Share to:

 

ทะเลทรายนามิบ

เนิน 7: เนินทรายที่สุงที่สุดในโลก สูง 383 เมตร

ทะเลทรายนามิบ (อังกฤษ: Namib Desert) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งประเทศนามิเบีย ทอดตัวยาวตั้งแต่ประเทศแองโกลาทางทิศเหนือทาบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในประเทศนามิเบีย ไปสุดที่แม่น้ำออเรนจ์ตรงพรมแดนระหว่างประเทศนามิเบียกับประเทศแอฟริกาใต้ มีความยาวประมาณ 2,000 กิโลเมตร มีช่วงความกว้างตั้งแต่ 10-160 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,250,000 ไร่ เป็นหนึ่งในทะเลทรายที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลก โดยคาดว่ามีอายุอย่างน้อย 55 ล้านปี สภาพโดยทั่วไปเวิ้งว้างและเต็มไปด้วยหมอก ทะเลทรายนามิบถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยแม่น้ำควีเซบซึ่งไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่อ่าววอลวิส

  • ทะเลทรายนามิบทางส่วนเหนือเป็นที่ราบกรวดหินชายฝั่งทางทิศตะวันตกได้ชื่อว่า "ชายฝั่งโครงกระดูก" (Skeleton Coast) เพราะในอดีตมีทั้งเรือและคนขึ้นฝั่งมาเพื่อล้มตาย
  • ทะเลทรายนามิบทางส่วนใต้เป็นทะเลทรายอันกว้างใหญ่ มีเนินทรายสลับร่องกว้างเป็นแนวยาวสม่ำเสมอ ภายใต้เนินทรายเป็นแหล่งขุมเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากของแม่น้ำออเรนจ์ได้พันพาเพชรมาปนกับกรวดเลนในเมืองคิมเบอร์ลีย์ของแอฟริกาใต้ก่อนจะไหลลงสูมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งขณะที่กรวดทรายจมน้ำจะถูกกระแสน้ำเย็นพัดขึ้นฝั่งไปทางเหนือ และมาสะสมบริเวณชายฝั่งทะเลประเทศนามิบก่อนจะโดนปิดทับด้วยโคลนเลนและทรายละเอียด [1]

สิ่งมีชีวิต

เวลวิชเซีย ฟอสซิลมีชีวิตในทะเลทรายนามิบ

ตามชายฝั่งมีฝนตกปีละไม่เกิน 25 มิลลิเมตร และอาจไม่มีฝนตกนานถึง 10 ปี โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมอกและน้ำค้าง อากาศอบอุ่นชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติก พัดมาเจอกับกระแสน้ำเย็นเบงเกวลา ทำให้เกิดหมอกหนาก่อตัวในเวลากลางคืน ทำให้บรรดาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น แมลงปีกแข็งบางชนิดได้รับความชุ่มชื้น[2] [3]บริเวณชายฝั่งทะเลก็เป็นที่พักพิงของฝูงแมวน้ำชนิดมีขนอีกด้วย ส่วนพืชที่สำคัญ คือ ต้นเวลวิชเซีย ที่ขึ้นเฉพาะที่ทะเลทรายนามิบแห่งเดียวเท่านั้น[4] และแตงนารา ที่เป็นอาหารที่ชื่นชอบของสัตว์ต่าง ๆ [2]

ทะเลทรายนามิบจัดว่าเป็นทะเลทรายที่มีสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก[5]

อ้างอิง

  1. "มหัศจรรย์ 2 ขั้วธรรมชาติ ทะเลทรายนามิบ กับ มหาสมุทรแอตแลนติก". เนชั่นทีวี. 17 March 2014. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.
  2. 2.0 2.1 "สารคดี BBC : เปิดโลกกว้างแอฟริกา ตอนที่ 5 คลิป 2/2". ช่อง 7. 22 November 2014. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.
  3. "สารคดี BBC : เปิดโลกกว้างแอฟริกา ตอนที่ 5 คลิป 1/2". ช่อง 7. 22 November 2014. สืบค้นเมื่อ 23 November 2014.
  4. A. Lewington & E. Parker (1999). Ancient Trees: Trees that Live for a Thousand Years. Collins & Brown Ltd. ISBN 1-85585-704-9.
  5. Nicholson, Sharon E. (2011). Dryland Climatology. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 385–388. ISBN 978-0-521-51649-5. สืบค้นเมื่อ 13 December 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

24°45′07″S 15°16′35″E / 24.751944°S 15.276389°E / -24.751944; 15.276389

Kembali kehalaman sebelumnya