พระคุณเจ้า ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เป็นมุขนายกองค์ที่ 3 แห่งเขตมิสซังนครราชสีมา พื้นเพเป็นชาวราชบุรี ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกเขตมิสซังนครราชสีมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006[1]
ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ได้รับอภิเษกเป็นมุขนายกโดยพระคุณเจ้ายออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ มุขนายกกิตติคุณ ณ อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา
ประวัติการศึกษา
- ค.ศ.1965 ปีที่ 4 จากโรงเรียนดรุณานุเคราะห์
- ค.ศ.1973 จบชั้น ม.ศ. 5 จากโรงเรียนดรุณาราชบุรี
- ค.ศ.1979 ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาปรัชญาและศาสนา ที่วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน
- ค.ศ.1982 ปริญญาตรี ศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาเทววิทยา วิทยาลัยแสงธรรม
- ค.ศ.1985 ปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์บัณฑิต เอกบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ค.ศ.1990 ปริญญาโท ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต เอกเทววิทยา จากเมรี่โนลล์ สกูล ออฟ ทีโอยี รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
- ค.ศ.1996 จบหลักสูตรบริหารการศึกษา (MMED) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
- ค.ศ.2001 ปริญญาโท ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MA และ STL) เหรียญเงินจากมหาวิทยาลัยซางโตโทมัส ประเทศฟิลิปปินส์
ประวัติการทำงาน
งานอภิบาลประจำโบสถ์คาทอลิก[2]
- ค.ศ. 1988 อธิการโบสถ์แม่พระมหาทุกข์ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- ค.ศ. 1991-1995 อธิการโบสถ์แม่พระถวายองค์ในพระวิหาร ลูกแก
- ค.ศ. 1997 อธิการโบสถ์แม่พระราชินีแห่งสากลโลก จังหวัดกาญจนบุรี
งานโรงเรียน
- ค.ศ.1984 ครูใหญ่โรงเรียนดรุณาราชบุรี จังหวัดราชบุรี
- ค.ศ.1987 ครูใหญ่และผู้จัดการโรงเรียนดรุณาราชบุรี จังหวัดราชบุรี
- ค.ศ.1988 อธิการและผู้จัดการโรงเรียนวีรศิลป์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ค.ศ.1991-1995 อธิการ ผู้จัดการครูใหญ่โรงเรียนธีรศาสตร์ จังหวัดราชบุรี และประธานกลุ่มโรงเรียนเอกชน อำเภอบ้านโป่ง
- ค.ศ.1996-1997 อธิการและผู้จัดการโรงเรียนดรุณากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และประธานกลุ่มโรงเรียนเอกชน จังหวัดกาญจนบุรี
งานระดับเขตมุขมณฑล
- ค.ศ. 1998-2000 รองเลขาธิการเขตมิสซังราชบุรีและเหรัญญิก (ดูแลที่ดิน)
งานระดับชาติ
- ค.ศ.1995 เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
- ค.ศ.1996-2000 ประธานอนุกรรมการการนำวัฒนธรรมเข้าสู่พิธีกรรม สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานของสภาฯ กับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
- ค.ศ.1999-2000 เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา และวัฒนธรรมสัมพันธ์ สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
- ค.ศ. 2007 สมาชิกคณะกรรมาธิการการศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่ประชาชน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมแก่นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ[3]
กระแสเรียกสู่ชีวิตนักบวช
กระแสเรียกของท่านเริ่มต้นด้วยการเข้าเซมินารี ท่านได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวง ในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ณ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน
ต่อมาท่านได้รับการประกาศแต่งตั้งจากองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ให้เป็นมุขนายกเขตปกครองมุขมณฑลนครราชสีมา ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 และมีพิธีอภิเษกเป็นมุขนายกในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ณ อาสนวิหารแม่พระประจักษ์ที่เมืองลูร์ด นครราชสีมา โดยมุขนายกกิตติคุณ พระคุณเจ้า ยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ เป็นประธานและเป็นผู้อภิเษก
เส้นทางของกระแสเรียกก็มาลงเอยในลักษณะ เช่นนี้ หลายคนคงไม่รู้เหมือนกันหรอกว่า คำพูดของตนเองกลายเป็นเสียงที่พระใช้เรียก ใช้สอน ใช้บอกใช้เตือน ดังตัวอย่างกระแสเรียกการเป็นพระสังฆราชของผม ซึ่งมาจากบางคนที่เป็นฆราวาสธรรมดาหรือจากซิสเตอร์ พระสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ให้การอบรม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ตอบแทน แต่อย่างใด แต่ก็เป็นถ้อยคำที่มาจากความจริง เหมือนท่านผู้เฒ่าซีเมโอนและนางอันนาผู้เผยพระวจนะหญิงของพระเจ้าที่ได้มาพบพระกุมารในพระวิหาร ท่านทั้งสองได้กล่าวสรรเสริญโมทนาคุณพระเจ้าและกล่าวคำพยากรณ์สำหรับทารกผู้นี้ ซึ่งต้องทำให้บิดามารดาของพระเยซูเจ้ารู้สึกประหลาดใจและเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ (ลก.2:21-38) อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว สุขหรือทุกข์ ก็ขอให้ทุกกิจการที่จะกระทำเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าเสมอไป AD GLORIAM DEI
— พระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
ประกาศแต่งตั้งมุขนายกเขตมิสซังนครราชสีมา
สำนักเลขาธิการสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้รับแจ้งข่าวจากสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย แจ้งให้ทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงแต่งตั้งบาทหลวงยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เป็นมุขนายก เขตปกครองมุขมณฑลนครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006
หลายคนถามผมว่ารู้สึกอย่างไรกับการเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลนครราชสีมา จะบอกว่าผมไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากมายนัก หลายคนที่เคยรู้จักเป็นญาติ เป็นเพื่อน ผู้ร่วมงานหรือเป็นสัตบุรุษดูจะมีความยินดีมากกว่าผมซะอีก (เพราะผมไม่แสวงหา อยากได้ อยากเป็นพระสังฆราช) เพราะดูแล้วจะมีภารกิจมากกว่ามีเกียรติ ต้องทำงานหนักกว่าที่เคยทำ เป็นเป้าหมายให้ถูกวิจารณ์มากกว่าเป็นพระสงฆ์ ผมคิดเพียงว่านี่เป็นการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนหน้าที่ ท่านสมณทูตบอกว่าเราต้องช่วยเหลือกัน เราเป็นพระศาสนจักรเดียวกัน ดังนั้น จะทำหน้าที่ที่ราชบุรีหรือที่โคราชก็เท่ากับว่าช่วยงานให้พระศาสนจักรเหมือนกัน หลักการที่ผมมีจิตใจตอบรับคำเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปา ตั้งแต่ในช่วงวันแรก ก็คือนบนอบผู้ใหญ่ ตอนเป็นเณรผมทำตามที่ผู้ใหญ่บอก ตอนเป็นพระสงฆ์ผมทำงานตามที่พระสังฆราชสั่งเสมอมาถึงครั้งนี้ผมก็ขอทำตามที่สมเด็จพระสันตะปาปา เชื้อเชิญ ชีวิตก็ง่ายๆ แบบนี้แหละ
สังฆมณฑลนครราชสีมาแม้ไม่ใหญ่โต แต่ก็สงบสุข มีความเป็นปึกแผ่น พระสังฆราชพเยาว์ ก็ยังอยู่ช่วยผมต่อไป ผมมีเวลาศึกษาหาข้อมูล ซึ่งคงใช้เวลาไม่นานนัก แล้วก็คงเดินหรือวิ่งสู่เป้าหมายในอนาคต
— พระคุณเจ้าชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
ตราประจำตำแหน่ง และคติพจน์
ความหมายของตราประจำตำแหน่ง
ดาว หมายถึง พระนางมารีย์พรหมจารี
ช่อซ่อนกลิ่น อันเป็นสัญลักษณ์ของนักบุญยอแซฟ ซึ่งเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของพระคุณเจ้าชูศักดิ์
นกพิราบคาบกิ่งมะกอก หมายถึง สันติภาพ ศาสนสัมพันธ์
พระคัมภีร์และศีลมหาสนิท เพราะปีที่ได้รับการอภิเษกเป็นปีพระวาจา
คติพจน์
“AD GLORIAM DEI” แปลว่า “เพื่อพระสิริของพระเจ้า”
บทบาทด้านคุณธรรมจริยธรรมที่ประจักษ์ต่อสังคม[3]
- ร่วมขับเคลื่อนคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาเครือข่ายเครือข่ายคาทอลิก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายคาทอลิกให้เป็นต้นแบบโรงเรียนคุณธรรม พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถดำเนินการปลูกฝังด้านคุณธรรมจนเกิดเป็นรูปธรรม และขยายผลโรงเรียนในเครือข่ายคาทอลิกทั่วประเทศ ให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมตามวิถีคริสต์
- ร่วมจัดเวทีประชุมหารือการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมตามวิถีคริสต์
- ร่วมขยายผลโรงเรียนคุณธรรมตามวิถีคริสต์ไปยังโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบภาคอีสานตอนล่างจำนวน ๑๑ โรงเรียน โดยการนำกระบวนการพัฒนาโรงเรียนมารีอานุสรณ์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอาทิเช่น การค้นหาอัตลักษณ์ รัก เมตตา ซื่อสัตย์ อยู่อย่างพอเพียง ขยายผลให้กลุ่มรักกางเขนจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๕ โรงเรียน
- ร่วมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างศาสนาต่างๆด้วยการอบรม บรรยาย เสวนา และสัมมนาในงานประชุมทางวิชาการต่างๆ อีกทั้งยังมีบทบาทร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายยุวชนศาสนิกสัมพันธ์ด้วย
- ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
- เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมตามหลักธรรมของศาสนาคริสต์และพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายคาทอลิกให้เป็นต้นแบบโรงเรียนคุณธรรมตามวิถีคริสต์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น