มนูญกฤต รูปขจร
พลตรี มนูญกฤต รูปขจร (เกิด 15 ธันวาคม พ.ศ. 2478) อดีตประธานวุฒิสภาและอดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ถึง 2 ครั้ง ประวัติมนูญกฤต เดิมมีชื่อว่า "มนูญ" เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของ ร้อยเอก มงคล กับนางส้มเกลี้ยง รูปขจร ซึ่งบิดาเป็นนายทหารเสนารักษ์ ประจำกองพันที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 ต่อมาย้ายไปประจำกองพันทหารปืนใหญ่โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพค้าขายที่บ้านเกิด ในวัยเด็กต้องย้ายโรงเรียนตามการย้ายทางราชการของบิดาเสมอ[1] การศึกษามนูญเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประชาบาล และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนโยธินบูรณะ, โรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล และโรงเรียนไพศาลศิลป์ ตามลำดับ จนถึงปีพ.ศ. 2496 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต[1] ได้เข้าศึกษาหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย ศูนย์การทหารม้าที่จังหวัดสระบุรี สอบได้เป็นที่ 1 และได้ทุนไปเรียนต่อที่ค่ายนอกซ์ สหรัฐอเมริกา จึงได้รู้จักกับ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และจบปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[1] การรับราชการราชการทหารรับราชการครั้งแรกที่หน่วยทหารม้าในจังหวัดสระบุรี จากนั้นเข้าศึกษาต่อเมื่อศึกษาจบหลักสูตรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับหมวดลาดตระเวน กองพันทหารม้าที่ 8 ในจังหวัดนครราชสีมา ประจำอยู่ที่หน่วยนี้เป็นเวลา 4 ปี ก็ได้เข้าศึกษาต่อศูนย์การทหารม้าและค่ายนอกซ์ เมื่อจบการศึกษากลับมาก็ได้ประจำอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 4 และในปีพ.ศ. 2510 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อศึกษาจบแล้วได้รับการคัดเลือกไปราชการสงครามที่เวียดนามใต้ในหน่วยกองพันทหารม้ายานเกราะ กองพลทหารอาสาสมัคร หลังจากนั้นก็เดินทางกลับไทย ภายหลังราชการสงครามในเวียดนามใต้เป็นเวลา 1 ปี ก็ได้รับการเลื่อนยศเป็น"พันตรี"ตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4[1] ราชการการเมืองหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พล.ต. มนูญกฤตได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแผ่นดิน และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปีพ.ศ. 2520 แต่ในเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ที่นำโดย พล.อ. ฉลาด หิรัญสิริ พล.ต. มนูญ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาการกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ได้นำรถถังออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ปรากฏว่าฝ่าย พล.อ. ฉลาด เป็นฝ่ายพ่ายแพ้และกลายเป็นกบฏ ต่อมาในรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.ต. มนูญกฤต เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกระทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ คือ กบฏเมษาฮาวาย ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ทำให้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และถูกถอดยศทางทหาร[2] ซึ่งในขณะนั้นมียศพันเอก และอีกครั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 หรือ กบฏ 9 กันยา ได้ร่วมมือกับ พล.อ.อ. มนัส รูปขจร น้องชายของตนซึ่งขณะนั้นมียศนาวาอากาศโท และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการอากาศโยธิน นำกองกำลังและรถถังออกปฏิบัติการ แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ต้องหลบหนีอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาสู้คดีในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งรวมถึงคดีวันลอบสังหารด้วย พร้อมกับได้เปลี่ยนชิ่อมาเป็น มนูญกฤต เช่นในปัจจุบัน ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงได้คืนยศทางทหาร และคดีวันลอบสังหารศาลได้สั่งยกฟ้อง ด้วยความช่วยเหลือของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งหันมาเล่นการเมืองแล้วในขณะนั้น จนกระทั่งในวันที่ 4 มีนาคม ปี พ.ศ. 2543 ได้ลงเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจังหวัดสระบุรี ได้รับเลือกตั้ง และได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา[3] ในการขับไล่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทางกลุ่มคนเสื้อเหลือง ในต้นปี พ.ศ. 2549 พล.ต. มนูญกฤต ในฐานะอดีตประธานวุฒิสภาได้ขึ้นเวทีในรายการ "รู้ทันประเทศไทย" ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แฉถึงพฤติกรรมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ที่มีต่อสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย ก่อนที่จะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบสัดส่วนเขตที่ 7 ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่ได้ลาออกในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ซึ่งตรงกับวันที่กลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้บุกยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ในการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน ซึ่ง พล.ต. มนูญกฤต ได้ให้เหตุผลในการลาออกครั้งนั้นว่าเพราะสุขภาพไม่ดี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ได้ออกมาเปิดเผยว่า พล.ต. มนูญกฤต เป็นผู้ให้ข้อมูลตนเกี่ยวกับประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านบาท ที่บริษัททีพีไอ บริจาคให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ด้วยวิธีการที่มิชอบ ซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคและทางฝ่ายค้านก็ได้นำข้อมูลนี้เป็นหัวข้อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศอ้างอิง
ดูเพิ่มแหล่งข้อมูลอื่น |