Share to:

 

ภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนีย

อาณาจักรเคานท์ต่างๆ ในภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนีย

ภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนีย หรือ ภูมิภาคชายแดนสเปน หรือ ภูมิภาคชายแดนบาร์เซโลนา (อังกฤษ: Marca Hispanica หรือ Spanish March หรือ March of Barcelona) คือฉนวนดินแดนที่เลยไปจากจังหวัดเซ็พติเมเนียที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาร์เลอมาญในปี ค.ศ. 795 เพื่อใช้เป็นบริเวณกันชนระหว่างอุมัยยะห์มัวร์แห่งอัล-อันดะลุสและจักรวรรดิแฟรงก์

ในความหมายที่กว้างกว่า “ภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนีย” หมายถึงกลุ่มอาณาจักรขุนนาง หรือ เคานท์ไอบีเรียที่ก่อตั้งขึ้นโดยแฟรงก์ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงอาณาจักรเดียวคืออันดอร์รา เมื่อเวลาผ่านไปอาณาจักรเหล่านี้ก็รวมตัวกันเป็นอิสระจากอำนาจของจักรวรรดิแฟรงก์

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

บริเวณภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนียอย่างกว้างๆ ตรงกับบริเวณระหว่างเทือกเขาพิเรนีสและแม่น้ำเอโบร (Ebro River) ประชากรในบริเวณนั้นมาจากหลายกลุ่มชนที่รวมทั้งชาวไอบีเรีย, ชาวบาสค์, ชาวยิว และ ชาวกอธผู้ได้รับการพิชิตและตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอิเมียร์ของมุสลิมทางตอนใต้ หรือโดยจักรวรรดิแฟรงก์ทางตอนเหนือ ดินแดนเปลี่ยนมือไปตามความรุ่งเรืองหรือตกอับของจักรวรรดิทั้งสอง และอำนาจของขุนนางต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในที่สุดประมุขและประชาชนของภูมิภาคชายแดนก็ก่อตั้งตนเป็นอิสระ ที่กลายมาเป็นราชอาณาจักรนาวาร์, ราชอาณาจักรอารากอน และ ราชอาณาจักรกาตาลุญญา

ในบรรดารัฐต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนียในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้แก่ ปัมโปลนา, ซานเกซา (Sangüesa), ฮาคา (Jaca) (อารากอน), โซบราร์เบ (Sobrarbe), ริบากอร์ซา (Ribagorza), พาลลาร์ (Pallars), อัวร์เกลล์ (Urgell), เซอร์ดานยา (Cerdanya), คอนเฟลนท์ (Conflent), รูซิลลอง (Roussillon), วาลเลสเพียร์ (Vallespir), เพเรลาดา (Perelada), เอมพูรีส์ (County of Empúries), เบซาลู (Besalú), ออโซนา (Ausona), บาร์เซโลนา และ จิโรนา (Girona)

ประวัติ

ภูมิภาคชายแดนฮิสปาเนียเป็นผลมาจากการต่อสู้อยู่สามชั่วคนระหว่างจักรวรรดิแฟรงก์และฝ่ายมุสลิม (มัวร์) ในคาบสมุทรไอบีเรีย การรุกรานของมุสลิม (Umayyad conquest of Hispania) เข้ามาถึงเทือกเขาพิเรนีสในคาบสมุทรไอบีเรีย ในปี ค.ศ. 719 กองทัพของอัล-ซามห์ อิบุน มาลิค อัล-คอว์ลานี[1] (Al-Samh ibn Malik al-Khawlani) ก็เข้ามาทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกและมีกำลังเหนือกว่าวิซิกอธที่ยังเหลืออยู่ในราชอาณาจักรเซ็พติเมเนีย และมาก่อตั้งฐานที่มั่นที่นาร์บอนน์ นโยบายการควบคุมบริเวณนี้ของมัวร์คือการยอมให้ข้อตกลงที่เป็นที่ต้องใจเช่นการสมรสระหว่างชนชั้นปกครอง หรือการตกลงตามสนธิสัญญาต่างๆ

แต่การพยายามขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ต้องมาหยุดชะงักลงชั่วคราวเมื่อได้รับความพ่ายแพ้ในยุทธการตูลูส ในปี ค.ศ. 721 ฝ่ายมัวร์แต่งตั้งผู้ครองในบาร์เซโลนา และ จิโรนา แต่ฝ่ายมุสลิมก็ยังคงดำเนินการขยายดินแดนเข้าไปในบริเวณของจักรวรรดิแฟรงก์ จนเข้าไปถึงออทุง (Autun)

ในปี ค.ศ. 730 ก็ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างผู้ได้รับชัยชนะที่ตูลูสระหว่างดยุคแห่งอากีแตน และ 'อุธมัน อิบุน ไนส์ซา (Uthman ibn Naissa) ผู้ช่วยข้าหลวงเบอร์เบอร์แห่งนาร์บอนน์ ที่จบลงด้วยการสมรสระหว่างธิดาของดยุคกับไนส์ซา ไนส์ซาหันไปปฏิวัติต่อต้านอัล-อันดะลุสแต่พ่ายแพ้ การขยายดินแดนของมุสลิมจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 732 กองทัพมุสลิมก็โจมตีกอล และอากีแตน ในช่วงแรกก็ได้รับชัยชนะ ที่รวมทั้งการปล้นเผาเมืองบอร์โดซ์. ดยุคแห่งอากีแตนจึงขอความช่วยเหลือจากชาร์ลส์ มาร์เตลประมุขฝ่ายจักรวรรดิแฟรงก์ได้ ในยุทธการตูร์มาร์เตลก็ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายมุสลิมและสามารถหยุดยั้งการรุกรานเข้ามาในฝรั่งเศสได้ หลังจากนั้นชาร์ลส์ มาร์เตลก็พยายามหาวิธีที่จะหยุดยั้งการเข้ามารุกรานของฝ่านมุสลิมในอนาคต โดยการเพิ่มอำนาจการควบคุมอากีแตนมากขึ้น

การรณรงค์ทางทหารระหว่างปี ค.ศ. 736 ถึงปี ค.ศ. 737 ก็ทำให้สามารถขับมัวร์ไกลลงไปทางใต้ได้เพิ่มขึ้น แต่ชาร์ลส์ก็ยังไม่สามารถยึดนาร์บอนน์ซึ่งได้รับการป้องกันทั้งจากฝ่ายมุสลิมและฝ่ายวิซิกอธคืนมาได้ และในปี ค.ศ. 759 นาร์บอนน์ก็มาเสียแก่ลูกของชาร์ลส์ มาร์เตล--เปแปงเดอะชอร์ท (Pepin the Short)

ชาร์เลอมาญลูกของเปแปงสามารถทำการสำเร็จตามจุดประสงค์ของราชวงศ์คาโรแล็งเชียงในการขยายบริเวณกันชนของอาณาจักรเลยไปจากเซ็พติเมเนีย ซึ่งเป็นการก่อตั้งฉนวนดินแดนอันมั่นคงระหว่างจักรวรรดิกาหลิปอุมัยยะห์และจักรวรรดิแฟรงก์

อ้างอิง

  1. Lewis, David L. (2008). God's Crucible: Islam and the Making of Europe, 570-1215. New York: W. W. Norton. p. 56. ISBN 0-393-06472-7.

ดูเพิ่ม

Kembali kehalaman sebelumnya