Share to:

 

พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า

พริกชี้ฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum Linn. Var acuminatum Fingerh.) เป็นพืชวงศ์ Solanaceae

ชื่ออื่น ๆ

  • ชื่ออังกฤษ: spur chilli, spur chili pepper, spur pepper, long red pepper
  • ชื่อพื้นเมือง: พริกชี้ฟ้า พริกเดือยไก่ พริกบางช้าง พริกชี้ฟ้า (ภาคเหนือ) พริกมัน (กรุงเทพฯ) พริกแล้ง (เชียงใหม่) พริกซ่อม พริกขี้หนู พริกนก พริกขี้นก ดีปลีขี้นก (ใต้) ดีปลี (ปัตตานี) ปะแกว (นครราชสีมา) หมักเพ็ด พริกแกว (อีสาน) พริกยักษ์ - พริกหวาน พริกฝรั่ง พริกหลวง พริกแม้ว พริกกะเหรี่ยง พริกหัวเรือ พริกห้วยสีทน พริกสันป่าตอง พริกภูเรือ พริกจีน พริกเจแปน พริกต้ม และพริกแจว เป็นต้น

ลักษณะ

ไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามหรือออกสลับ รูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-8 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกห้อยลง เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลรูปทรงกระบอกยาว ปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นมันสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเมล็ดแบนสีนวลจำนวนมาก

การปลูก

มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุยืน 1-3 ปี ในประเทศไทยมีการนำเข้าและเพาะปลูกกันมานานแล้ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนระบายน้ำดีหรือปลูกบนดินรังปลวกก็จะมีอายุอยู่ได้นาน พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีสรรพคุณช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุในร่างกาย ลดความดันโลหิต เพราะทำให้เลือดอ่อนตัว และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี ช่วยเร่งการย่อยสลาย ขับเหงื่อ และช่วยลดน้ำหนักได้ดี ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พริกชี้ฟ้ามีรสชาติที่เผ็ดร้อนน้อยกว่าพริกขี้หนูมาก[1]

อ้างอิง

  1. หน้า 24 เกษตร, พริกชี้ฟ้า. "เรื่องน่ารู้". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,764: วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya