Share to:

 

มังตาน

มังตาน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Ericales
วงศ์: Theaceae
สกุล: Schima
Reinw. ex Blume (1823)
ชื่อทวินาม
Schima wallichii
ดอกมังตาน
ต้นมังตาน

มังตาน เป็นชื่อไม้ต้นชนิด Schima wallichii (DC.) Korth. ในวงศ์ Theaceae เปลือกชั้นในทำให้ระคายผิวหนังทำให้เป็นเม็ดผื่นคัน ใช้เบื่อปลาได้ ชื่ออื่น ๆ เช่น ทะโล้, ส่วนปักษ์ใต้เรียก พันตัน, พายัพเรียก มังกะตาน สารภีดอย คายโซ่ หรือกะโซ้, กะเหรี่ยงเชียงใหม่เรียก เต่อครื่อยสะ, กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียก เส่ยือสะ, ละโว้เรียก ลำโคระ ลำพิโย๊วะ หรือลำคิโยะ, และขมุเรียก ตุ๊ดตรุ[1] ปัจจุบัน มังตานมีจำนวนลดลงเนื่องจากพื้นที่ป่าถูกรุกราน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มังตานเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงสูงประมาณ 15-25 เมตร วัดรอบลำต้นได้ถึง 1.5 เมตร เปลือกด้านนอกขรุขระและแตกเป็นร่องลึกตามยาว มีสีเทาปนน้ำตาลอ่อน เปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาวซึ่งมีความเป็นพิษต่อผิวหนัง

ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกตามปลายกิ่งสลับกันไปมักติดเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง โคนและปลายใบเรียว ขอบใบเรียบหรือหยักตื้น ๆ ตามขอบ หลังใบมักมีสีเขียวเข้ม ท้องใบและเส้นกลางใบมีขน

ดอก คล้ายไข่ดาว ดอกสีขาวหรือขาวนวล ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ก้านดอกยาว มีกลิ่นหอม กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก สีเหลือง อยู่กลางดอก แต่มีเกสรตัวเมียเพียงอันเดียว

ผล ค่อนข้างกลม เปลือกแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลเข้ม และแตกออกตามรอยประสานเป็น 4-5 ส่วน แต่ละส่วนมีเมล็ด 4-5 เมล็ด[2]

การกระจายพันธุ์

พบมีการกระจายพันธุ์ค่อนข้างกว้างในป่า กระจัดกระจายทั่วประเทศไทย พบมากในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้งหรือป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 2,000 เมตร และป่าเบญจพรรณทั่วไปตามเขาที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย [3] มีการขยายพันธุ์ โดยเมล็ด[4]

ประโยชน์

เปลือก มีสีเทาใช้เป็นสีผสมอาหาร เปลือกต้นมีพิษทำให้คัน ชาวกะเหรี่ยงใช้เนื้อไม้ทำฟืน ทำรั้ว[5] เนื้อไม้ ใช้ทำฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง มีสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนทำพื้นบ้าน ฝาและกระดานได้ดี เปลือกต้นใช่แต่งกลิ่นธูป เบือปลา[6]

สรรพคุณทางยา

ต้นและราก ต้มน้ำดื่มรักษาโรคนิ่ว ใบสด ใช้แก้ท้องร่วง ดอก แก้ขัดเบา, ลมบ้าหมู, ลมชัก

อ้างอิง

  1. [1].E-herbarium
  2. [2].ระบบสืบค้นข้อมูล องค์การสวนพฤกษศาสตร์
  3. [3][ลิงก์เสีย].พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
  4. [4][ลิงก์เสีย].พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
  5. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า ดูฉบับเต็ม เก็บถาวร 2021-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. [5][ลิงก์เสีย].BIOBANG
Kembali kehalaman sebelumnya