ธราวุธ นพจินดา
ธราวุธ นพจินดา ชื่อเล่น หนู อดีตผู้บรรยายการแข่งขันกีฬาทางโทรทัศน์, อดีตผู้ประกาศข่าวกีฬา ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท., สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ประวัติธราวุธ เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2499 ที่บ้านพักย่านถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องของพันโทไพฑูรย์กับพันโทหญิงอุไร นพจินดา และน้องชายร่วมบิดามารดากับ ย.โย่ง–เอกชัย นพจินดา (เกิด: 21 มิถุนายน พ.ศ. 2496; ถึงแก่กรรม: 6 มีนาคม พ.ศ. 2540; อายุ 43 ปี) จบการศึกษาชั้นมัธยม จากวชิราวุธวิทยาลัย และระดับปริญญาตรี จากวิทยาลัยกรุงเทพ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ) ธราวุธสมรสกับวัลยา นพจินดา มีบุตรชายและบุตรสาวด้วยกันคือ ชยาพัฒน์ และ ธัญพิชา ตามลำดับ งานสื่อมวลชนสายกีฬาธราวุธ เข้าสู่วงการสื่อมวลชนสายกีฬาที่สยามสปอร์ต ร่วมกับเอกชัยผู้เป็นพี่ชายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โดยเมื่อเอกชัยเป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน และบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน ธราวุธก็เป็นรองหัวหน้า หรือผู้ช่วยดูแลงาน ในส่วนที่พี่ชายมอบหมาย จากนั้น สยามสปอร์ตก็ส่งธราวุธไปทำข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ประเทศเม็กซิโก เมื่อปี พ.ศ. 2529 และเป็นผู้สื่อข่าวชาวไทยคนแรก ที่ไปรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลอังกฤษกลับมายังประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2531 ต่อมาเมื่อเอกชัยขึ้นเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา และผู้บรรยายกีฬาทางช่อง 7 สี ธราวุธก็ไปเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. หลังจากพี่ชายเสียชีวิตลง เขาก็ย้ายมาเข้าร่วมงานกับช่อง 7 สีแทน แล้วจึงกลับมาเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาทาง ททบ.5 พร้อมทั้งรับงานผู้ประกาศข่าวกับพิธีกรทางสตาร์ซอคเก้อร์ทีวี หรือพิธีกรกิจกรรมกีฬา และบรรยายการแข่งขันกีฬา (ส่วนมากทางทรูวิชันส์) การเสียชีวิตธราวุธ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหัน ในคืนวันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ด้วยภาวะหัวใจวาย ขณะนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งเป็นอาการเดียวกับพี่ชาย ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 หลังจากเป็นพิธีกรการแข่งขันกอล์ฟ ที่สนามกอล์ฟเพรสิเดนต์ ย่านถนนสุวินทวงศ์ ช่วงก่อนจะเดินทางกลับ เขาเกิดอาการจุกแน่นหน้าอกอย่างแรง ตาพร่ามัว ตัวเย็น หน้าซีด จนไม่สามารถขับรถได้ จึงต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ไปด้วย เพื่อนำส่งห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเสรีรักษ์ เขตมีนบุรี ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุด เมื่ออาการเบื้องต้นดีขึ้นเล็กน้อย เขาจึงขอย้ายไปยังโรงพยาบาลวิภาวดี แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งแพทย์ประจำตัวทำงานอยู่ ขณะเดินทางด้วยรถพยาบาล เกิดอาการจุกแน่นอย่างหนักขึ้นอีก จนกระทั่งหมดสติไป เมื่อถึงโรงพยาบาลพบว่า สัญญาณชีพจรหยุดไประยะหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่จึงพยายามเร่งช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตไว้ได้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|