Share to:

 

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล


จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล

John Everett Millais
ภาพเหมือนตนเอง ค.ศ. 1881
เกิด8 มิถุนายน ค.ศ. 1829(1829-06-08)
เซาแทมป์ตัน อังกฤษ
เสียชีวิต13 สิงหาคม ค.ศ. 1896(1896-08-13) (67 ปี)
เคนซิงตัน ลอนดอน อังกฤษ
สุสานมหาวิหารเซนต์พอล
51°30′49″N 0°05′53″W / 51.513611°N 0.098056°W / 51.513611; -0.098056
สัญชาติบริติช
การศึกษาราชสถาบันศิลปะ
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม, ภาพวาดเส้น ภาพพิมพ์
ผลงานเด่นโอฟิเลีย, พระเยซูในโรงช่างของพ่อ
ขบวนการกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล
คู่สมรสยูฟิเมีย เกรย์ (สมรส 1855)
บุตร8 คนรวมทั้ง จอห์น กิลล์ มิเล

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล หรือ เซอร์จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล บาโรเนตที่ 1, PRA (อังกฤษ: John Everett Millais หรือ Sir John Everett Millais, 1st Baronet, PRA) (8 มิถุนายน ค.ศ. 1829 – 13 สิงหาคม ค.ศ. 1896) เป็นจิตรกรและนักวาดภาพประกอบของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรม, ภาพวาดเส้น และภาพพิมพ์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล[1]

เบื้องต้น

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเลเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1829 ที่เมืองเซาแทมป์ตันในอังกฤษ ในครอบครัวที่มีหน้ามีตาจากเจอร์ซีย์ ความสามารถทางศิลปะของมิเลทำให้ได้รับเข้าศึกษาในราชสถาบันศิลปะ เมื่อมีอายุได้เพียง 11 ปี ขณะที่ศึกษาอยู่ที่นั่นมิเลก็ได้ทำความรู้จักกับวิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ และดานเต เกเบรียล รอสเซ็ตติ ผู้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการศิลปะแนวใหม่ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล" หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า "PRB" (Pre-Raphaelite Brotherhood) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1848 ที่บ้านของมิเล ถนนเกาเออร์ริม จตุรัสเบดฟอร์ด ในกรุงลอนดอน

งานแบบก่อนราฟาเอล

"โอฟิเลีย" (ค.ศ. 1852)
"เด็กหญิงตาบอด" (ค.ศ. 1856)

ภาพ "พระเยซูในโรงช่างของพ่อ" (Christ in the House of His Parents) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1850 เป็นภาพที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะมิเลวาดพระเยซูอย่างคนชั้นแรงงานที่กำลังทำงานในโรงช่างไม้ที่เลอะเทอะของพ่อ งานชิ้นต่อ ๆ มาก็สร้างความขัดแย้งเช่นกันแต่ไม่มีภาพใดเท่ากับภาพนี้ แต่มิเลมาได้รับความสำเร็จและความนิยมอย่างแพร่หลายในภาพ "อูกโน" (A Huguenot) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งเป็นภาพของคู่หนุ่มสาวที่จำจะต้องจากกันเพราะความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งกลายมาเป็นหัวใจของหัวเรื่องของภาพอีกหลายภาพที่มิเลเขียน

งานสมัยต้น ๆ ของมิเลเต็มไปด้วยรายละเอียดและมักจะเน้นความงามและความซับซ้อนของธรรมชาติของโลก ในภาพเช่น "โอฟิเลีย" (Ophelia) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 มิเลสร้างภาพที่ผสมผสานแน่นไปด้วยรายละเอียดของสิ่งธรรมชาติต่าง ๆ ที่ได้รับคำบรรยายว่าเป็นเขียนภาพแบบ "จิตรกรรมสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ" (pictorial eco-system)

ลักษณะการเขียนแบบนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักวิจารณ์ศิลป์ จอห์น รัสคิน ผู้เป็นผู้ปกป้องศิลปะแบบก่อนราฟาเอลจากผู้ต่อต้าน ความสัมพันธ์กับรัสคินทำให้มิเลได้ทำความรู้จักกับเอฟฟี เกรย์ (Effie Gray) ภรรยาของรัสคิน[2] หลังจากที่ได้พบกันเอฟฟีก็มานั่งเป็นแบบให้ในภาพ "คำสั่งปล่อย" (The Order of Release) ในขณะที่เขียนภาพสองคนก็ตกหลุมรักกัน แม้ว่าเอฟฟีจะแต่งงานกับรัสคินมาหลายปีแต่ทั้งสองก็ยังมิได้มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยา บิดามารดาของเอฟฟีสังหรณ์ว่ามีอะไรที่ไม่ปกติจึงฟ้องขอให้การแต่งงานเป็นโมฆะ (annulment) ในปี ค.ศ. 1856 หลังจากที่การแต่งงานกับรัสคินเป็นโมฆะ เอฟฟีกับมิเลก็สมรสกันและมีบุตรธิดาด้วยกันแปดคนรวมทั้ง จอห์น กิลล์ มิเล (John Guille Millais) นักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงและจิตรกรเขียนภาพชีวิตป่า

งานสมัยหลัง

"วัยเด็กของรอลี " (ค.ศ. 1871)

หลังจากการแต่งงานแล้วมิเลก็เริ่มเขียนงานแบบที่กว้างออกไปกว่าเดิม ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์โดยรัสคินว่าเป็นงานแบบ "หายนะ" เป็นที่โต้เถียงกันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนลักษณะการเขียนว่าอาจจะเป็นผลมาจากการที่มิเลต้องการจะเพิ่มจำนวนผลงานเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน วิลเลียม มอร์ริส ผู้ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจกล่าวหามิเลว่า "ขายตัว" เพื่อแสวงหาชื่อเสียงและความร่ำรวย แต่ผู้ที่ชื่นชมชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับงานของเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ และอัลเบิร์ต โจเซฟ มัวร์ (Albert Joseph Moore) และอิทธิพลต่อจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ ตัวมิเลเองก็โต้ว่าเมื่อเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองในฐานะศิลปินเพิ่มขึ้น ก็จึงได้เริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะที่กล้าแข็งขึ้น ในบทความ ความคิดเกี่ยวกับศิลปะของปัจจุบัน (Thoughts on our art of Today) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1888 มิเลให้คำแนะนำว่า ศิลปินควรจะทำตามตัวอย่างของดิเอโก เบลัซเกซ และแร็มบรันต์

"เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดในหอคอยแห่งลอนดอน" (ค.ศ. 1878)

ภาพเขียนเช่น "ค่ำวันนักบุญแอ็กเนส" (The Eve of St. Agnes) และ "คนละเมอ" (The Somnambulist) เป็นภาพที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามิเลมีการติดต่อกับวิสเลอร์ซึ่งเป็นผู้ที่มิเลสนับสนุนอย่างขันแข็ง ภาพเขียนอื่น ๆ ที่เขียนในปลายคริสต์ทศวรรษ 1850 และ 1860 ตีความหมายได้ว่าเริ่มจะมีลักษณะที่ออกไปทางลัทธิสุนทรียนิยม (Aesthetic Movement) ภาพหลายภาพใช้การจัดสีที่เป็นสัญลักษณ์แทนที่จะเป็นการแสดงเรื่องราวในเนื้อหาของภาพโดยตรง ๆ

งานที่เขียนต่อมาจากคริสต์ทศวรรษ 1870 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่ามิเลหันไปหาศิลปินชั้นครูก่อนหน้านั้นเช่น โจชัว เรย์โนลส์ หรือดิเอโก เบลัซเกซ ภาพในช่วงระยะนี้เป็นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นงานชิ้นสำคัญ "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดในหอคอยแห่งลอนดอน" (Princes in the Tower) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1878, "ทางผ่านตะวันตกเฉียงเหนือ" (The Northwest Passage) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1874 และ "วัยเด็กของรอลี" (Boyhood of Raleigh) ในปี ค.ศ. 1871 ที่แสดงให้เห็นความสนใจของมิเลในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอังกฤษและการขยายจักรวรรดิ นอกจากนั้นความนิยมในงานเขียนของมิเลก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อเริ่มเขียนภาพเด็กโดยเฉพาะภาพ "ฟองสบู่" (ค.ศ. 1886)-ซึ่งอาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเป็นภาพที่ใช้ในการโฆษณาสบู่แพร์ส- และภาพ "เชอร์รีสุก" (Cherry Ripe) โครงการสุดท้ายของมิเลในปี ค.ศ. 1896 คือการเขียนภาพ "การสำรวจครั้งสุดท้าย" (The Last Trek)[3] ซึ่งเป็นภาพที่เขียนจากหนังสือของลูกชายที่เป็นภาพชายผิวขาวนอนเหยียดยาวตายในทุ่งแอฟริกา โดยมีคนผิวดำสองคนนั่งมองอย่างไม่ยินดียินร้ายอยู่ข้าง ๆ

จิตรกรรมภูมิทัศน์ ค.ศ. 1870 – ค.ศ. 1892

"ความเย็นในเดือนตุลาคม" (ค.ศ. 1870)

ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องป่าและที่ตั้งอันโดดเดี่ยวปรากฏในจิตรกรรมภูมิทัศน์หลายภาพในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1870 ถึง ค.ศ. 1892 ซึ่งมักจะเป็นภาพความลำบากและพื้นที่ที่มีอันตราย งานชิ้นหนึ่ง "ความเย็นในเดือนตุลาคม" (Chill October) (ค.ศ. 1870) เป็นภาพที่เขียนที่เพิร์ท ในสกอตแลนด์ ไม่ไกลจากบ้านของครอบครัวของภรรยาเท่าใดนัก ภาพนี้ปัจจุบันเป็นของนักประพันธ์อุปรากรร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) เป็นภาพขนาดใหญ่ของภูมิทัศน์ของสกอตแลนด์ภาพแรกที่มิเลเขียน และเป็นภาพภูมิทัศน์ที่เขียนต่อมาโดยตลอดในงานเขียนสมัยหลัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นภาพที่เขียนในฤดูใบไม้ร่วงที่แสดงถึงความรู้สึกอันอ้างว้างของภูมิทัศน์ที่ทำให้ผู้ดูมีความรู้สึกหดหู่และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทำให้นึกถึงภาพชุดธรรมชาติที่เขียนต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1850 โดยเฉพาะภาพ "ใบไม้ร่วง" (Autumn Leaves) และ "พักในทุ่ง" (The Vale of Rest) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1870 มิเลหันกลับไปเขียนภาพภูมิทัศน์เต็มตัว และอีกกว่ายี่สิบปีก็เขียนภาพหลายภาพจากเพิร์ธเชอร์ที่มิเลไปล่าสัตว์และตกปลาตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิเป็นประจำทุกปี

ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพภูมิทัศน์ของฤดูใบไม้ร่วงและต้นฤดูหนาวที่แสดงความอ้างว้าง, ความชื้น และบรรยากาศเจิ่งน้ำของบริเวณมัวร์แลนด์, ทะเลสาบ และ บรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำ มิเลไม่ได้กลับไปใช้การเขียนภูมิทัศน์แบบเขียน "หญ้าทุกใบ" (blade by blade) หรือสีเขียวชอุ่มสดใสที่เขียนในสมัยแรกอีก แต่งานเขียนในช่วงหลังเป็นงานที่มีอิสระมากกว่าซึ่งเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจสังเกตธรรมชาติรอบตัว "ค่ำก่อนคริสต์มาส" (Christmas Eve) เป็นภาพภูมิทัศน์ชิ้นแรกของฉากหิมะที่เขียนในปี ค.ศ. 1887 ที่เป็นภาพที่มองไปทางปราสาทเมิร์ธลีย์

ภาพประกอบ

มิเลมีความสำเร็จในการเขียนภาพประกอบ โดยเฉพาะสำหรับงานเขียนของแอนโทนี โทรลโลป (Anthony Trollope) และสำหรับโคลงกลอนสำหรับอัลเฟรด ลอร์ด เทนนีสัน งานภาพประกอบที่สลับซับซ้อนของตำนานแฝงคำสอนของพระเยซูพิมพ์ในปี ค.ศ. 1864 พ่อตาของมิเลจ้างให้สร้างหน้าต่างประดับกระจกสีตามภาพที่วาดที่วัดประจำท้องถิ่นที่คินโนลล์ นอกจากนั้นก็ยังเขียนภาพประกอบสำหรับนิตยสารเช่น "Good Words" ในปี ค.ศ. 1869 ก็ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินสำหรับนิตยสารที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ "The Graphic"

อาชีพทางสถาบันการศึกษา

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล โดยทอมัส บร็อก หอศิลป์เทตบริเตน

ในปี ค.ศ. 1853 มิเลได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสมทบของราชสถาบันศิลปะและไม่นานหลังจากนั้นก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกเต็มตัวของสถาบัน ซึ่งมิเลเป็นสมาชิกผู้มีบทบาท ในปี ค.ศ. 1885 มิเลได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์บารอน ซึ่งเป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล หลังจากที่เฟรเดอริก เลห์ตัน (Frederic Leighton) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1896 มิเลก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของราชสถาบันศิลปะ แต่มาเสียชีวิตในปีเดียวกันด้วยมะเร็งที่คอ ร่างของมิเลได้รับการบรรจุไว้ที่มหาวิหารเซนต์พอล

อนุสาวรีย์

เมื่อมิเลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1896 เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ก็ทรงเป็นประธานในคณะกรรมาธิการในการสร้างอนุสรณ์แก่มิเล[4] ซึ่งตั้งอยู่หน้าหอศิลป์เทตบริเตนในปัจจุบันในปี ค.ศ. 1905 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน "Pall Mall Gazette" บรรยายอนุสาวรีย์ว่าเป็น "อนุสาวรีย์ที่แสดงคุณลักษณะของบุคคลที่เรารู้จัก"[4]

ในปี ค.ศ. 1953 นอร์มัน รีดผู้อำนวยการของหอศิลป์พยายามจะนำรูปปั้น "นักบุญจอห์นแบปทิสต์" ของโอกุสต์ รอแด็งมาตั้งแทนที่ และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1962 ก็เสนอให้รื้อทิ้งโดยกล่าวว่าเป็น "สิ่งที่อันตราย" ความพยายามในการกำจัดอนุสาวรีย์ทำความอึดอัดใจให้แก่กระทรวงแรงงานผู้ที่เป็นผู้ดูแลรักษา แต่อำนาจในการเป็นผู้ดูแลรักษาถูกโอนไปเป็นของหอศิลป์เทตในปี ค.ศ. 1996[4] ในปี ค.ศ. 2000 ภายใต้การนำของเซอร์นิโคลัส เซโรตา อนุสาวรีย์ของมิเลก็ถูกย้ายไปอยู่หลังหอศิลป์[4]

ระเบียงภาพ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "Millais, John Everett" . Dictionary of National Biography (1st supplement) (ภาษาอังกฤษ). London: Smith, Elder & Co. 1901.
  2. Rose, Phyllis (1984). Parallel Lives: Five Victorian Marriages (ภาษาอังกฤษ). New York: Alfred A. Knopf. pp. 76–85. ISBN 0-394-52432-2.
  3. The Last Trek
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Birchall, Heather. "Sir Thomas Brock (ค.ศ. 1847-1922)" เก็บถาวร 16 พฤษภาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Tate online, กุมภาพันธ์ 2002. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya