ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นตำนานเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรล้านนาและความสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น สยาม จีนตอนใต้ พม่า มอญ ล้านช้าง และญวน ยังมีเรื่องราวตำนานอเนกประสงค์ทั้งตำนาน นิทาน พงศาวดาร จดหมายเหตุและศาสนประวัติในเล่มเดียวกัน เนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานชุมชน นครรัฐ แคว้นน้อยใหญ่ พัฒนาไปจนถึงราชอาณาจักร ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มังรายที่ทรงสืบเชื้อสายมาจากลวจักรราช[1] ตำนานมีหลายฉบับซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน บางฉบับใช้จุลศักราช บางฉบับใช้พุทธศักราช ปัจจุบันมีการตรวจสอบชำระตำนานใช้ชื่อว่า ตำนานฉบับ 700 ปี[2]
ฉบับ
ฉบับที่ถือว่าเป็นฉบับปฐมภูมิคือ ฉบับวัดพระงามและฉบับ CMA.HPms.[3]
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม จังหวัดเชียงใหม่ จ.ศ. 1216 จากหอสมุดแห่งชาติ
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ CMA.HPms. จารเมื่อ จ.ศ. 1288 จาก ดร. ฮันส์ เพนท์ มีจำนวนใบลานทั้งหมด 8 ผูก ต้นฉบับได้มาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าคัดลอกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดอัฏฐารส จังหวัดลำพูน จารเมื่อ จ.ศ. 1244
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดหลวง จังหวัดแพร่ จารเมื่อ จ.ศ. 1246
- ตำนาน 15 ราชวงศ์ ฉบับวัดเมธังกราวาส จังหวัดแพร่ จารเมื่อ จ.ศ. 1251
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับนอตอง ตีพิมพ์ที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ. 2475 แปลจากอักษรธรรมครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย คาร์มิล นอตอง อดีตกงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองเชียงใหม่[4]
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพิชัย จังหวัดลำปาง จารเมื่อ พ.ศ. 2489
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ จารเมื่อ พ.ศ. 2510
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2514
- พงศาวดารโยนก ของ พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) พ.ศ. 2516
- สิบห้าราชวงศ์ ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2518
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี พิมพ์ พ.ศ. 2538
- The Chiang Mai Chronicle ฉบับแปลภาษาอังกฤษ พิมพ์ พ.ศ. 2538 ปรับปรุง พ.ศ. 2541
- ตำนานเมืองเชียงใหม่ แต่งโดยพระครูโสภณกวีวัฒน์ (ธนจรรย์ สุระมณี) พิมพ์ พ.ศ. 2550
อ้างอิง