Share to:

 

ประเพณีรับบัว

ประเพณีรับบัว
ชื่อเต็มประเพณีรับบัว
ชื่อสามัญประเพณีรับบัว
ประเภทพระพุทธรูป
ความสำคัญประเพณีประจำท้องถิ่น
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประเพณีรับบัว วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด ทั้ง ๓ พวกก็ปรึกษาหารือกันว่าสมควรจะช่วยกันหักล้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อทำไร่ทำสวนต่อไป บริเวณนี้แต่ก่อนเต็มไปด้วยป่าพงอ้อ พงแขมและไม้นานาชนิดขึ้นเต็มไปหมด ฝั่งทางตอนใต้ของลำคลองสำโรงก็เต็มไปด้วยป่าแสม น้ำก็เป็นน้ำเค็ม ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิดทางฝั่งตอนเหนือก็เต็มไปด้วยบึงขนาดใหญ่ ภายในบึงแต่ละบึงก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบัวหลวงมากมาย พวกคนไทย รามัญและลาว ก็พยายามหักล้างถางพงเรื่อยมาจนถึงทางแยก ๓ ทางคือ ทาง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นคลองสลุด ทางเหนือเป็นคลองชวดลากข้าว และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคลองลาดกระบัง คนทั้ง ๓ พวกก็ตกลงกันว่าควรจะแยกย้ายกันทำมาหากินคนละทางจะดีกว่าเพื่อที่จะได้รู้ภูมิประเทศว่าด้านไหนจะทำมาหากินได้คล่องดีกว่ากัน เมื่อตกลงดังนั้นแล้วจึงแยกทางกันไปทำมาหากิน โดยพวกลาวไปทางคลองสลุด ไทยไปทางคลองชวดลากข้าว พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง พวกรามัญทำมาหากินอยู่ประมาณ ๒-๓ ปี ก็ไม่ได้ผลเพราะนก หนู ชุกชุมรบกวนพืชผลต่างๆจนเสียหายมากมาย เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผลพวกรามัญก็ปรึกษาเตรียมตัวอพยพกลับถิ่นเดิมที่ปากลัด (พระประแดง) เริ่มอพยพกันในตอนเช้ามืดของเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนไปก็ได้ไปเก็บดอกบัวในบึงบริเวณนี้มากมาย คนไทยที่คุ้นเคยกับ พวกรามัญก็ไต่ถามว่าเก็บดอกบัวไปทำไมมากมายเพียงนี้พวกรามัญก็บอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียกับคนไทยที่รักและสนิทสนมชิดชอบว่าในปีต่อมาเมื่อถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ให้ช่วยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตนี้ด้วยพวกตนจะมารับ ด้วยนิสัยคนไทยนั้นชอบโอบอ้อมอารีรักพวกพ้องจึงตอบตกลง จากนั้นพวกชาวรามัญก็นมัสการหลวงพ่อโตพร้อมทั้งขอน้ำมนต์หลวงพ่อโตไปเพื่อเป็นศิริมงคลและลากลับถิ่นฐานเดิมที่ปากลัดและนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพัน ปีต่อมาพอถึงกำหนดเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ คนไทยบางพลีก็รวบรวมดอกบัวไว้ที่วัดบางพลีใหญ่ตามคำขอร้องของชาวรามัญ พวกชาวรามัญก็จะมารับดอกบัวทุกปี การมาจะมาในเวลากลางคืน มาโดยเรือขนาดจุ ๕๐-๖๐ คน จะมาถึงวัดประมาณตี ๑-๔ ของทุกครั้งที่มาและมีการตีฆ้องร้องเพลงตลอดทางอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งมีการละเล่นต่างๆในเรือ ผู้ที่คอยต้อนรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วยไมตรีจิตอันดียิ่ง คนไทยได้ทำอาหารคาวหวานต่างๆเลี้ยงรับรองโดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกันเมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็นำดอกบัวไปมนัสการหลวงพ่อโต จากนั้นก็นำดอกบัวกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด


ประการที่สอง ชาวรามัญที่ปากลัด (พระประแดง) มาทำนาอยู่ที่อำเภอบางพลี (ตำบลบางแก้ว) ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าเป็นชาวรามัญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ในสมัยกรุงธนบุรี การอพยพของชาวรามัญครั้งนี้เนื่องจากพระเจ้ามังระ คิดจะมาตีกรุงธนบุรี จึงเกณฑ์พวกรามัญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาช่วยรบ ชาวรามัญนั้นได้รับการกดขี่ข่มเหงจิตใจถูกฆ่าลูกเมีย ชาวรามัญจึงกบฏต่อพม่าโดยรวมตัวกันไปตีพม่าแต่สู้พม่าไม่ได้ ก็หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบารมีต่อพระเจ้าตากสินมหาราชและได้นำเอาปี่พาทย์มอญเข้ามาด้วยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พวกรามัญไปตั้งภูมิลำเนาที่ปากเกล็ด แขวงนนทบุรี และปากโคก แขวงปทุมธานี ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายครอบครัวชาวรามัญซึ่งอพยพมาพร้อมเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มาอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ (จังหวัดพระประแดงในอดีต) ในปี พ.ศ. ๒๓๕๘ พร้อมโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้บุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คือ พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม (ทอมา คชเสนี) ไปเป็นเจ้าเมือง ต่อมาชาวรามัญได้ทำความดีความชอบได้รับพระราชทานที่นาที่บางพลี จึงเป็นเหตุให้ชาวรามัญมาทำนาที่บางพลี ชาวรามัญนั้นจะมาเฉพาะฤดูทำนา เมื่อเสร็จสิ้นการทำนาก็จะกลับที่ปากลัด เมื่อออกพรรษาชาวปากลัดที่มีเชื้อสายรามัญส่วนใหญ่เป็นผู้เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาก็จะกลับไปทำบุญที่วัดบ้านของตน เมื่อกลับก็จะไปเก็บดอกบัวที่ตำบลบางพลีใหญ่ซึ่งมีมากมายในสมัยนั้นไปประกอบเป็น "ดอกไม้ธูปเทียน" ในการทำบุญที่มีการเทศน์คาถาพันส่งท้ายพรรษา ครั้งแรกก็เก็บกันเองต่อมาชาวอำเภอบางพลีเห็นว่าชาวรามัญมาเก็บดอกบัวทุกปี ในปีต่อๆมาจึงเก็บดอกบัวเตรียมไว้ให้ตามนิสัยคนไทยที่ชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ระยะแรกก็ส่งให้กับมือมีการไหว้ขอบคุณ ต่อมาเกิดความคุ้นเคยถ้าใกล้ก็ส่งมือต่อมือ ถ้าไกลก็โยนให้จึง เรียกว่า "รับบัว โยนบัว"


ประการที่สาม เดิมทีเดียวที่ตำบลบางพลีใหญ่ในเป็นตำบลที่มีดอกบัวมาก อำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงเช่น อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และอำเภอต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อถึงวาระต้องบำเพ็ญกุศลในเทศกาลออกพรรษาก็มาเก็บดอกบัวที่นี่ เพราะถือว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธเจ้าเวลาประทับนั่งยืน เดิน จะมีดอกบัวรองรับเสมอ อีกประการหนึ่งในเรื่องพระมาลัยได้กล่าวว่ามีชายเข็ญใจคนหนึ่งได้ถวายดอกบัวแก่พระมาลัย ยังไปเกิดเป็นเทพบุตรได้ ดังนั้นในสมัยโบราณคนจึงนิยมถวายดอกบัวแก่พระในวันออกพรรษาถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก ถึงกับลงทุนนอนค้างอ้างแรมยังตำบลนี้เพื่อเก็บดอกบัว ในสมัยแรกๆ คงเที่ยวหาเก็บกันเองแต่ในสมัยต่อมาชาวบางพลีก็จะเตรียมเก็บไว้เพื่อเป็นการทำกุศลร่วมกันเท่านั้น

พิธีกรรม

พอถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่ตอนเย็นชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ชาวพระประแดง และชาวต่างถิ่นจะชักชวนพวกพ้องเพื่อนฝูงลงเรือพร้อมด้วยเครื่องดนตรีนานาชนิดเช่น ซอ ปี่ กระจับ โทน รำมะนาโหม่ง กรับ ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น พายกันไปร้องรำทำเพลงกันไปตลอดทาง ตลอดคืน ซึ่งบางพวกจะผ่านมาทางลำน้ำเจ้าพระยา บางพวกจะผ่านมาทางลำคลองอื่นๆเข้าคลองสำโรงและมุ่งหน้ามายังหมู่บ้านบางพลีใหญ่ สำหรับชาวบางพลีนั้นจะถือปฏิบัติกันเป็นประเพณีว่าเมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็จะต้องเตรียมหาดอกบัวหลวง สำหรับมอบให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการและมิตรต่างถิ่นมาเยือนในโอกาสเช่นนี้ ก็คงแสดงมิตรจิตออกต้อนรับ จัดหาสุราอาหารมาเลี้ยงดูกันตั้งแต่ตอนค่ำของวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ส่วนพวกที่มารับบัวคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวบางพลีผู้เป็นเจ้าของบ้าน ก็จะพาขึ้นไปเยี่ยมเยือนบ้านนั้นบ้านนี้ และต่างก็สนุกสนานร้องรำทำเพลงและร่วมรับประทานอาหารสุรากันตลอดคืน พอเช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านต่างก็นำเรือของตนออกไปตามลำคลองสำโรงเพื่อไปขอรับบัวจากชาวบ้านบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การให้และการรับดอกบัวก็จะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับกันมือต่อมือ หรือก่อนให้จะยกมือพนมอธิษฐาน เสียก่อนระหว่างชาวบ้านบางพลีกับชาวต่างถิ่นที่สนิทสนมคุ้นเคยกันป็นพิเศษ บางทีชาวบางพลีก็จะโยนดอกบัวลงไปให้กันโดยไม่มีพิธีรีตอง เหตุที่มีการโยนบัวให้กัน แบบมือต่อมือจึงเลือนไปจนมีการนำไปพูดกันตอนหลังว่า รับบัว โยนบัว การรับดอกบัวของชาวต่างบ้านจากชาวบางพลีจะสิ้นสุดเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. หรือ ๐๙.๐๐ น. และชาวบ้านก็จะพากันกลับ ตอนขากลับจะมีการแข่งเรือกันไปด้วยแต่เป็นการแข่งขันโดยมีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสินและไม่มีการแบ่งประเภทหรือชนิดของเรือ ใครพอใจจะแข่งกับใครเมื่อไหร่ที่ใดก็แข่งกันไปหรือจะเปลี่ยนคู่เปลี่ยนคู่แข่งกันไปเรื่อยๆ ตามแต่จะตกลงกัน ดอกบัวที่ชาวต่างถิ่นรับจากชาวบางพลีไปนั้นจะนำไปบูชาในเทศกาลออกพรรษาตามวัดในหมู่บ้านของตน ประเพณีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ครั้นนานมาชาวต่างถิ่นที่นำเรือมารับดอกบัวจากชาวบางพลีมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เสียงกระจับ ปี่ สีซอ กลองรำมะนา เสียงเพลงเสียงเฮฮาที่เคยเซ็งแซ่ตามลำคลองสำโรงในคืนวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็ค่อยๆเงียบหายไป ต่อมาสมัยนายชื้น วรศิริ (เพชรบูรณะ วรศิริ) เป็นนายอำเภอบางพลี ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๘๑ ประเพณีรับบัวมีทีท่าว่าจะเสื่อมสูญไปนั้น ได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เมื่อได้หารือกับพ่อค้าคหบดีตลอดจนข้าราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางอำเภอบางพลีจึงได้ตกลงกันดำเนินการจัดงานประเพณีรับบัวขึ้นคือ เริ่มงานวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ และรุ่งขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันรับบัวอันเป็นครั้งแรกที่ทางราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีรับบัวของชาวบางพลี ในการจัดงานประเพณีรับบัวของทางราชการอำเภอบางพลี มีการแต่งเรือประกวด เริ่มมีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ (แต่ก่อนชาวต่างถิ่นจะตกแต่งเรือมาเพียงเพื่อความสวยงามแต่ไม่มีการประกวด) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ช่วยกันหาดอกบัวแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างบ้านและผู้จัดเรือประกวดในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ประชาชนต่างถิ่นและชาวอำเภอบางพลีจะลงเรือล่องไปตามลำคลองสำโรง ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานร่วมกัน ชาวบางพลีจะจัดสุราอาหารไว้ต้อนรับแขกต่างบ้าน ชาวต่างถิ่นคนใดรู้จักมักคุ้นกับชาวอำเภอบางพลีคนใดบ้านใดก็จะพากันไปเยี่ยมเยือน สนุกสนานกับชาวบางพลีบ้านนั้นจนรุ่งเช้า วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ต่างก็จะพากันไปดูการประกวดที่คลองสำโรงหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี ในการจัดงานประเพณีรับบัวมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ มีการแห่หลวงพ่อโต ซึ่งแต่เดิมยังมิได้มีการแห่ดังเช่นสมัยนี้ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๗ นางจั่นกับพวกได้พร้อมใจกันสร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้น ในวัดบางพลีใหญ่ใน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จัดให้มีการฉลองโดยแห่องค์พระปฐมเจดีย์นี้ตามลำคลอง แล้วกลับมาห่มองค์พระปฐมเจดีย์กลางคืนก็จัดให้มีมหรสพสมโภช แห่ไปได้ ๒-๓ ปี ก็หยุดไปด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ ซึ่งเชื่อว่าการแห่ผ้าห่อองค์พระปฐมเจดีย์นี้ได้รับแบบอย่างมาจากการแห่ผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ของอำเภอเมืองสมุทรปราการ ต่อมาก็มีการแห่รูปหลวงพ่อโตแทน โดยความเห็นชอบของท่านสมภารกุ่ย และนายฉลวย งามขำ แห่รูปภาพของหลวงพ่อโตมาหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็มีการทำหุ่นจำลองหลวงพ่อโต สานด้วยโครงไม้ปิดกระดาษทาสีทอง แล้วนำแห่แทนรูปภาพของหลวงพ่อโต ซึ่งสร้างโดยนายไสว โตเจริญ ตกกลางคืนก็มีงานมหรสพฉลองกันอย่างครึกครื้นจนถึงสมัยพระครูพิศาลสมณวัตต์เป็นเจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่ในก็ได้จัดให้ทำการหล่อรูปหลวงพ่อจำลองขึ้น สำหรับแห่ตามลำคลองด้วยอะลูมิเนียมใน พ.ศ. ๒๔๙๗ และปัจจุบันแห่โดยรูปหล่อจำลองหลวงพ่อโต (รูปปั้น) โดยจัดเป็นขบวนแห่ไปตามลำคลองสำโรงในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นการประกาศข่าวงานรับบัวให้ประชาชนทราบและวิธีนี้กลายเป็นประเพณีแห่หลวงพ่อโตก่อนวันงานรับบัว คือ วัน ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ตลอดจนถึงปัจจุบัน การแห่หลวงพ่อโตจึงเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีรับบัว ประชาชนที่อยู่สองฝั่งคลองสำโรงที่ขบวนแห่หลวงพ่อโตผ่านจัดประดับธงทิว ตกแต่งบ้านเรือนและตั้งโต๊ะหมู่บูชา พอเช้าวันรุ่งขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการประกวดเรือประเภทต่างๆของตำบลใกล้เคียงและโรงเรียนส่งเข้าประกวด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการจัดประกวด ปัจจุบันการประกวดเรือมี ๓ ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทสวยงาม ประเภทความคิด และประเภทขบขันหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ น.และงานจะสิ้นสุดลงเวลา ๑๑.๐๐ น. ของวันเดียวกัน ในบางปีจัดให้มีการประกวดเทพีการแข่งเรือ หรืออย่างอื่นแล้วแต่คณะกรรมการ จัดงานรับบัวแต่ละปีจะพิจารณาเห็นสมควร ส่วนการร้องรำทำเพลงไปตามลำน้ำดูหายๆไปจนปัจจุบันไม่มีแล้ว คงเที่ยวสนุกสนานกันตามบริเวณที่จัดให้มีมหรสพเท่านั้น

สาระเสริม

"การเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี" เป็นลักษณะเด่นของคนไทยประการหนึ่ง เราคงไม่ปฏิเสธกันว่าคนไทยเป็นผู้ที่ร่ำรวยน้ำใจ ยากที่จะหาประชากรในประเทศใดในโลกเทียมได้ แม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยอมรับในความมีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน จนได้ให้สมญาประเทศไทยว่า "สยามเมืองยิ้ม" ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั่นเอง และชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการมีสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันถึงความเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีของคนไทยเช่นกัน สิ่งนั้นคือมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษของชาวบางพลีได้มอบไว้ให้ลูกหลานของตน นั่นคือ "ประเพณีรับบัว" ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดและจัดขึ้นในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มาช้านานแต่เพิ่งปรากฏหลักฐานในราว พ.ศ. ๒๔๖๗ ว่าเดิมจัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี และจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอำเภอบางพลี ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประเพณีรับบัวว่า "ในสมัยก่อนโน้น อำเภอบางพลี มีดอกบัวมากมายตามลำคลอง หนองบึงต่างๆเป็นที่ต้องการของพุทธศาสนิกชน ในอันที่จะนำไปบูชาพระ เหตุที่เกิดประเพณีรับบัว เกิดจากชาวอำเภอพระประแดง และชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่เป็นชาวมอญ ต้องการนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันและบูชาพระในเทศกาลออกพรรษา ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ประชาชนทั้งสองอำเภอนี้ ได้ชักชวนกันพายเรือมาตามลำคลองสำโรงเพื่อมาเก็บดอกบัว เมื่อเก็บได้เพียงพอแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านของตนในวันรุ่งขึ้น (ขึ้น ๑๔ ค่ำ) ต่อมาชาวอำเภอบางพลี มีน้ำใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของบ้าน เมื่อถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันเก็บดอกบัวและเตรียมอาหารคาวหวานไว้เพื่อรอรับชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯ เช้าตรู่ของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ขบวนเรือพายของชาวอำเภอพระประแดงและชาวอำเภอเมืองฯก็จะมาถึงหมู่บ้านบางพลีใหญ่ เมื่อรับประทานอาหารที่ชาวอำเภอบางพลีเตรียมไว้ต้อนรับจนอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็จะพายเรือไปตามลำคลองสำโรง เพื่อขอรับดอกบัวจากชาวอำเภอบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง การส่งมอบดอกบัวจะทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับบัวกันมือต่อมือ โดยผู้ให้และผู้รับพนมมือตั้งจิตอธิษฐานอนุโมทนาผลบุญร่วมกัน การกระทำเช่นนี้เองจึงได้ชื่อว่าการ "รับบัว" เมื่อปฏิบัติติดต่อกันหลายๆปี จึงได้กลายเป็น "ประเพณีรับบัว" ไปในที่สุด" นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ ถึงปัจจุบัน ชาวอำเภอบางพลีต่างยังไม่แน่ใจว่าตนโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ที่พื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่ได้กลายเป็นจุดที่นักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจที่จะมาลงทุนทำกิจการต่างๆ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า อำเภอบางพลี อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯการคมนาคมสะดวกและเป็นแหล่งที่สามารถรองรับความเจริญจากกรุงเทพฯ ได้โดยตรง จึงได้พากันมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มาก ปัจจุบันอำเภอบางพลีมีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบ ๘๐๐ แห่ง นอกจากนี้หมู่บ้านจัดสรรก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สนามกอล์ฟ ขนาดใหญ่หลายแห่ง มีไว้เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้มีอันจะกินเพียงระยะเวลาไม่ถึง ๑๐ ปี สภาพของอำเภอบางพลี เปลี่ยนไปราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ จากสังคมชนบทที่ประชาชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขตามอัตภาพ กลายเป็นสังคมเมืองอุตสาหกรรม ชาวบ้านหลายครอบครัวได้กลายเป็น "เศรษฐีใหม่"ภายในพริบตา โดยการขายที่ดินให้กับนักลงทุนในราคาสูงลิ่ว ปัจจุบันสภาพสังคมในอำเภอบางพลี ไม่แตกต่างไปจากสังคมกรุงเทพฯเท่าใดนัก ทั้งด้านค่าครองชีพ การจราจร การแข่งขันประกอบธุรกิจ ฯลฯ ในสภาวะเช่นนี้แม้แต่ชาวบางพลีที่เป็นคนเก่าแก่เองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้ประเพณีรับบัวเปลี่ยนรูปโฉมจากเดิม กล่าวกันว่า "ประเพณีรับบัวก็เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆในอำเภอบางพลีที่ต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อมิให้ตนต้องสูญหายไปจากโลกนี้"

ช่วงเวลา

ตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา


Kembali kehalaman sebelumnya