บ่อเหล็กน้ำพี้บ่อเหล็กน้ำพี้ เป็นแหล่งสินแร่เหล็กตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพี้ หมู่ 1 ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 56 กิโลเมตร โดยเป็นบ่อเหล็กกล้า[1] มีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ และปรากฏเตาถลุงเหล็กโบราณนับพัน ๆ แห่งในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร แต่บ่อที่สำคัญและสงวนใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ มีอยู่ 2 บ่อ คือ บ่อพระแสง และ บ่อพระขรรค์ มีการนำแร่เหล็กจากบ่อเหล็กน้ำพี้ไปถลุงทำอาวุธเพื่อใช้ในการศึกสงครามมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาตร์มากมายถึงความสำคัญของเหล็กน้ำพี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเหล็กจากแหล่งแร่เหล็กน้ำพี้มีความแข็งแกร่ง ความศักดิ์สิทธิ์และอาถรรพ์ในตัว[2] โดยจัดให้เหล็กน้ำพี้อยู่ในโลหะธาตุตระกูลเดียวกับ เหล็กไหล[3] ปัจจุบันบ่อเหล็กน้ำพี้ได้รับงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสร้างอาคารและปรับภูมิทัศน์ โดยจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ นิรุกติศาสตร์คำว่า น้ำพี้ มีที่มาจากสาเหตุใดไม่ปรากฏชัด แต่เชื่อว่า ชื่อเดิมของบ้านน้ำพี้ คือ น้ำลี้ เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ในสมัยก่อนมีความแห้งแล้ง น้ำลี้ (หนีหาย) จึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกหมู่บ้านนี้สืบมา และต่อมาจึงได้เพี้ยนเป็น "น้ำพี้" จนปัจจุบัน อีกเหตุผลหนึ่ง มีคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมาจนเป็นตำนานของชาวหมู่บ้านน้ำพี้ ว่าในสมัยสุโขทัย พระร่วงเจ้าได้เสด็จมายังหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อขอด้ายไปทำสายป่านว่าว (แต่บางคนก็เล่าว่า พระร่วงขอด้ายเอาไปมัดไก่ เพื่อต่อไก่ชนที่หมู่บ้านแสนขัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน) โดยขณะที่พระร่วงกำลังรอด้ายนั้น ชาวบ้านก็รีบจัดหาให้ แต่ช้าไม่ทันใจ พระร่วงจึงเกิดความไม่พอใจ และคิดว่าหมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านแล้งน้ำใจ จึงได้สาปให้หมู่บ้านนี้มีน้ำแห้งแล้ง หรือเรียกว่า "น้ำลี้" ซึ่งแปลว่า น้ำหนีหายไปหมด ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนเป็น "น้ำพี้" มาจนปัจจุบัน[4] ประวัติแร่เหล็กจาก บ่อเหล็กน้ำพี้ มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นมาเป็นระยะเวลานาน นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนปัจจุบัน โดยมีหลักฐานอ้างอิงจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุ และวรรณคดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษของไทยในอดีตได้รู้จักวิธีการนำแร่เหล็กน้ำพี้ มาถลุงให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำแร่เหล็กน้ำพี้มาถลุงเป็นศัสตราวุธ เพื่อใช้ประโยชน์ในการสงคราม ดังปรากฏหลักฐานการนำเหล็กน้ำพี้มาใช้เป็นศัสตราวุธสำหรับการทหารและชนชั้นปกครอง เช่น
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่า ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ หลวงจรุงราษฎร์เจริญ (สุข) นายอำเภอตรอน ในสมัยนั้น ได้นำเหล็กน้ำพี้มอบให้พระยาวิเศษฤๅไชย ข้าหลวงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (พ.ศ. 2469-2471) นำพระแสงดาบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระแสงศัสตราวุธ มาจนทุกวันนี้[5] เหล็กน้ำพี้ความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหล็กจากบ่อเหล็กน้ำพี้เป็นเหล็กที่มีความแกร่ง มีความเหนียวและเกิดสนิมยาก จากตำราพิชัยสงครามได้กล่าวไว้ว่า เหล็กน้ำพี้เป็นโลหะมหัศจรรย์อานุภาพ มีพลังในตัว มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ทุก ๆ อณูสามารถป้องกันคุณไสยและสิ่งเลวร้ายที่มองไม่เห็นด้วยตาดำได้ ปัจจุบันแร่เหล็กน้ำพี้ ถือว่าเป็นวัตถุมงคล โดยเชื่อกันมาแต่โบราณว่าเหล็กน้ำพี้อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเหล็กไหล เมื่อจะนำไปใช้งานต้องตั้งศาลบวงสรวงขออนุญาตจากเจ้าพ่อที่ดูแลปกปักษ์รักษาเสียก่อน จึงจะทำการขุดหรือตัดเหล็กไปใช้งานได้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวน้ำพี้และผู้ศรัทธาต่างเชื่อถือกันมาโดยตลอดด้วยความศรัทธาว่า เหล็กน้ำพี้มีเจ้าพ่อปกปักษ์รักษาดูแลอยู่ หากผู้ใดจักนำสินแร่เหล็กน้ำพี้ไปใช้ ต้องทำการตั้งศาลบรวงสรวงสักการะและเปล่งวาจาขอต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ก่อน[2] คุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์แร่เหล็กที่ได้จากบ่อเหล็กน้ำพี้นั้น เป็นแร่เหล็กกล้าที่มีโครงสร้างระดับโมเลกุลที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนหลากหลาย ทำให้เมื่อนำมาเผาและตีทำมีดจะได้มีดที่แข็งแกร่งทนทานกว่าที่ทำจากแร่เหล็กทั่ว ๆ ไป[1] ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้เคยนำตัวอย่างสินแร่จากจากบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ไปทำการทดลองเพื่อวิเคราะห์หาคุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พบว่าแร่เหล็กน้ำพี้มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่หาได้ยาก เป็นแร่เหล็กที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว มีความแข็งและเหนียวเป็นพิเศษ มีคุณลักษณะอ่อนในแข็งนอก และยืนยันว่าแหล่งแร่เหล็กที่ตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งแร่เหล็กที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย อีกทั้งยังมีคุณสมบัติดีเยี่ยมไม่แพ้เหล็กกล้าชั้นดีของต่างประเทศ [6] สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณบ่อเหล็กน้ำพี้บ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์
บ่อขุดสินแร่เหล็กทั้งสองบ่อนี้ เป็นบ่อเหล็กที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณแหล่งแร่เหล็กน้ำพี้ และเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และเป็นบ่อเหล็กที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ในปี พ.ศ. 2541 นายชัยพร รัตนนาคะ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในขณะนั้น ได้เห็นว่า บ่อเหล็กน้ำพี้เป็นแหล่งแร่เหล็กทางธรรมชาติที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ และเป็นสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ควรส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาประวัติศาสตร์สำหรับผู้สนใจ จึงได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ โดยทำการเปิดเมื่อ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2542 โดยทำการบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณบ่อเหล็กน้ำพี้ และได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจได้เข้าศึกษาถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านแบบโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้โบราณและจัดแสดงหุ่นการถลุงเหล็กแบบโบราณ[7] ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้บริเวณทิศเหนือของบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ มีศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ตั้งอยู่ ซึ่งมีเรื่องเล่าเป็นตำนานของชาวน้ำพี้สืบมาว่าบ่อเหล็กน้ำพี้ มีปู่ธรรมราชที่เป็นเจ้าพ่อบ่อพระแสงสถิตย์อยู่ในศาลนี้เพื่อคอยปกปักษ์รักษาบ่อเหล็กสำคัญ คือ บ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ ศาลนี้เป็นสร้างที่สร้างขึ้นใหม่มีลักษณะทรงไทยสีขาว พื้นปูด้วยหินอ่อน ภายในตั้งรูปเจ้าพ่อ 3 ตน หล่อด้วยเหล็กน้ำพี้ทั้งองค์ สร้างด้วยงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวน้ำพี้และเป็นศูนย์รวมสักการะสำหรับผู้ศรัทธา อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ บ่อเหล็กน้ำพี้
|