บีตรูต
บีตรูต หรือชื่ออื่นเช่น ผักกาดฝรั่ง ผักกาดแดง เป็นหัวพืชหรือรากที่สะสมอาหารที่อยู่ใต้ดิน เป็นพืชเมืองหนาวและเป็นผักเพื่อสุขภาพ มีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด[1] ลักษณะทั่วไป
ถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และแถบยุโรป ในประเทศไทย สามารถปลูกได้ทางภาคเหนือ [2] การเพาะปลูกสามารถปลูกได้ตลอดปีในพื้นที่สูงกว่า 1,000 เมตร ควรเป็นดินร่วนปนทราย มีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 5.5-7.0 มีการระบายน้ำกับอากาศที่ดี โดยอุณหภูมิของดินต่อการงอกเมล็ดประมาณ 20 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่อการเจริญเติบโตประมาณ 15-22 องศาเซลเซียส สามารถเก็บผลผลิตทั้งปีและมีมากในช่วงเดือนธันวาคม ถึง เดือนมีนาคม คุณค่าทางโภชนาการในรากของบีตรูต มีวิตามินเอ วิตามินบีรวม ซึ่งอุดมไปด้วยโฟเลตเป็นสารประกอบจากกรดโฟลิก เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งทำงานร่วมกับวิตามินบี 12 มีโพแทสเซียม และวิตามินซีสูง ในยอดใบที่มีสีเขียวเข้ม มีสารบีตา-แคโรทีน ซึ่งมีแคลเซียม เหล็ก และโพแทสเซียมกับวิตามินเอสูง ในบีตรูตสุก 100 กรัม ให้พลังงาน 27 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย โซเดียม 241 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 5.5 กรัม เส้นใย 2.9 กรัม น้ำตาล 0.6 กรัม โปรตีน 2.6 กรัม และโพแทสเซียม 909 มิลลิกรัม [3] ในหัวบีตรูต มีสารสีแดง เรียกว่า บีทานิน (betanin) เป็นพวกกรดอะมิโน ช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็ง ลดการเติบโตของเนื้องอก ทำให้เลือดลมและการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และสารสีม่วง เรียกว่า แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ในสภาพเป็นกลาง มีสีม่วง pH 7-8 สภาพเป็นเบส มีสีแดง pH > 11 และสภาพเป็นกรด มีสีน้ำเงิน pH < 3 ซึ่งแอนโทไซยานิน เป็นรงควัตถุที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลบล้างสารที่ก่อมะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและลดอาการอัมพาต [4] งานวิจัยรายงานจากบีบีซีอ้างผลการศึกษาทีมนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเอกซิเทอร์ (Exeter U, UK) พบว่า การดื่มน้ำบีตรูตสร้างเสริมพละกำลังและอึดขึ้นจนอาจออกกำลังได้นานขึ้นถึง 16% การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า น้ำบีตรูต มีส่วนช่วยลดความดันเลือด ส่วนการกินผัก ผลไม้ นมไขมันต่ำ ถั่ว งา ก็ช่วยลดได้เช่นกัน ดังปรากฏในอาหารแบบแดช (DASH) หรืออาหารต้านความดันเลือดสูง การศึกษานี้มีจุดอ่อนที่ทำในกลุ่มตัวอย่างน้อยมาก คือ 8 คน อายุ 19-38 ราย ให้ดื่มน้ำบีตรูตวันละ 500 มล. = 0.5 ลิตร 6 วันติดต่อกันก่อนทดสอบด้วยจักรยานออกกำลังกาย หลังจากนั้นทดสอบซ้ำด้วยการให้ดื่มน้ำแบลคเคอเรนท์ แทน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างทำเวลาได้เร็วขึ้นประมาณ 2%, ความดันเลือดลดลง, ออกกำลังได้นานขึ้นจนถึง 16% กลไกที่อาจเป็นไปได้คือไนไตรต์ (nitrite) ในผักอาจเป็นสารตั้งต้นของไนตริกออกไซด์ (nitric oxide) ซึ่งมีฤทธิ์ขยายเส้นเลือดอย่างอ่อนๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น การที่บีตรูตมีสารไนไตรต์ค่อนข้างสูง อาจเป็นผลจากการเป็นพืชตระกูลหัวใต้ดิน ทำให้ดูดซับสารอาหารบางอย่างได้มาก พบว่าการดื่มน้ำบีตรูตเป็นประจำทุกวันจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย และลดอาการเหนื่อยเพลียจากการออกกำลังกายลง และมีผลช่วยให้นักกีฬาประเภทที่ต้องใช้ความอดทนและเวลานานในการเล่น เช่น วิ่งระยะไกล หรือปั่นจักรยาน มีความอึด อดทน และความแข็งแกร่งมากขึ้น ศ.แอนดี้ โจนส์ กล่าว [5] สรรพคุณทางยาการคั้นน้ำบีตรูต ดื่มในช่วง 06.00-08.00 น. ก่อนรับประทานอาหารช่วยให้การไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายดี เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และช่วยให้เจริญอาหาร ดื่มก่อนนอนในช่วง 21.00-22.00 น.ช่วยบำรุงไต ถุงน้ำดี ล้างสารพิษ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้ไอ ลดอาการบวมได้ดี [6] ประโยชน์อื่นๆสามารถใช้เป็นสีธรรมชาติผสมอาหาร นำมาดองเป็นน้ำส้มสายชู งานแกะสลักตบแต่งอาหาร การปรุงอาหาร เช่น สาคูไส้บีตรูต สลัดน้ำบีตรูต พาสตา ทำขนมบีตรูต พุดดิงนมสดบีตรูต เยลลี่บีตรูต ทำเครื่องดื่มแบบสมูทที หรือปั่นรวมกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น องุ่น แคร์รอต เสาวรส เมลอน แตงโม แอปเปิล อื่น ๆ[7] การเลือกและเก็บรักษาบีตรูตควรเลือกหัวบีตรูตขนาดเล็ก เพราะมีเนื้อละเอียดและให้รสหวานกว่าหัวบีตรูตขนาดใหญ่ แต่ถ้ามีใบติดอยู่ ให้เลือกหัวบีตรูตที่ใบยังสด แล้วตัดใบให้เหลือก้าน 2-3 ซม. จากนั้นก็นำไปล้างให้สะอาด เก็บในถุงตาข่ายวางไว้ในที่ร่ม หรือในช่องแช่ผักมีการเก็บไว้ได้นานกว่า 14 วัน [8] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|