ประชาธิปไตยในลัทธิมากซ์ในทฤษฎีลัทธิมากซ์ สังคมประชาธิปไตยแบบใหม่จักบังเกิดขึ้นผ่านการกระทำที่มีการจัดระเบียบของชนชั้นกรรมกรนานาชาติซึ่งให้สิทธิเลือกตั้ง (enfranchise) แก่ประชากรทั้งปวง และปลดปล่อยมนุษย์ให้กระทำสิ่งใด ๆ โดยไม่ต้องถูกผูกมัดด้วยตลาดแรงงาน[1][2] รัฐจะมีความจำเป็นน้อยมากหรือไม่มีเลย เพราะเป้าหมายของรัฐคือการบังคับให้แรงงานรู้สึกแปลกแยกเท่านั้น[1] คาร์ล มากซ์และฟรีดริช เองเงิลส์กล่าวใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ และผลงานในชั้นหลังว่า "ก้าวแรกในการปฏิวัติโดยชนชั้นกรรมกร คือการยกระดับชนกรรมาชีพให้อยู่ในฐานะชนชั้นปกครอง ในการเอาชนะศึกเพื่อประชาธิปไตย" และสิทธิเลือกตั้งถ้วนหน้าเป็น "หนึ่งในภาระแรกและสำคัญที่สุดของชนกรรมาชีพที่จับอาวุธ"[3][4][5] มากซ์เขียนใน บทวิพากษ์โครงการโกธา ว่า "ระหว่างสังคมทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ จะมีช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านแบบปฏิวัติจากสังคมแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง ในทำนองเดียวกันจะช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองซึ่งรัฐจะเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้นอกจากเผด็จการของชนกรรมาชีพ"[6] เขายอมรับว่ามีโอกาสการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติได้ในบางประเทศที่มีโครงสร้างแบบสถาบันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง (เช่น บริเตน สหรัฐและเนเธอร์แลนด์) แต่เสนอว่าในประเทศอื่นที่กรรมกรไม่สามารถ "บรรลุเป้าหมายของเพวกเขาได้ด้วยวิธีการสันติ" "คานงัดการปฏิวัติของเราจักต้องเป็นกำลัง" โดยระบุว่าชนชั้นกรรมกรมีสิทธิกบฏถ้าพวกเขาถูกห้ามแสดงออกทางการเมือง[7][8] ใน หลักการของคอมมิวนิสต์ เองเงิลส์อธิบายว่า คอมมิวนิสต์คือการตั้งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่โดยตรงหรือโดยอ้อม นักลัทธิมากซ์เสนอให้แทนที่รัฐกระฎุมพีด้วยรูปแบบกึ่งรัฐของชนกรรมาชีพผ่านการปฏิวัติ (เผด็จการของชนกรรมาชีพ) ซึ่งสุดท้ายรัฐจะสลายไป ส่วนนักอนาธิปไตยเตือนว่ารัฐจะต้องถูกทำลายลงไปพร้อมกับทุนนิยม อย่างไรก็ดี ทั้งสองแนวคิดมีความมุ่งประสงค์ขั้นบั้นปลายในสังคมคอมมูนแบบไร้รัฐเช่นเดียวกัน[9] อ้างอิง
|