Share to:

 

พุฒ ล้อเหล็ก

พุฒ ล้อเหล็ก
เกิดทวี พิพัฒกุล
1 มกราคม พ.ศ. 2495
จังหวัดตรัง
เสียชีวิต1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 (68 ปี)
สถิติ
น้ำหนัก135 ปอนด์ (61 กิโลกรัม)
ส่วนสูง1.74 m (5 ft 8 12 in)
เทรนเนอร์{{{trainer}}}
สถิติขึ้นชก
ชกทั้งหมด66 (พ.ศ. 2512–2522)

พุฒ ล้อเหล็ก หรือชื่อจริง ทวี พิพัฒกุล เป็นนักมวยไทยระดับแถวหน้า โดยเป็นแชมป์ของสนามมวยเวทีลุมพินี และเวทีราชดำเนิน ฉายา ไอ้หนูเมืองตรัง มีชื่อเสียงระหว่าง พ.ศ. 2513 – 2520 สถิติการชก 80 กว่าครั้งในช่วง 10 ปี พุฒ ล้อเหล็ก ไม่เคยแพ้น็อคหรือเทคนิคเกิลน็อคเอาท์ และไม่เคยแม้แต่โดนนับ หากแต่มีเพียงครั้งเดียวที่โดนหมัดของศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ จนพุฒลงไปคลานสี่ขาแต่ไม่โดนนับ และยังเป็นฝ่ายชนะศิริมงคลในการชกที่เวทีหัวหมาก ณ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2516

พุฒ ล้อเหล็ก ได้เสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 21.00 น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

ประวัติ

พุฒ ล้อเหล็ก เกิดที่ตำบลบางด้วน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 เป็นลูกคนโตของ นายเกี้ยง กับ นางซ้อ พิพัฒกุล มีน้องชายเป็นนักมวยชื่อ "สิน ล้อเหล็ก" แต่เสียชีวิตจากการชกมวยตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี

พุฒ ล้อเหล็ก หัดมวยครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี ที่ค่ายมวยแถวบ้าน "ค่ายศ.ภิญโญ" ของ ครูสวัสดิ์ แสงสุวรรณชัยใช้ชื่อว่า "ประกายเทพ ศ.ภิญโญ" แม้ว่าจะชอบปลากัดมากแต่เห็นนักมวยซ้อมจึงอยากชกมวยบ้าง ตระเวนชกแถวภาคใต้ ชกชนะรวด 10 กว่านัด หลังจากเรียนจบ ป.7 พุฒได้ไปฝึกมวยกับ "กิ่งแก้ว (ล้อเหล็ก) บางยี่ขัน" ซึ่งเป็นแชมป์รุ่นฟลายเวตของสนามมวยเวทีลุมพินีในยุคนั้น และเป็นอาแท้ๆของพุฒ นำพุฒมาชกที่เมืองกรุงเมื่อต้นปี พ.ศ. 2512 พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อและค่ายใหม่เป็น "พุฒ ล้อเหล็ก" และได้ชกที่สนามมวยมาตรฐาน "สนามมวยเวทีลุมพินี" ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2512 โดยเป็นฝ่ายชนะคะแนน "ศิริณรงค์ ศักดิ์ธานินทร์"

พ.ศ. 2511 ได้รับคำชื่นชมว่า เป็นนักมวยที่มีหมัดหนัก สไตล์การชกบนเวทีพริ้วไหว ลีลาแม่ไม้มวยไทยงดงาม ขึ้นชกมวยไทยที่เวทีลุมพินีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 ชนะคะแนน ศิริณรงค์ ศักดิ์ธานินทร์ และต่อมาได้ครองแชมป์มวยไทยรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวทของเวทีลุมพินิเป็นเส้นแรก ชนะสามย่าน สิงห์ศรทอง จน พ.ศ. 2514 เริ่มโด่งดังเป็นขุนพลเอกของ "ครูเฒ่า" (ชนะ ทรัพย์แก้ว) สถิติการชกในปีนี้ คือ ชก 9 ครั้ง ชนะ 8 แพ้ 1 (แพ้ "วิชาญน้อย พรทวี")

พุฒโด่งดังแบบมวยไทยมากที่สุดในช่วง พ.ศ. 2516 – 2517 ชนะยอดมวยดังในยุคนั้นหลายคน เช่น แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เมืองชล จีระพันธ์ ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ พันธ์ศักดิ์ เกียรติเจริญชัย ชูชัย ลูกปัญจมา คงเดช ลูกบางปลาสร้อย ตลอดจน วิชาญน้อย พรทวี

ในการชกกับวิชาญน้อยที่เวทีราชดำเนินนั้น ชนะ ทรัพย์แก้ว ได้ทำข้อตกลงกับ เส่ย ลี้ถาวรชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยโปรโมเตอร์ศึกมุมน้ำเงิน เวทีราชดำเนิน ในการขอตัวพุฒชกกับวิชาญน้อยที่เวทีราชดำเนิน จนมีกระแสข่าวออกมาจนกระทั่งนายสนามมวยเวทีลุมพินีในขณะนั้นออกมาขัดขวาง โดยอ้างสาเหตุเรื่องของการที่นักมวยที่มีชื่อเสียงของเวทีลุมพินีจะไปชกที่เวทีอื่น ต้องแจ้งให้นายสนามมวยลุมพินีรับทราบก่อน ซึ่งชนะ ทรัพย์แก้ว พยายามจะให้ทั้งคู่ได้ชกที่เวทีราชดำเนิน เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ทำไว้กับเส่ย ทำให้เวทีลุมพินีประกาศปลดชนะออกจากการเป็นโปรโมเตอร์เวทีลุมพินี [1]

จากการที่เวทีลุมพินีประกาศปลดชนะออกจากการเป็นโปรโมเตอร์ ทำให้ บุญเยี่ยม โสภณ หัวหน้าคณะพรทวี ต้นสังกัดของวิชาญน้อย ประกาศรวมตัวหัวหน้าคณะชื่อดัง ณ ขณะนั้น ออกมากดดันให้เวทีลุมพินีคืนตำแหน่งโปรโมเตอร์แก่ชนะ และประกาศคว่ำบาตรเวทีลุมพินีจนกว่าเวทีลุมพินีจะคืนตำแหน่งให้กับชนะ จนกระทั่งเวทีลุมพินีคืนตำแหน่งโปรโมเตอร์ให้กับชนะในภายหลัง [1]

หลังจากเวทีลุมพินีประกาศคืนตำแหน่งโปรโมเตอร์ให้ชนะ มวยคู่ดังกล่าวเลื่อนการชกมาแล้วถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งได้ชกกันจริงๆ ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ผลการชก พุฒเป็นฝายชนะ[1]

หลังจากนั้น ชนะ ทรัพย์แก้ว ได้สนับสนุนให้พุฒหันมาชกมวยสากลบ้าง ปรากฏว่า พุฒชกชนะมาลัยทอง ศิษย์ขุนได้แชมป์รุ่นไลท์เวทของเวทีลุมพินี แล้วหันมาชกมวยไทย ชนะ สะท้านฟ้า ส.ประทีป ขุนพล สาครพิทักษ์ แล้วพุฒหันมาชกมวยสากลชนะติดต่อกันอีกสองครั้ง จึงได้เป็นรองแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์เวลเตอร์เวทของสมาคมมวยโลก[2]

หลังจากได้เป็นรองแชมป์โลก พุฒก็เริ่มเบื่อหน่ายการชกมวยสากล หันไปชกมวยไทยเป็นหลัก จน 25 มีนาคม 2519 ชกแพ้คะแนน เนตร ศักดิ์ณรงค์ ที่เวทีราชดำเนิน แต่ก็แก้มือชกชนะได้ หลังจากนั้น พุฒหาคู่ชกในแบบมวยไทยยาก หยุดชกไป 2-3 ปี จึงขึ้นชกกับเซียนโหงว ศิษย์บางพระจันทร์ แต่ปรากฏว่าพุฒที่สังขารโรยยาเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไป จึงแขวนนวมไปโดยปริยาย[3]

พ.ศ. 2527 ติดอันดับ 1 ใน 10 ของการจัดอันดับยอดมวยไทยตลอดกาล ของเวทีมวยราชดำเนิน ในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้มีการแข่งขันมวยไทยระหว่าง พุฒ ล้อเหล็ก กับ สกัด เพชรยินดี ในรายการ "ศึกเชิดชูไทย+วันสหพล" ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบแข่งจริง ด้วยเงินเดิมพันขั้นต่ำหนึ่งล้านบาท[4] ซึ่งแท้จริงแล้วการแข่งขันครั้งดังกล่าวมิได้มุ่งเน้นที่เงินทอง หากแต่เพียงต้องการให้นักมวยไทยรุ่นหลังมีการใช้ศิลปะมวยไทยได้อย่างถูกต้อง[5] จากการแข่งขันครั้งดังกล่าว พุฒ ล้อเหล็ก เป็นฝ่ายชนะคะแนน[6]

จากโพลสำรวจของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เมื่อ พ.ศ. 2542 ระบุว่า พุฒ ล้อเหล็ก คือยอดนักมวยไทยที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในรอบ 50 ปี (พ.ศ. 2492–2542) เพราะในช่วงเวลา 11 ปี ด้วยสถิติการชกมวย 80 กว่าครั้ง พุฒ ล้อเหล็ก ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาคือยอดมวยไทยตัวจริง ที่มีทั้งความฉลาดปราดเปรียว ความว่องไวไหวพริบ รวมทั้งเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงหรือกลยุทธ์ในการเอาชนะคู่ต่อสู้ เกจิมวยหลายคนก็ยอมรับว่าพุฒคืออีกหนึ่งในตำนานมวยไทยยอดมวยฝีมือ นับเนื่องมาจากผล พระประแดง เมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น[7]

ในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 21.00 น. พุฒ ล้อเหล็ก ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หลังเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ สมาคมชาวย่านตาขาว เขตเทศบาลตำบลย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563 และวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ประกอบพิธีฌาปนกิจฝังศพ ณ วัดนาโตงไชยาราม ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง[8][9]

ชีวิตครอบครัว

พุฒ ล้อเหล็ก นับถือศาสนาพุทธ สมรสกับ นางฉลวย พิพัฒกุล (นามสกุลเดิม ราชภักดี) ใช้ชีวิตอยู่ที่ บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าพญา อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีลูกทั้งหมด 3 คน คนที่ 1 พัชรีภรณ์, คนที่ 2 วัฒนพงษ์ เป็นผู้จัดการค่ายล้อเหล็กยิม และคนสุดท้อง กิตติพันธ์

เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 พุฒ เปิดค่ายมวย"ล้อเหล็กยิม" ทำหน้าที่เป็นครูมวยและให้ลูกชายทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ นักมวยในค่ายจะชกในสังกัด "ศึกวันทรงชัย" ของทรงชัย รัตนสุบรรณ นอกจากนี้ยังมีกิจการเปิดร้านขายข้าวหมกไก่ที่บ้านด้วย

เกียรติประวัติ

  • แชมป์มวยไทยรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท (122 ปอนด์) ของสนามมวยเวทีลุมพินี - ชนะคะแนน สามย่าน สิงห์ศรทอง เมื่อ 29 ม.ค.2514
  • แชมป์มวยสากลรุ่นไลต์เวท (135 ปอนด์) ของเวทีราชดำเนิน - ชนะทีเคโอ ยกที่ 7 มาลัยทอง เลือดเมืองใต้ เมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2518
  • แชมป์ประเทศไทย (มวยสากล) รุ่นไลท์เวท

ผลงาน

2515
  • 15/2/2515 ชนะคะแนน ฟ้าใส ทวีชัย หัวหมาก
  • 14/3/2515 ชนะคะแนน ไชยยุทธ สิทธิบุญเลิศ ลุมพินี
  • 25/4/2514 แพ้คะแนน วิชาญน้อย พรทวี ลุมพินี
  • 9/6/2515 ชนะคะแนน สายฟ้า แสงมรกต ลุมพินี
  • 4/8/2515 แพ้คะแนน เด่นธรณี เมืองสุรินทร์ ลุมพินี
  • 1/9/2515 แพ้คะแนน บุเรงนอง สาครพิทักษ์ ลุมพินี
  • 6/10/2515 ชนะคะแนน บุรีรัมย์ สวนมิสกวัน ลุมพินี
  • 15/12/2515 ชนะคะแนน ศรนักรบ เกียรติวายุภักษ์ ลุมพินี
2516
  • 9/2/2516 ชนะคะแนน แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ลุมพินี
  • 11/5/2516 ชนะคะแนน เมืองชล จีระพันธ์ ลุมพินี
  • 7/9/2516 ชนะคะแนน ศิริมงคล ลูกศิริพัฒน์ หัวหมาก
  • 14/12/2516 ชนะคะแนน พันธ์ศักดิ์ เกียรติเจริญชัย ลุมพินี
2517
  • 8/2/2517 ชนะคะแนน ชูชัย ลูกปัญจมา ลุมพินี
  • 12/3/2517 ชนะคะแนน แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ลุมพินี
  • 31/5/2517 ชนะคะแนน คงเดช ลูกบางปลาสร้อย ลุมพินี
  • 12/7/2517 แพ้คะแนน แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ลุมพินี
  • 8/10/2517 ชนะคะแนน แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ลุมพินี

นักมวยที่เคยปะทะฝีมือ

รางวัลที่ได้รับ

  • พ.ศ. 2557 - รางวัลฮอลล์ออฟเฟม (มวย) สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 8[10][11][12]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 เรื่องของเจ๋ง:พุฒ ล้อเหล็ก กับปมปัญหาชกมวยข้ามเวที EP27
  2. ชายพจน์. ยอดมวยเมืองตรัง พุฒ ล้อเหล็ก (1) นิตยสารมวยโลก ปีที่ 30 ฉบับที่ 1446 23 – 29 พฤษภาคม 2555 หน้า 44 - 46
  3. ชายพจน์. ยอดมวยเมืองตรัง พุฒ ล้อเหล็ก (2) นิตยสารมวยโลก ปีที่ 30 ฉบับที่ 1447 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 หน้า 20 - 21
  4. มวยสยามรายวัน. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554. หน้า 28
  5. เลือดมวยไทยร้อนแรงเกินห้ามใจ
  6. น็อคเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1954. หน้า 6-7
  7. www.gmwebsite.com
  8. สิ้นไอ้หนูเมืองตรัง! “พุฒ ล้อเหล็ก” ตำนานมวยไทย เสียชีวิตในวัย 68 ปี เก็บถาวร 2020-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย Trang Corner มุมของคนตรัง
  9. ญาตินำศพ “พุฒ ล้อเหล็ก” กลับบ้านเกิดจังหวัดตรัง “กิจ หลีกภัย” ประธานรดน้ำศพ สยามรัฐ
  10. สยามกีฬาอวอร์ดส์จัดยิ่งใหญ่ มิ้ว,เมย์ ซิวนักกีฬาสมัครเล่น : SMMOnline.net[ลิงก์เสีย]
  11. "จิระพงศ์-รัชนกซิวนักกีฬายอดเยี่ยมสยามกีฬาฯ - Sport - Manager Online". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-03-06.
  12. 'จิระพงศ์-รัชนก' ซิวนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยม - ข่าวไทยรัฐออนไลน์
  • วงศ์มังกร. ตำนานที่โลกไม่ลืม โคตรมวยเมืองตรัง พุฒ ล้อเหล็ก. หนังสือพิมพ์สยามกีฬา. ปีที่ 23 ฉบับที่ 8349. วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2551. หน้า 27
  • สถิติการชกมวยสากล

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya