Share to:

 

ดิน

ชั้นดินที่อยู่ใต้รากของพืช

ดิน หมายถึง วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการสลายตัวทางกายภาพ และทางเคมีของหินและแร่ รวมกับสารอินทรีย์ ที่เกิดจากการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์เป็นผิวชั้นบนที่ห่อหุ้มโลก ซึ่งดินจะมีลักษณะและคุณสมบัติต่างกันไปในที่ต่างๆ ตามสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิด สิ่งมีชีวิตและระยะเวลาการสร้างตัวของดิน

ประเภทของดิน

This is a diagram and related photograph of soil layers from bedrock to soil.
แบ่งตามชั้นดิน (soil profile) จากบนลงล่าง ชั้นดินอินทรีย์ (O), ชั้นดินบน (A), ชั้นชะล้าง (E), ชั้นดินล่าง (B) และ ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C) โดยมีชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน หรือ หินพื้น (R) อยู่ด้านล่างสุด[1]

สามารถแบ่งประเภทของดินได้ในหลายปัจจัย ดังนี้[2]

  • แบ่งตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินที่ลุ่ม (หรือเรียก ดินนา), ดินที่ดอน (หรือ ดินไร่)
  • แบ่งตามความลึกของดิน ได้แก่ ดินตื้นมาก, ดินตื้น, ดินลึกปานกลาง และดินลึก-ลึกมาก หรือแบ่งตามชั้นดิน หรือชั้นกำเนิดดิน ซึ่งมี 5 ชั้น คือ ชั้นดินอินทรีย์ (O), ชั้นดินบน (A), ชั้นชะล้าง (E), ชั้นดินล่าง (B) และ ชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน (C)[3]
  • แบ่งตามวัสดุที่เป็นองค์ประกอบในดิน ได้แก่ ดินอนินทรีย์, ดินอินทรีย์
  • แบ่งตามพัฒนาการ
  • แบ่งตามเนื้อดิน ได้แก่ ดินร่วน, ดินเหนียว, ดินทราย
  • แบ่งตามสมบัติ ได้แก่ ดินดี, ดินเลว

เนื้อดิน

ชนิดของดิน แบ่งตามเนื้อดิน อ้างอิงกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)

เนื้อดิน (soil texture) คือ องค์ประกอบเชิงกายภาพของดิน เป็นคุณสมบัติที่บอกถึงความหยาบหรือละเอียดของอนุภาคตะกอนหลาย ๆ ขนาดที่ประกอบขึ้นเป็น"อนุภาคของดิน" ซึ่งอนุภาคเหล่านี้จะมีขนาดไม่ท่ากัน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ขนาดใหญ่เรียกว่าอนุภาคขนาดทราย (sand) (2.0-0.05 มิลลิเมตร) ขนาดกลางเรียกว่าอนุภาคทรายแป้ง (silt) (0.05-0.002 มิลลิเมตร) และขนาดเล็กที่สุดคืออนุภาคดินเหนียว (clay) (< 0.002 มิลลิเมตร)[4][1]

การรวมตัวกันของอนุภาคทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว ในสัดส่วนที่แตกต่างกันทำให้เกิดเป็นเนื้อดินชนิดต่าง ๆ ขึ้น ในการจำแนกชนิดของเนื้อดินนั้นจะถือสัดส่วนร้อยละที่ประกอบของอนุภาคต่างขนาดเหล่านี้ที่มีอยู่ในดินนั้น ๆ เป็นหลัก โดยทั่วไปในประเทศไทยเนื้อดินอาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ ดินทราย (sandy soil) ดินร่วน (loamy soil) และดินเหนียว (clay soil)[4]

ดินทราย

เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวม ๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยว ๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวม ๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที[4]

ดินร่วน

เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก[4]

ดินเหนียว

เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน ติดมือง่าย[4]

แผนภาพสามเหลี่ยมเนื้อดิน

การกำหนดชนิดของเนื้อดินมักใช้ระบบสามส่วนประกอบ (แผนภาพสามเหลี่ยม) ในการแบ่งชนิดของเนื้อดิน[5] เรียก แผนภาพสามเหลี่ยมเนื้อดิน หรือ ตารางสามเหลี่ยมเนื้อดิน (soil texture triangle) (ดังตัวอย่างของแผนภาพสามเหลี่ยมที่ด้านขวาของหน้า) ด้านหนึ่งของแผนภาพสามเหลี่ยมแทนสัดส่วนของทราย ด้านที่สองแทนสัดส่วนของดินเหนียว และด้านที่สามแทนเสัดส่วนของทรายแป้ง แมื่อทราบนสัดส่วนเป็นร้อยละของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว ในตัวอย่างดิน จะสามารถใช้แผนภาพสามเหลี่ยมในการระบุชนิดของเนื้อดินของดินตัวอย่างได้ เช่น ถ้าดินเป็นทรายร้อยละ 70 และดินเหนียวร้อยละ 10 ดินจะจัดเป็นดินทรายร่วน (loamy sand) สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้โดยเริ่มจากด้านใดก็ได้ของแผนภาพสามเหลี่ยมชนิดของเนื้อดิน และหากใช้วิธีการสัมผัสเพื่อกำหนดระบุชนิดของดิน (texture by feel method) แผนภาพสามเหลี่ยมยังสามารถให้ค่าประมาณคร่าวเกี่ยวกับสัดส่วนเป็นร้อยละของทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวในดินได้

คุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของดินสัมพันธ์กับเนื้อสัมผัส ขนาดและการกระจายของอนุภาคจะส่งผลต่อความจุของดินในการกักเก็บน้ำและสารอาหาร ดินที่มีเนื้อละเอียดโดยทั่วไปจะมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้สูงกว่า ในขณะที่ดินทรายจะมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่น้ำไหลผ่านและสามารถชะล้างสารอาหารออกไปได้มากกว่า[6]

ในทางปฐพีวิทยา (ซึ่งอ้างอิงการแบ่งตามกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA)) แบ่งดินออกตามสัดส่วนการกระจายตัวของอนุภาคของดินเป็น 12 ชนิด[7][1][8] คือ

  • ทราย (sands)
  • ทรายปนดินร่วน (loamy sand)
  • ดินร่วนปนทราย (sandy loam)
  • ดินร่วน (loam)
  • ดินร่วนปนทรายแป้ง (silt loam)
  • ทรายแป้ง (silt)
  • ดินร่วนเหนียวปนทราย (sandy clay loam)
  • ดินร่วนเหนียว (clay loam)
  • ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง (silty clay loam)
  • ดินเหนียวปนทราย (sandy clay)
  • ดินเหนียวปนทรายแป้ง (silty clay)
  • ดินเหนียว (clay)

อนุภาคของดิน

อนุภาคของดินแบ่งออกเป็น 3 ชนิดโดยกว้างแล้ว ในการแบ่งอนุภาคขนาดทรายยังสามารถแบ่งย่อยเป็นอีก 4 ชนิดคือ ทรายละเอียดมาก, ทรายละเอียด, ทรายละเอียดปานกลาง ทรายหยาบ และทรายหยาบมาก[9] ซึ่งแต่ละประเทศมีการจำแนกขนาดอนุภาคของตนเองที่ไม่เท่ากัน

ประเภทของอนุภาคของดิน เส้นผ่านศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)(อ้างอิงการแบ่งตาม USDA ) เส้นผ่านศูนย์กลาง (มิลลิเมตร)(อ้างอิงการแบ่งตาม IUSS และ WRB classification)
ดินเหนียว (clay) น้อยกว่า 0.002 น้อยกว่า 0.002
ทรายแป้ง (silt) 0.002 – 0.05 0.002 – 0.063
ทรายละเอียดมาก (very fine sand) 0.05 – 0.10 0.063 – 0.125
ทรายละเอียด (fine sand) 0.10 – 0.25 0.125 – 0.20
ทรายละเอียดปานกลาง (medium sand) 0.25 – 0.50 0.20 – 0.63
ทรายหยาบ (coarse sand) 0.50 – 1.00 0.63 – 1.25
ทรายหยาบมาก (very coarse sand) 1.00 – 2.00 1.25 – 2.00

ดินทางด้านวิศวกรรม

ดิน เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นฐานในงานวิศวกรรมโยธา ใช้เป็นวัสดุถมในงานก่อสร้างต่าง ๆ เช่นงานถมเพื่อยกระดับบริเวณอาคาร ถนน เขื่อน และใช้เป็นวัสดุผสมสำหรับทำอิฐหรือ ในบางกรณีอาจเพิ่มวัสดุอื่น เช่นปูนขาว เพื่อช่วยในการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีคุณสมบัติในการรับกำลังได้มากขึ้นเพื่อผลทางด้านวิศวกรรม บางวัฒนธรรมนำดินมาปั้นเป็นตัวบ้านที่อยู่อาศัยโดยตรง

ดินใช้เวลาก่อตัวนานแค่ไหน

ดินต้องใช้เวลา 500 ถึงหลายพันปีในการสร้างดินชั้นบนให้ได้หนึ่งนิ้ว เหตุผลก็คือดินมักจะได้มาจากหิน ก้อนหินต้องแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อน สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการผุกร่อนทางกายภาพ เช่น การผุกร่อนของหินในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และการผุกร่อนทางเคมีในสภาพอากาศที่อุ่นกว่า เมื่อรอยแตกก่อตัวในหินและพืชจะสามารถหยั่งรากไปตามรอยแตกได้ พืชจะทำลายหินเป็นชิ้นเล็กๆ ต่อไปโดยการทำงานของราก และเริ่มเพิ่มอินทรียวัตถุ การผุกร่อนทางเคมียังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนชิ้นหินให้เป็นทราย ทรายแป้ง และอนุภาคดินเหนียวที่ประกอบเป็นดิน[10]

ประโยชน์ของดิน

  • ดิน เป็นวัสดุทำเครื่องปั้นดินเผา ดินที่นำมาใช้ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นดินเหนียวที่มีเนื้อละเอียด
  • สามารถทำเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้
  • ดินมีไว้สำหรับปลูกพืช
  • เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ

ลักษณะของดินที่สร้างปัญหาให้แก่เกษตรกร

ดินเปรี้ยว หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า acid soil หมายถึงดินที่มีสภาพความเป็นกรดสูง ค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่า pH จะไล่ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 14 ค่าที่เป็นกลางคือ 7 ถ้าค่า pH ต่ำกว่า 7 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรด และถ้าค่า pH ต่ำกว่า 4 แปลว่าดินมีสภาพเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด ซึ่งหนังสือคำบัญญัติศัพท์ภูมิศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายดินเปรี้ยวจัด ดินกรดจัด หรือดินกรดกำมะถันไว้ว่า acid sulfate soil ที่เรียกว่าดินเปรี้ยวนั้นเพราะว่าดินมีกรด sulfuric ปะปนอยู่ ซึ่งกรดที่ว่านี้มีรสเปรี้ยว แล้วสาเหตุที่ดินเปรี้ยวแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า acid soil ก็เพราะ acid นั้นแปลว่ากรด และ soil แปลว่าดิน ซึ่งเป็นดินชั้นบนสุดของพื้นผิวโลกที่พืชสามารถเจริญเติบโต

 ดินพรุ   คือดินในพื้นที่พรุที่แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินในพื้นที่พรุซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของภาคใต้แปลว่าพื้นที่ที่มีน้ำขัง มีลักษณะเป็นอินทรียวัตถุ หรือซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยทับถมอยู่ข้างบน และมีสารประกอบกำมะถันที่เรียกว่าสารประกอบไพไรท์อยู่มาก เมื่อต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุ จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกจากพื้นที่จนหมด และเมื่อดินแห้ง สารประกอบไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินมีความเป็นกรดจัด หรือเปรี้ยวจัด ดังนั้น คำว่าดินพรุจึงใช้คำภาษาอังกฤษเช่นเดียวกับดินเปรี้ยว

ดินเค็ม  หรือ saline soil คำว่า saline แปลว่ามีส่วนผสมของเกลือ หรือมีเกลือปะปนอยู่ ซึ่งดินเค็มก็คือดินที่มีปริมาณเกลือละลายอยู่ในดินมากเกินไป ทำให้ดินขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อพืช ทั้งยังทำให้ธาตุอาหารของพืชไม่มีความสมดุล

ดินจืด นั้น ไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการเนื่องจากเป็นภาษาพูดที่ใช้เรียกดินที่มีแร่ธาตุสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ทำให้การเพาะปลูกไม่เจริญงอกงาม ต้องใส่ปุ๋ยหรือสารอาหารบำรุงดิน[11]

วิชาที่เกี่ยวกับดิน

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 "4. ธรณีประวัติ - :: โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ ::". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-17.
  2. "::ประเภทของดิน::". osl101.ldd.go.th.
  3. "สมบัติของดิน". 119.46.166.126.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "::สมบัติทางกายภาพ : เนื้อดิน::". osl101.ldd.go.th.
  5. Soil Survey Division Staff (1993). Soil survey manual. United States Department of Agriculture. pp. 63–65. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-19. สืบค้นเมื่อ 30 August 2014.
  6. Lindbo, Hayes, Adewunmi (2012). Know Soil Know Life: Physical Properties of Soil and Soil Formation. Soil Science Society of America. p. 17. ISBN 9780891189541.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  7. Soil Science Division Staff. 2017. Soil survey sand. C. Ditzler, K. Scheffe, and H.C. Monger (eds.). USDA Handbook 18. Government Printing Office, Washington, D.C.
  8. "หิน (Rocks)". web.archive.org. 2005-12-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-17.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  9. "Page 70 - แนวทางการศึกษาดินตัวแทนหลักสำหรับพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย". e-library.ldd.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-17.
  10. aroonwa (2021-11-02). "ดินทำมาจากอะไร?". สวนผักคนเมือง.
  11. administrator. "ดิน". www.chaipat.or.th.
Kembali kehalaman sebelumnya