Share to:

 

บัญชีแดงไอยูซีเอ็น

อัตราความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกลุ่มต่าง ๆ ตามลำดับ (   ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต,   ใกล้สูญพันธุ์ หรือ   เปราะบางต่อการสูญพันธุ์) ตามที่ระบุในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น ค.ศ. 2007

บัญชีแดงไอยูซีเอ็น (อังกฤษ: IUCN Red List) เป็นดัชนีที่เริ่มกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1948 เป็นดัชนีรายชื่อที่สมบูรณ์ที่สุดของสถานภาพของชนิดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) เป็นสถาบันหลักผู้มีอำนาจในการระบุฐานะสถานภาพต่าง ๆ ของชนิดสิ่งมีชีวิต นอกจากบัญชีแดงโดยทั่วไปแล้วก็ยังมีบัญชีแดงระดับท้องถิ่น (Regional Red List) ที่รวบรวมขึ้นโดยประเทศหรือองค์การต่าง ๆ ที่ประเมินระดับความเสี่ยงของชนิดสิ่งมีชีวิตภายในเขตการปกครองของแต่ละท้องถิ่นในความรับผิดชอบ

บัญชีแดงไอยูซีเอ็นกำหนดขึ้นจากเกณฑ์ที่วางไว้อย่างจำเพาะเจาะจงในการประเมินระดับความเสี่ยงของชนิดและชนิดย่อยเป็นจำนวนมาก วัตถุประสงค์ของรวบรวมดัชนีรายชื่อก็เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเร่งด่วนเกี่ยวกับความจำเป็นในการอนุรักษ์แก่สาธารณชน และผู้มีอำนาจในการวางนโยบาย รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือประชาคมนานาชาติในการพยายามลดจำนวนการสูญพันธุ์ของชนิดสิ่งมีชีวิตตามที่ระบุในดัชนี

องค์การที่ร่วมในการประเมินระดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดสิ่งมีชีวิตหลักก็ได้แก่ องค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International), สถาบันสัตวศาสตร์ (Institute of Zoology) (แผนกค้นคว้าของสมาคมสัตวศาสตร์แห่งลอนดอน (Zoological Society of London), องค์การเฝ้าระวังการอนุรักษ์โลก (Conservation Monitoring Centre) และกลุ่มชำนัญพิเศษต่าง ๆ ภายในคณะกรรมการความอยู่รอดของชนิดสิ่งมีชีวิตของไอยูซีเอ็น การประเมินระดับความเสี่ยงจากองค์การต่าง ๆ ดังว่ารวมกันได้เป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของชนิดสิ่งมีชีวิตในบัญชีแดง

บัญชีแดงไอยูซีเอ็นถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นดัชนีที่มีความมีจุดมุ่งหมายและมีหลักการที่สุดในการจัดระดับชนิดสิ่งมีชีวิตตามระดับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์[1]

ไอยูซีเอ็นมีเป้าหมายที่จะประเมินระดับความเสี่ยงของทุกชนิดสิ่งมีชีวิตทุก 5 ปีถ้าทำได้ หรืออย่างน้อยก็ทุก 10 ปี ผ่านกระบวนการพิชญพิจารณ์โดยคณะกรรมการความอยู่รอดของชนิดสิ่งมีชีวิต (Species Survival Commission) ซึ่งเป็นกลุ่มชำนัญพิเศษขององค์การเอง ผู้มีความรับผิดชอบดัชนีรายชือชนิดสิ่งมีชีวิต กลุ่มชนิดสิ่งมีชีวิต หรือกลุ่มชนิดสิ่งมีชีวิตของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือในกรณีขององค์การชีวปักษานานาชาติก็จะตรวจสอบชนิดสิ่งมีชีวิตในอันดับนก[2]

บัญชีแดงไอยูซีเอ็นฉบับล่าสุดออกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 2008 ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

ระดับความเสี่ยง

บัญชีแดง ค.ศ. 2006

ชนิดสิ่งมีชีวิตแบ่งออกเป็นเก้าระดับตามข้อกำหนดต่าง ๆ เช่น อัตราการลดจำนวนประชากร ขนาดประชากร บริเวณกระจายตามภูมิภาค อัตราการกระจายของประชากร การแตกแยกของกลุ่มประชากร

  • สูญพันธุ์ (EX - Extinct) – สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น
  • สูญพันธุ์ในธรรมชาติ (EW - Extinct in the Wild) – สูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ แต่ยังหลงเหลืออยู่ในสถานที่กักกัน
  • ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต (CR - Critically Endangered) – ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ
  • ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) – ระดับความเสี่ยงขั้นสูงต่อสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ
  • เปราะบางต่อการสูญพันธุ์ (VU - Vulnerable) – ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อความเป็นอันตรายจากการสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ
  • ใกล้ถูกคุกคาม (NT - Near Threatened) – ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้
  • นอกเกณฑ์สูญพันธุ์ (LC - Least Concern) – ความเสี่ยงต่ำ ไม่อยู่ในข่ายใดข้างต้น ยังมีอยู่โดยทั่วไป
  • ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD - Data Deficient) – ไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
  • รอประเมิน (NE - Not Evaluated) – ยังไม่ได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ในการศึกษาและใช้บัญชีแดง ศัพท์ "ชนิดถูกคุกคาม" (threatened species) เป็นกลุ่มที่รวมสามกลุ่มย่อยเอาไว้ ได้แก่ ชนิดใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต, ชนิดใกล้สูญพันธุ์ และชนิดเปราะบางต่อการสูญพันธุ์

อ้างอิง

  1. "Birds on the IUCN Red List". BirdLife International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-02-01.
  2. "Establishment of Red List Authorities". The IUCN SSC Red List Programme. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-26. สืบค้นเมื่อ 2006-11-12.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya