จอนหูจอนหู, จรหู (เทียบคำไทใหญ่ จอน แปลว่า เสียบ) หรือ กรรเจียกจอน, กรรเจียกจร (มาจากคำเขมรว่า ត្រចៀក ตฺรเจียก แปลว่า หู) เป็นเครื่องประดับหู มีรูปเป็นกระหนก ใช้ตกแต่งร่วมกับศิราภรณ์อย่างมงกุฎ ชฎา หรือรัดเกล้า การไว้ผมปีกของสตรีไทยในอดีต จะมีการไว้จอนผมที่ข้างหู ยาวออกมาแล้วทัดไว้ที่หู เรียกว่า "จอนหู" หรือ "จอนผม" ถือว่าเป็นความสวยงามรูปแบบหนึ่ง[1] แล้วคลี่คลายมาด้วยการตกแต่งจอนผมด้วยดอกไม้ แต่เดิมกรรเจียกจรทำจากดอกไม้สด ร้อยเป็นพวงหรือช่อพริ้วไสวอยู่ข้างหู ตามอย่างภาพเทพยดาในจิตรกรรมสมัยอยุธยา ครั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการเขียนกรรเจียกจรเป็นลายกระหนก ด้านบนคล้ายดอกไม้ทัด ด้านล่างเหมือนปลายอุบะ มีลวดลายต่าง ๆ เช่น กระหนกใบเทศ กระหนกหางโต ทำจากวัสดุอื่น ๆ เช่นเครื่องทองหรือเครื่องเงิน ประดับตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่า สวยงามคงทนกว่าดอกไม้สด[2] โดยจอนหูแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนบนทำหน้าที่เป็นดอกไม้ทัด และส่วนล่างทำหน้าที่แทนอุบะ[3] ทั้งนี้จอนหูในการแสดงรามเกียรติ์ แบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ จอนหูแบบมนุษย์ กับจอนหูแบบยักษ์[4] โดยจอนหูแบบมนุษย์จะเผยให้เป็นใบหู ขณะที่จอนหูแบบยักษ์จะมีลักษณะปิดหรือครอบใบหู[5] ซึ่งจอนหูแบบมนุษย์มีสองแบบ อย่างแรกคือจอนหูแบบธรรมดา กับอย่างที่สองคือจอนหูแบบครีบหางปลา ซึ่งจอนหูอย่างหลังนี้พบได้ในหัวโขนของพระภรตมุนี หรือพ่อแก่[6] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|