ปลากริมข้างลายสำหรับปลากัดป่าที่หมายถึงปลากัด ดูที่: ปลากัดป่า
ปลากริมข้างลาย หรือ ปลากริมควาย หรือ ปลากัดป่า[2] (อังกฤษ: Croaking gourami; ชื่อวิทยาศาสตร์: Trichopsis vittata) ปลาน้ำจืดขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) จัดเป็นปลากริมชนิดหนึ่ง นับเป็นปลากริมชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและพบแพร่กระจายพันธุ์กว้างขวางหลากหลายที่สุด มีลักษณะเด่น คือ มีครีบหลัง ครีบอก ครีบก้น และครีบหางยื่นออกมาเป็นเส้นเดี่ยว ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 2-4 ก้าน และก้านครีบแขนง 6-8 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 6-7 ก้าน และก้านครีบแขนง 24-28 ก้าน จำนวนแถวของเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมี 28-29 แถว สีสันมีแตกต่างหลากหลายกันไป แม้ว่าจะอยู่ในแหล่งอาศัยแหล่งเดียวกันก็ตาม นอกจากนี้แล้วบางตัวยังมีจุดกลมสีดำอยู่กลางลำตัวและเหนือครีบอก มีแถบสีดำพาดผ่านนัยน์ตาและแก้ม มีความยาวเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งขนาดเล็ก เช่น หนองหรือบึงน้ำที่มีหญ้าหรือวัชพืชปกคลุม ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปลาที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีพฤติกรรมก้าวร้าวมักกัดกันเองอยู่เสมอ ๆ ในระหว่างปลาตัวผู้ แต่ก็ไม่รุนแรงถึงขั้นตายไปกันข้างเหมือนปลากัด[3] นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม โดยเฉพาะในต่างประเทศ ในเมืองปาล์ม บีช เคาน์ตี้ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา สามารถพบได้ตามท้องร่องระบายน้ำ และสามารถขยายพันธุ์ได้เอง เนื่องจากถูกนำไปในฐานะปลาสวยงาม[4] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Trichopsis vittata ที่วิกิสปีชีส์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Trichopsis vittata |