เช่น ดร.โทมัส คูน ผู้เสนอว่า การทดลองย่อมให้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่สามารถเข้ากับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้ และดังนั้น การพิสูจน์ว่าเท็จอย่างเดียวจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติทางวิทยาศาสตร์ หรือสามารถทำลายมติของนักวิทยาศาสตร์ได้ และเสนอว่า มติส่วนใหญ่จะเป็นไปอย่างเป็นรูปแบบ (paradigm) ซึ่งเป็นระบบการเชื่อมต่อกันของทฤษฎีต่าง ๆ และของข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของทฤษฎี เป็นระบบที่รวมนักวิทยาศาสตร์เข้าเป็นพวกเดียวกัน

ดร.คูนเสนอว่า หลังจากที่สะสมข้อมูลผิดปกติที่สำคัญจนถึงระดับหนึ่งเท่านั้น ที่มติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์จะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ณ จุดนี้ จะมีการสืบหาทฤษฎีใหม่ ๆ และในที่สุด รูปแบบ (paradigm) อีกอย่างหนึ่ง ก็จะได้รับชัยชนะเหนือรูปแบบเก่า เป็นพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์โดยเป็นวัฏจักรของรูปแบบ ไม่ใช่เป็นพัฒนาการเชิงเส้น แบบจำลองของ ดร.คูนยังเน้นอิทธิพลด้านสังคมและด้านบุคคลของความเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎี โดยแสดงตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ว่า มติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้อาศัยความสมเหตุผลโดยสุทธิ หรืออาศัยความจริงโดยอย่างเดียว[8]แต่ให้สังเกตว่า ช่วงเวลา "ปกติ" และช่วง "วิกฤติ" ไม่ได้อยู่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง คืองานวิจัยได้แสดงว่า ตามประวัติ นี้เป็นรูปแบบการดำเนินงานต่าง ๆ แทนที่จะเป็นช่วงระยะเวลาต่าง ๆ[3]

วิทยาศาสตร์กับการเมือง

ในการอภิปรายทางการเมือง ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการออกนโยบายของรัฐมักจะใช้คำพูดว่ามีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง เพื่อแสดงความสมเหตุสมผลของทฤษฎีหนึ่งที่ใช้สนับสนุนนโยบาย และโดยนัยตรงกันข้ามกัน ผู้ที่พูดว่าไม่มีมติส่วนใหญ่จากนักวิทยาศาสตร์ อาจจะได้ผลประโยชน์จากนโยบายอย่างอื่นที่คลุมเครือกว่า

ยกตัวอย่างเช่น มีมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสร์ว่า ผิวโลกร้อนขึ้นในช่วงทศวรรษที่เพิ่งผ่าน ๆ มา และเป็นความโน้มเอียงที่เกิดขึ้นโดยหลักเพราะการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยกิจกรรมของมนุษย์[9][10][11] มีนักประวัติวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง (ดร. Naomi Oreskes) ที่เขียนบทความในวารสารวิทยาศาสตร์ Science รายงานว่า จากการสำรวจบทคัดย่อของบทความทางวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ. 1993-2003 ไม่พบบทความใดที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับแนวคิดว่า โลกร้อนขึ้นเพราะเหตุจากมนุษย์[12] ในบทความบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ Washington Post เธอได้กล่าวว่า ผู้ที่ต่อต้านการค้นพบทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ กำลังเพียงแค่ขยายความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนในระดับปกติ ให้กลายเป็นเหมือนว่ามีความไม่ลงรอยกันทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ คือการไม่มีมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์[13] สิ่งที่เธอค้นพบ สามารถทำซ้ำได้โดยวิธีอื่นโดยที่ไม่ต้องอาศัยการตีความ[3]

ทฤษฎีวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องที่สนับสนุนอย่างท่วมท้นโดยมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์ เป็นทฤษฎีที่เชื่อถือได้ดีที่สุด ที่มีการทดสอบเชิงประสบการณ์มากที่สุดทฤษฎีหนึ่งในวิทยาศาสตร์[14][15] แต่ผู้ต่อต้านทฤษฎีนี้กลับอ้างว่า มีความไม่เห็นด้วยอย่างสำคัญในชุมชนนักวิทยาศาตร์[16] และมีการดำเนินงานเริ่มและพัฒนาความรู้สึกของมวลชนว่า ไม่มีมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ[17]

ความไม่แน่นอนที่เป็นธรรมชาติของวิทยาศาตร์ คือการที่ทฤษฎีไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ เป็นปัญหาสำหรับนักการเมือง ผู้วางนโยบาย นักกฎหมาย และนักธุรกิจ คือ แม้ว่าคำถามทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาสามารถดำเนินไปกับความไม่แน่นอนได้เป็นทศวรรษ ๆ ในสาขาวิชาการหนึ่ง ๆ แต่ผู้ออกนโยบายจำต้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่อาจไม่ใช่เวอร์ชั่นสุดท้ายของ "ความจริง" และสิ่งที่ยากก็คือ จะต้องกำหนดว่า อะไรใกล้ต่อความจริงเพียงพอแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินการทางสังคมต่อต้านการสูบบุหรี่จริง ๆ แล้วค่อนข้างเนิ่นช้า แม้หลังเกิดมติส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีโทษทางสุขภาพ แล้ว[3]

ในเรื่องบางเรื่อง เช่นการอนุมัติให้ใช้เทคโนโลยีบางอย่างสำหรับมวลชน เป็นสิ่งที่อาจมีผลยาวนานทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และต่อประชากร ถ้าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ไว้ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย แต่ว่า ถ้าหวังว่า นโยบายในเรื่อง ๆ หนึ่งควรจะสะท้อนข้อมูลที่มีอยู่ และสะท้อนแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการรับรองเป็นอย่างดีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ มันก็ไม่มีข้อมูลหลักฐานอื่นที่ดีกว่านอกจาก "มติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์" ที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบนโยบายและการบังคับใช้ อย่างน้อยก็ในกรณีที่การออกนโยบายดูจะเป็นเรื่องจำเป็น แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถแสดงความจริงสัมบูรณ์ หรือแม้แต่ความผิดพลาดสัมบูรณ์ให้ได้ มันก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยแนะแนวทางนโยบาย โดยมีแนวโน้มเพื่อเพิ่มประโยชน์ให้แก่สังคม และเพื่อลดความเสียหาย ถ้ามีทัศนคติเช่นนี้ การบังคับว่า นโยบายจำต้องอาศัยสิ่งที่พิสูจน์แล้ว เป็น "ความจริงทางวิทยาศาสตร์" เท่านั้น นี่จะเป็นเหตุนำไปสู่ความเป็นอัมพาตทางสังคม และโดยปริยาย จะเป็นการใช้นโยบายยอมรับความเสียหายและความเสี่ยง ที่เห็นได้และเห็นไม่ได้ ที่เกิดจากการไม่มีนโยบายที่อาศัยมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาตร์[3]

ไม่มีส่วนไหนของนโยบายที่สร้างขึ้นบนรากฐานมติส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ ที่ห้ามไม่ให้ทบทวนบ่อย ๆ ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมติของนักวิทยาศาสตร์เอง หรือว่าผลที่เห็นได้จากการออกนโยบาย จริง ๆ แล้ว เหตุผลที่ผลักดันให้อาศัยมติทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างนโยบาย ก็จะเป็นตัวผลักดันให้มีการประเมินผลบ่อย ๆ ในกาลต่อไป และให้เกิดการปรับนโยบายถ้าจำเป็น

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. "consensus (วิทยาศาสตร์)", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑, ความเห็นพ้อง
  2. "consensus".
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Shwed Uri; Peter Bearman (December 2010). "The Temporal Structure of Scientific Consensus Formation". American Sociological Review. 75 (6): 817–40. doi:10.1177/0003122410388488. PMC 3163460. PMID 21886269.
  4. "Statement on the Teaching of Evolution" (PDF). American Association for the Advancement of Science. 2006-02-16. สืบค้นเมื่อ 2008-05-02.
  5. "NSTA Position Statement: The Teaching of Evolution". National Science Teacher Association. สืบค้นเมื่อ 2008-05-02.
  6. Pickering, Andrew (1995). The Mangle of Practice. IL: Chicago University Press. ISBN 978-0-226-66802-4.
  7. Popper, Karl Raimund (1934). The Logic of Scientific Discovery (2002 ed.). New York: Routledge Classics. ISBN 978-0-415-27844-7. Originally published in German as Logik der Forschung: zur Erkenntnistheorie der modenen Naturwissenschaft. Schriften zur Wissenschaftlichen Weltauffassung. Vienna: Springer. 1935. OCLC 220936200.
  8. Kuhn, Thomas S. (1962). The Structure of Scientific Revolutions (1996 ed.). University of Chicago Press, Chicago. ISBN 978-0-226-45808-3.
  9. Oreskes, Naomi (December 2004). "Beyond the Ivory Tower: The Scientific Consensus on Climate Change". Science. 306 (5702): 1686. doi:10.1126/science.1103618. PMID 15576594.
  10. Advancing the Science of Climate Change. Washington, D.C.: The National Academies Press. 2010. doi:10.17226/12782. ISBN 978-0-309-14588-6.
  11. "Understanding and Responding to Climate Change" (PDF). United States National Academy of Sciences. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 23 April 2013. สืบค้นเมื่อ 30 May 2010.
  12. Oreskes, Naomi (2004-12-03). "The Scientific Consensus on Climate Change". Science. 306 (5702): 1686.
  13. Oreskes, Naomi (2004-12-26). "Undeniable Global Warming". Washington Post. p. B07.
  14. National Academy of Science Institute of Medicine (2008). Science, Evolution, and Creationism. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. Vol. 105. National Academy Press. pp. 3–4. doi:10.17226/11876. ISBN 978-0-309-10586-6. PMC 2224205. PMID 18178613.
  15. Annas, George J. (2006-05-25). "Intelligent Judging — Evolution in the Classroom and the Courtroom". วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์. 354: 2277-2281. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-20. สืบค้นเมื่อ 2016-01-22. That this controversy is one largely manufactured by the proponents of creationism and intelligent design may not matter, and as long as the controversy is taught in classes on current affairs, politics, or religion, and not in science classes, neither scientists nor citizens should be concerned.
  16. Gould, Stephen Jay. "Evolution as Fact and Theory". Stephen Jay Gould Archive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2019. สืบค้นเมื่อ 1 January 2019. in Hen's Teeth and Horse's Toes. New York: W. W. Norton & Company, 1994: 253–62.
  17. "The Wedge Document" (PDF). Discovery Institute. 1999.
Kembali kehalaman sebelumnya