บ้านพิบูลธรรม
บ้านพิบูลธรรม เลขที่ 17 เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และเคยเป็นที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน ก่อนจะย้ายไปยังอาคารศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ประวัติบ้านพิบูลธรรมเดิมชื่อบ้านนนที เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งคงได้สร้างประมาณ พ.ศ. 2456 อันเป็นปีที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยา บ้านนี้มีชื่อว่าบ้านนนที ตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอิศวร (ตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง คือคราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีอยู่ที่บ้านหลังนี้จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2485 ต่อมารัฐบาลสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซื้อไว้เป็นบ้านรับรองแขกเมือง เปลี่ยนชื่อว่าบ้านพิบูลธรรมจน พ.ศ. 2501 จึงมอบให้เป็นที่ทำการของการพลังงานแห่งชาติดังกล่าวแล้วในข้างต้น สถาปัตยกรรมปัจจุบัน ภายในบ้านพิบูลธรรมมีอาคารเก่าแต่แรกสร้างซึ่งมีความงดงามทั้งด้านสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมอยู่ 2 หลัง และศาลาไม้อีกหลังหนึ่ง คือ อาคารสำนักงานเลขานุการกรมซึ่งอยู่หลังหน้า และอาคาร กองควบคุมและส่งเสริมพลังงานตั้งเยื้องไปด้านหลัง ส่วนศาลาไม้อยู่ด้านขวาของอาคารสำนักเลขานุการกรมและด้านหน้าของอาคารกองควบคุมและส่งเสริมพลังงาน อาคารทั้งสองหลังสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรปที่นิยมในยุคนั้น ลักษณะเหมือนปราสาท เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงตามปีกอาคารสองข้าง และมีส่วนโค้งส่วนหักมุมและเฉลียงต่างกันแต่ได้สัดส่วนกลมกลืน ประดับลายปูนปั้นตามผนังตอนบน หัวเสา ขอบหน้าต่าง และลูกกรงระเบียง ประตูหน้าต่างไม้สลักลาย มีรูปประติมากรรมหน้าวัวหรือพระโคนนทีติดอยู่ที่เหนือประตู เฉลียงที่มุมขวาของตึกหน้า และที่ผนังข้างประตูหน้าและเหนือประตูเฉลียงข้างของตึกหลังมีสะพานคอนกรีตเชื่อมชั้น 2 ของอาคารทั้ง 2 หลัง อาคารทั้งสองหลังตกแต่งภายในอย่างวิจิตรด้วยลายไม้แกะสลักตามเพดานและผนังห้อง ประตู และหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารในซึ่งตอนหน้าส่วนกลางก่อเป็นห้องชั้นที่ 3 อีกห้องหนึ่งนั้น ด้านหลังเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นห้องโถงเอกของบ้าน โดยโถงหน้าเป็นทางเชื่อมจากส่วนหน้าของอาคารสู่โถงในซึ่งมีปีกเป็นรูปโค้งมน รูปทรงของห้องโถงนี้จึงเหมือนตัว T แต่มุมหักมน นับเป็นความงามเยี่ยมทางสถาปัตยกรรม ภายในห้องโถงนี้กึ่งกลางเพดานประดับภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกเรื่องรามเกียรติ์ โถงนอกรูปรามสูรเมขลา โถงในรูปทศกัณฐ์ลักนางสีดากำลังต่อสู้กับนกสดายุ เพดานรอบๆ ภาพเขียนประดับด้วยหูช้างไม้สลักเรียงรายตลอด ถัดลงมาเป็นภาพจิตรกรรมเถาไม้ดอกสีสดสวย ผนังจากระดับขอบประตูบนลงมาประดับไม้สลักลาย ตามขอบสลักลายเถาผลไม้ เสาไม้กลมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสลักลาย พื้นปูหินอ่อน ห้องโถงนี้ปัจจุบันใช้เป็นห้องเลียงรับรอง ห้องด้านหน้าทางปีกซ้ายของอาคารหลังนี้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงาน มีภาพจิตรกรรมแบบเดียวกันประดับที่ฝาผนังด้านขวา จับภาพตอนพระรามตามกวาง ส่าวนเพดานห้องเขียนรูปหมู่กามเทพเด็กแบบฝรั่ง เป็นภาพ fresco เขียนโดยชาวอิตาลีชื่อ Carlo Rigoli ศาลาไม้ เป็นศาลาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับไม้สลักตามพนักระเบียงเสา และหูช้างรับกับตัวอาคารทั้งสองหลัง พื้นปูนหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องว่าว อาคารเหล่านี้ได้รับการซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย และทาสีใหม่ สภาพอาคารหลังใหญ่ค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม มีรอยร้าวในบางแห่งกรมศิลปากรได้ตรวจสภาพภาพจิตรกรรมแล้วขอให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติซ่อมหลังคาแล้วทิ้งไว้ 2-3 ปีเพื่อให้ความชื้นภายในแห้งก่อนจึงจะดำเนินการซ่อมแซมภาพจิตรกรรม ซึ่งสำนักงานพลังงานแห่งชาติได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอน และจะได้ดำเนินการของบประมาณซ่อมแซมภาพจิตรกรรมต่อไป อ้างอิงหนังสือ "Italians in the Court of Siam" โดย Leopoldo Ferri de Lazara และ Paolo Piazzardi แหล่งข้อมูลอื่น
|