Share to:

 

พระพิมพ์

พระพิมพ์ คือ พระพุทธรูปขนาดเล็กที่สร้างโดยกดประทับดินด้วยแม่พิมพ์[1] ในอินเดียเรียกพระพิมพ์ว่า Sacha Sachaya หรือ Sacchaha ซึ่งเป็นภาษาปรากฤต ส่วนภาษาสันสกฤตเรียกว่า Sat-chaya โดยทุกคำมีความหมายว่า "รูปภาพที่สมบูรณ์"

ประวัติ

สันนิษฐานว่าพระพิมพ์มาจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ในช่วงเริ่มต้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึกในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน โดยสร้างรูปพิมพ์เกี่ยวข้องกับสังเวชนียสถานนั้น ๆ สันนิษฐานว่าเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5–6 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปและสังเวนียสถาน ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 3[2] ต่อมาเปลี่ยนคติการสร้างพระพิมพ์มาเป็นการสร้างพระพุทธรูปและพระพิมพ์เพื่อความเป็นกุศล พระพิมพ์ในสมัยแรกมักปรากฏคำจารึกเล็ก ๆ เช่นคาถา

ในประเทศไทยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สร้างมาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยชาวมอญเป็นผู้สร้างและมักทำด้วยดินเผา มีพื้นฐานศิลปะแบบอมราวดี แต่บางองค์มีลักษณะศิลปะคุปตะของอินเดีย พระพิมพ์ที่พบส่วนใหญ่จารึกคาถา เย ธมฺมาฯ บางแห่งจารึกเป็นคำนมัสการพระรัตนตรัย พระพิมพ์ในสมัยทวารดีส่วนใหญ่พบในภาคกลางของประเทศไทย เช่นที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

ในสมัยหริภุญชัยพบการสร้างพระพิมพ์จำนวนมาก โดยสร้างขึ้นเพื่อบรรจุในพระเจดีย์เพราะมีหลักฐานการจารึกระบุเรื่องราวการสร้างเจดีย์และบูรณะเจดีย์ พระพิมพ์ที่พบมีลักษณะศิลปะลพบุรีผสมกับพุทธศิลป์แบบมหายาน แบ่งการได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะต่าง ๆ คือ ศิลปะอินเดีย ศิลปะทวารวดี ศิลปะพุกาม และศิลปะลพบุรี

พระพิมพ์ในสมัยลพบุรีมักแสดงภาพเป็นพระพุทธรูปหลายองค์หรือพระพุทธรูปกับพระโพธิสัตว์รวมกันอยู่ในแผงพระพิมพ์เดียวกัน พระพิมพ์ในสมัยสุโขทัยมีแนวคิดการสร้างเพื่อเป็นปัจจัยให้ผู้สร้างนั้นได้เกิดในสมัยพระศรีอริยเมตไตรยตามความเชื่อในเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระพิมพ์ในสมัยสุโขทัยมักสร้างด้วยเนื้อดินเผาและเนื้อชิน โดยพบตามกรตามเจดีย์ พระพิมพ์แบบสุโขทัยถือได้ว่างดงามกว่าสมัยอื่น ๆ

ในสมัยอยุธยามีการเปลี่ยนคติการสร้างพระพิมพ์ คนเริ่มเชื่อกันเรื่องเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ การสร้างพระพิมพ์จึงเพื่อความเป็นสิริมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำพกติดตัวไปได้ เช่นในลิลิตตะเลงพ่ายระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำพระพิมพ์ของเมืองพิจิตรติดไว้ที่พระมาลาเมื่อเวลาออกทำศึก

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นได้รับการเคารพบูชาจนกลายมาเป็นพระเครื่อง[3]

อ้างอิง

  1. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546), 763.
  2. "พระพิมพ์ พระเครื่อง". ไทยศึกษา.
  3. ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์. "พระเครื่องกับสังคมไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถึง พ.ศ. 2550 : การศึกษาคติความเชื่อ รูปแบบ และพุทธพาณิชย์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Kembali kehalaman sebelumnya