จิงโจ้
จิงโจ้ จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง คลาสสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องในตัวเมียสำหรับแพร่ขยายพันธุ์และเป็นที่อยู่อาศัยของลูกอ่อน นับเป็นสัตว์ในประเภทนี้ที่มีขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของออสเตรเลีย จิงโจ้นั้นจัดออกได้เป็นหลากหลายประเภท ในหลายวงศ์, หลายสกุล แต่ทั้งหมดจัดอยู่ในอันดับ Macropodiformes หรือที่เรียกในชื่อสามัญว่า "แมคโครพอด" (Macropod) ที่หมายถึง "ตีนใหญ่" แต่ทั้งหมดก็มีรูปร่างคล้ายกัน (แต่โดยปกติแล้ว จิงโจ้จะหมายถึงแมคโครพอดที่อยู่ในสกุล Macropus) คือ มีขาหลังที่ยาวแข็งแกร่ง ทรงพลัง ใช้ในการกระโดด และมีส่วนหางที่แข็งแรง ใช้ในการทรงตัว และใช้ในการกระโดด [1] ลักษณะจิงโจ้มีขนาดที่หลากหลาย ตั้งแต่มีลำตัวสูงแค่ 30-45 เซนติเมตร จนถึงสูงได้ถึง 6 ฟุต น้ำหนักกว่า 1.5 ปอนด์[2] ลักษณะขางอเป็นรูป ตัว L กลับหัว[3] มีเท้าแบบคน ทำให้ไม่มีกำลังขาในการแตะ จากศัตรู และไม่สามารถเดินถอยหลังได้[4] การที่จิงโจ้ต้องมีขาหลังใช้ในการกระโดด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการวิวัฒนาการหรือการกลายพันธุ์ให้เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมที่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพภูมิอากาศของทวีปออสเตรเลีย อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า การกระโดดนั้นให้ผลในการเดินทางได้ดีกว่าวิ่งเหยาะ ๆ การที่จิงโจ้กระโดดแต่ละครั้งนั้น จะเริ่มจากนิ้วตีน และได้รับแรงส่งจากกล้ามเนื้อน่องที่แข็งแรง เอ็นร้อยหวายก็ยืดอย่างเต็มที่ ขณะที่ส่วนหางก็ใช้ในการรักษาสมดุล[1] ศัพทมูลวิทยาคำว่าจิงโจ้ในภาษาไทย ยังไม่ทราบที่มาที่ไปของศัพท์คำนี้ แต่ในชื่อภาษาอังกฤษที่ว่า "kangaroo" (/แคง-กา-รู/) นั้นมีที่มาจาก เมื่อชาวตะวันตกมีการค้นพบทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ได้พบเห็นจิงโจ้กระโดดไปมามากมาย และมีขน ด้วยไม่รู้ว่าคือสัตว์อะไร จึงถามชาวอะบอริจินส์ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียด้วยภาษาของตน แต่ชาวอะบอริจินส์รับฟังไม่ออก จึงกล่าวว่า "Kangaroo" ซึ่งแปลว่า "ฉันไม่เข้าใจ" อันเป็นที่มาของชื่อสามัญของจิงโจ้ในภาษาอังกฤษ[5] วิวัฒนาการจิงโจ้นั้นวิวัฒนาการเมื่อกว่า 45 ล้านปีก่อนมาจากสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างคล้ายหนู ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังอาศัยอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย เรียกว่า "จิงโจ้หนูวูยลีย์" แม้ไม่สามารถกระโดดได้ แต่ก็มีขาหลังที่ใหญ่ และสามารถนั่งพักบนหางตัวเองได้เหมือนเช่นจิงโจ้ในปัจจุบัน ต่อมา 7 ล้านปีก่อน วอลลาบี หรือจิงโจ้แคระก็ได้กำเนิดขึ้นมา ซึ่งบางชนิดก็ได้วิวัฒนาการตัวเองให้เหมาะสมแก่การปีนป่ายอาศัยอยู่ตามโขดหินผาต่าง ๆ และ 5 ล้านปีต่อมา จิงโจ้สีเทา นับเป็นจิงโจ้ชนิดแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมา และ 1 ล้านปีต่อมา จิงโจ้แดง ซึ่งเป็นจิงโจ้และสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดที่ใหญ่ที่สุดก็ถือกำเนิดขึ้นมา[1] อาหารจิงโจ้เป็นสัตว์กินพืชเป็นหลัก เช่น หญ้า และกินแมลงบางชนิดเพื่อเพิ่มโปรตีนให้กล้ามเนื้อด้วย การจำแนกเฉพาะจิงโจ้ที่อยู่ในสกุล Macropus มีทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่
การขยายพันธุ์การขยายพันธุ์ของจิงโจ้ นั้นเป็นการเลี้ยงตัวอ่อนด้วยน้ำนม โดนการตั้งท้องประมาณ 30-45 วัน หลังจากนั้น ตัวอ่อนที่ยังไม่มีขนจะคลานมาจนถึงกระเป๋าหน้าท้องแล้วเลี้ยงตัวเองด้วยน้ำนมจนโตประมาณ 1 ปี ถึงจะออกจากกระเป๋าหน้าท้อง แม้จะมีลูกได้ครั้งละ 1 ตัว แต่จิงโจ้สามารถที่จะมีลูกได้มากกว่า 1 ตัว ในถุงหน้าท้อง โดยลูกจิงโจ้แต่ละตัวจะมีขนาดไม่เท่ากัน เพราะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งมีตัวอ่อนในตัวของแม่จิงโจ้ ขณะที่ลูกจิงโจ้แรกคลอดยังคงคลานไปดูดนมอยู่ก็มี จิงโจ้จะมีเต้านมทั้งหมด 4 เต้า 2 เต้าแรกมีความยาวไว้สำหรับลูกจิงโจ้วัยอ่อนใช้ดูดกิน น้ำนมในส่วนนี้ มีคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันต่ำ ขณะที่อีก 2 เต้าจะมีขนาดสั้น ไว้สำหรับลูกจิงโจ้ที่โตแล้วดูดกิน มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันสูง ขณะที่แม่จิงโจ้มีลูกวัยอ่อน ตัวอ่อนที่ยังไม่คลอดออกมา จะหยุดพัฒนาการเพื่อรอให้ลูกจิงโจ้วัยอ่อนนั้นเติบโตขึ้นมา แล้วจึงมาแทนที่ จิงโจ้จึงเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์และแพร่ขยายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ขณะที่ลูกจิงโจ้โตพอที่จะออกมาอยู่ข้างนอกได้แล้ว และในถุงหน้าท้องมีลูกจิงโจ้อีกตัวที่ยังอาศัยอยู่ แม่จิงโจ้จะไล่ให้ลูกตัวที่โตกว่าไม่ให้เข้ามา อาจจะให้แค่โผล่หัวเข้าไปดูดนม ซึ่งเวลานี้ลูกจิงโจ้ก็ถึงวัยจะที่กินหญ้าเองได้แล้ว แต่ก็มีถึงร้อยละ 80 ที่ลูกจิงโจ้จะตายลงเมื่ออายุได้ 2 ปี เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง[1] ดูเพิ่มอ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ จิงโจ้ |