ปลาฉลามปากเป็ดจีน
ปลาฉลามปากเป็ดจีน (จีนตัวย่อ: 白鲟; จีนตัวเต็ม: 白鱘; พินอิน: báixún) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psephurus gladius อยู่ในวงศ์ปลาฉลามปากเป็ด (Polyodontidae) ในอันดับปลาสเตอร์เจียน (Acipenseriformes) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันเพียง 2 ชนิด (อีกชนิดหนึ่งคือ ปลาฉลามปากเป็ด (Polyodon spathula) พบในทวีปอเมริกาเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี) ปลาฉลามปากเป็ดจีนเป็นปลาที่พบเฉพาะแม่น้ำ, ทะเลสาบ และสาขาของแม่น้ำแยงซี และตัวโตเต็มวัยมักจะอพยพลงสู่ทะเล และบ่อยครั้งที่จะถูกพบในทะเลเหลือง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน หากจะกล่าวว่ามีการพบเห็นบางตัวได้โดยบังเอิญโดยการเดินทางเนื่องจากกระแสน้ำในฤดูใบไม้ผลิ ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่อยู่ตัวเดียว แต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กลับพบเห็นตัวเต็มวัยขนาดต่าง ๆ มารวมตัวกันในแหล่งน้ำตื้น ปลาฉลามปากเป็ดจีนเป็นปลากินปลา ซึ่งต่างจากอีกชนิดที่พบในทวีปอเมริกาเหนือที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารหลัก การหาอาหารจะอยู่ในระดับความลึกจากกลางน้ำลงไป ขากรรไกรของปลาชนิดนี้สามารถยื่นออกมาได้ในขณะที่ขากรรไกรปลาฉลามปากเป็ดอเมริกาเหนือไม่สามารถยื่นยาวออกไปคว้าเหยื่อได้ ปลาฉลามปากเป็ดจีนสามารถโตเต็มที่ได้ถึง 7 เมตร ซึ่งใหญ่กว่าปลาฉลามปากเป็ดอเมริกาเหนือมาก น้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม ฤดูผสมพันธุ์ของปลาฉลามปากเป็ดจีนจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนมีนาคมไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ปลาที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 25 กิโลกรัมขึ้นไป มารวมตัวกันบริเวณพื้นที่กลางแม่น้ำที่มีท้องน้ำเป็นดินโคลนหรือทราย ที่มีความเร็วของกระแสน้ำ 0.72–0.94 m/s ปริมาณอ็อกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ 8–10 มิลลิกรัม/l ค่า pH 8.2 อุณหภูมิประมาณ 18.3–20.0 องศาเซลเซียส ช่วงที่ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อน้ำบริเวณนั้นจะขุ่นราวกับสีน้ำนม ในขณะที่ตัวเมียสามารถผลิตไข่ได้ถึง 100,000 ฟอง มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2.7 มิลลิเมตร มีสีเทาอมน้ำตาล ในเดือนกรกฎาคม 2022 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติได้จัดให้ปลาฉลามปากเป็ดจีนเป็นสัตว์สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ[1] ปลาปากเป็ดจีนถูกพบเห็นในขณะที่มีชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003 สาเหตุหลักของการสูญพันธุ์คือการสร้างเขื่อนเก่อโจวป้าและเขื่อนสามผา รวมถึงการทำประมงที่มากเกินไปด้วย ดูเพิ่มอ้างอิงวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Psephurus gladius แหล่งข้อมูลอื่น
|