Share to:

 

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด (อังกฤษ: limited company หรือ Co. ltd) คือ องค์การธุรกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น มีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นต่างรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงิน ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ

บริษัทจำกัด เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป[1] ตกลงเข้าร่วมทุนโดยกำหนดทุนออกเป็นหุ้น รวมถึงกำหนดมูลค่าหุ้นไว้ด้วย ใช้คำนำหน้าว่า "บริษัท" และคำว่า "จำกัด" ต่อท้ายชื่อ

บริษัทจำกัด

สำหรับประเทศไทย บริษัทจำกัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

บริษัทเอกชนจำกัด

สถานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นโดยวิธีการแบ่งทุนเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาจัดตั้งบริษัทร่วมกัน

ลักษณะของบริษัทเอกชนจำกัด

1. ทุนแบ่งเป็นหุ้น แต่ละหุ้นมีจำนวนเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1117 กำหนดให้หุ้นหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 บาท

2. การจัดตั้งบริษัทจำกัด ต้องทำตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด มาตรา 1097 กำหนดว่า บุคคลใดก็ตามตั้งแต่ 2 คนเป็นต้นไป จะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทได้ โดยต้องเข้าชื่อทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอื่น ๆ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

3. ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงินมูลค่าที่เจ้าตัวยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ถือ

4. บริษัทเอกชนจำกัด ไม่สามารถประกาศแจ้งความเรียกระดมหุ้นจากประชาชนคนทั่วไปได้ ไม่สามารถออกหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนคนทั่วไปมาซื้อหุ้นได้ตามมาตรา 1102

5. ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นไว้ หากผู้ถือหุ้นตาย ล้มละลาย เป็นคนไร้ความสามารถ บริษัทก็ไม่ก็เลิก สามารถโอนหุ้นให้บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท

6. บริษัทเอกชนจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

7. บริษัทไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้ ตามมาตรา 1229

8. กฎหมายห้ามไม่ให้ถือหุ้นตนเอง ทำให้ไม่สามารถซื้อหุ้นของตนเองกลับคืนได้ ตามมาตรา 1143

9. การตั้งชื่อ ต้องมีคำว่า "บริษัท" นำหน้าชื่อ และ คำว่า "จำกัด" ต่อท้าย

บริษัทมหาชน

บริษัทมหาชน คือ บริษัทจำกัด ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. บริษัท มหาชน พ.ศ. 2535 โดยมีข้อกำหนดให้บริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว สามารถนำหุ้นจำนวนหนึ่งของบริษัทออกจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้ ประชาชนผู้ซื้อหุ้นจึงเป็นเจ้าของกิจการนั้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถืออยู่ และหุ้นนี้อาจขายให้ผู้อื่นได้ตามราคาหุ้นในแต่ละวัน ผู้ที่ดำเนินการขายและซื้อหุ้นของบริษัทจำกัด (มหาชน) คือ ตลาดหลักทรัพย์ โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Public Company Limited แล้วย่อได้เป็น Pcl หรือ PCL (Public Company Limited) เพื่อแสดงว่าเป็นบริษัทจำกัด ประเภทมหาชน

การจดทะเบียนบริษัทและห้างหุ้นส่วน

ปัจจุบันได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[2]ใหม่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัททำให้การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด และจดทะเบียนบริษัท จำกัดมีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนและวิธีการพอสมควร เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงที่อยู่บริษัท เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนและวิธีการที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้ง จำนวนบุคคลผู้เป็นหุ้นส่วน กำหนดระยะเวลาบอกกล่าวการประชุม และที่สำคัญเรื่องการประกาศหนังสือพิมพ์ที่มีการกำหนดระยะ เวลาและรายการที่ต้องประกาศไว้แตกต่างจากเดิม โดยขั้นแรกจะกล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทจำกัดก่อน ดังนี้

การจดทะเบียนบริษัทจำกัด[3]

บุคคล ใดๆ ที่ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทเป็นของตนเอง จำต้องรู้โครงสร้างเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทจำกัดก่อน เพื่อนำมาเป็นข้อมูล จัดเตรียมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งโครงสร้างของบริษัทจำกัด มีดังต่อไปนี้

โครงสร้างของบริษัทจำกัด

  1. ต้องมีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 2 คน โดยตาม ป.พ.พ. ที่แก้ไขใหม่ มาตรา 1097 บัญญัติว่า บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สองคนขึ้นไป จะเริ่มก่อการตั้งบริษัทจำกัดก็ได้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทจำกัดต้องมีผู้ร่วมลงทุน อย่างน้อย 2 คน ซึ่งแตกต่างจากเดิมซึ่ง กฎหมายบัญญัติไว้ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยการแก้ไขกฎหมายใหม่นี้ทำให้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ง่ายขึ้น เพราะต้องหาผู้ร่วมลงทุนน้อยลง
  2. มีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น และมีมูลค่าหุ้นเท่า ๆ กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096
  3. มูลค่าหุ้นต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1117
  4. ความรับผิดของผู้ถือหุ้นมีจำกัด กล่าวคือ จะมีเฉพาะจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบเท่านั้น (การชำระค่าหุ้น) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096
  5. ต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


อ้างอิง

  1. พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551 http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb03/%bb03-20-2551-a0003.pdf เก็บถาวร 2019-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-10. สืบค้นเมื่อ 2016-11-30.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-18. สืบค้นเมื่อ 2016-11-30.
Kembali kehalaman sebelumnya