Share to:

 

ชี่นโล่น

ชี่นโล่น (พม่า: ခြင်းလုံး, ออกเสียง: [t͡ɕʰɪ́ɰ̃.lóʊ̯ɰ̃]) เป็นการละเล่นหรือกีฬาดั้งเดิมของพม่า มีลักษณะผสมผสานระหว่างกีฬากับการเต้นรำ โดยทั่วไปเป็นการเล่นโดยไม่มีคู่แข่งหรือฝ่ายตรงกันข้าม นัยสำคัญของชี่นโล่นจึงไม่ใช่การแข่งขัน จุดเน้นไม่อยู่ที่การชนะหรือแพ้ หากเป็นความสวยงามของท่วงท่าลีลาที่นักชี่นโล่นจะเล่นในเกมลูกหวายมากกว่า

การเล่นชี่นโล่นในพม่า

การเล่น

ชี่นโล่นโดยทั่วไปจะเล่นกันเป็นทีม เรียกว่าวง ประกอบผู้เล่น 6 คน ซึ่งจะส่งลูกลูกไปมาด้วยส่วนต่าง ๆ ของเท้า เข่า ศีรษะ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายซึ่งไม่ใช่ฝ่ามือ เอกลักษณ์ประการหนึ่งของชี่นโล่นคือจะมีผู้เล่นคนหนึ่งเข้าไปเล่นกลางวงในลักษณะการแสดงเดี่ยว (solo performance) โดยการสร้างสรรค์ท่วงท่าลีลาหลากหลาย ผสมผสาน และต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อนร่วมวงจะช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนในการช่วยกอบกู้ลูกซึ่งอาจกระเด็นหลุดออกมาจากการควบคุมและป้อนส่งลูกกลับเข้าไปให้เล่นอย่างรวดเร็วไม่ให้ขาดตอน เมื่อลูกตกพื้นก็ถือเป็นลูกตาย การเล่นจะเริ่มใหม่โดยการโยนลูกด้วยมือให้เล่นกันต่อไป

นักชี่นโล่นจะเล่นโดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นจุดสัมผัสลูกตามมาตรฐาน 6 จุด ได้แก่ หลังเท้า หน้าเท้า ข้างเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้า และเข่า จากจุดมาตรฐานทั้งหกนี้พัฒนาเป็นท่าหลัก 3 ชุด ชุดละ 10 ท่า รวม 30 ท่าซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับกันเป็นแบบในการฝึกฝนของนักชี่นโล่น ท่าหลักชุดที่ยากที่สุดเรียกว่าชีนจี รองลงมาเรียกว่าชีนและคิดเซ็นตามลำดับ ชี่นโล่นมีความเป็นมายาวนานกว่า 1,500 ปีและมีการสร้างสรรค์ท่าทางหลากหลายซับซ้อนเรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันมีท่านับจำนวนได้มากกว่า 200 ท่า ท่าทางจำนวนหนึ่งมาจากศิลปะในการร่ายรำและการต่อสู้ ท่ายาก ๆ จำนวนมากเล่นในขณะลูกมาทางด้านหลังโดยผู้เล่นไม่เห็นลูกเลย การจัดท่าทางของร่างกายเป็นส่วนสำคัญของการเล่นชี่นโล่น ผู้เล่นต้องจัดระเบียบของเท้า แขน มือ ลำตัว และศีรษะให้ถูกต้องตามแบบแผน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเล่นได้ถูกต้องสวยงาม[1]

เกร็ดน่ารู้

สนามชี่นโล่น

ชี่นโล่นในภาษาพม่าแปลว่า "ตะกร้ากลม" ลูกชี่นโล่นสานจากหวายจากธรรมชาติ เมื่อถูกกระทบด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายถือเป็นเสน่ห์งดงามอย่างหนึ่งของชี่นโล่น

นักชี่นโล่นส่วนใหญ่เล่นด้วยเท้าเปล่า แม้ในระยะหลังจะมีรองเท้าชี่นโล่นโดยเฉพาะ (ทำด้วยผ้าหรือหนังที่บางเบาและยืดหยุ่นโค้งงอได้ดี สำหรับเล่นท่าทางได้หลากหลายมากกว่ารองเท้ากีฬาทั่วไป) แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยเฉพาะนักชี่นโล่นฝีเท้าเลิศยังลังเลใจที่จะใช้รองเท้า เนื่องจากทำให้ศักยภาพการเล่นด้อยลงไป

สนามขนาดวงมาตรฐานมีความเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.7 เมตร (22 ฟุต) พื้นผิวที่ดีที่สุดสำหรับการเล่นชี่นโล่นคือพื้นดินเหนียวนุ่มและแห้ง แต่โดยปกติแล้วสามารถเล่นบนพื้นใด ๆ ก็ได้ที่มีความราบเรียบเพียงพอ

ชาวพม่านิยมจัดให้มีการเล่นชี่นโล่นในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีวงชี่นโล่นเข้าร่วมมากมาย มีโฆษกคอยพากย์ชื่อท่าที่เล่นและให้ความบันเทิงผู้ชมด้วยถ้อยคำหยอกล้อสนุกสนาน มีดนตรีปี่พาทย์หรือวงมโหรีบรรเลงประกอบทำให้เกิดความเร้าใจแก่ผู้เล่นและผู้ชม

ทั้งผู้ชายผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่ มักจะเล่นชี่นโล่นวงเดียวกันได้เป็นปกติ แต่นอกเหนือจากการเล่นแบบวง ซึ่งเรียกว่า "เวนกะ" (wein kat) แล้วยังมีการแสดงเดี่ยวโดยไม่มีวงประกอบ เรียกว่า "ตะปานไดง์" (tapandaing) ที่ตามธรรมเนียมแล้วแสดงโดยผู้หญิงเท่านั้น

การจะเล่นชี่นโล่นวงได้ดีนั้นสมาชิกในวงทั้งหมดต้องจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะนั้น จิตใจไม่อาจวอกแวกไปไหนไม่เช่นนั้นลูกชี่นโล่นจะตก ประสบการณ์สงบนิ่งและเข้มข้นของจิตใจเช่นนี้ บางคนเปรียบเทียบว่าคล้ายกับการได้สมาธิในทางพุทธศาสนา

ชี่นโล่นเป็นการละเล่นหนึ่งในตระกูลเกมบอลซึ่งเล่นกันทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเกมที่คล้ายคลึงกัน เช่น ตะกร้อวงในไทย เซปักรากาในมาเลเซีย ซีปาในฟิลิปปินส์ กะต้อในลาว เป็นต้น

คลังภาพ

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya