Share to:

 

ยุคทองของเนเธอร์แลนด์

เรือดัตช์เดินทางกลับจากบราซิล (ค.ศ. 1640) โดย Hendrik Corneliszoon Vroom

ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Gouden Eeuw, อังกฤษ: Dutch Golden Age) คือสมัยประวัติศาสตร์ของดัตช์ที่เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เป็นสมัยที่ดัตช์มีความเจริญทางการค้าขาย ทางวิทยาศาสตร์ และทางศิลปะถึงจุดสูงสุด และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

สาเหตุของยุคทอง

ในปี ค.ศ. 1568 จังหวัดเจ็ดจังหวัดลงนามในสนธิสัญญาสหภาพแห่งยูเทรกต์ (Union of Utrecht) ในการปฏิวัติต่อต้านอำนาจการปกครองของพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนที่นำไปสู่สงครามแปดสิบปี แต่ก่อนที่สเปนจะสามารถกู้กลุ่มประเทศต่ำคืนมาได้ทั้งหมด สงครามระหว่างอังกฤษและสเปนก็อุบัติขึ้น เสียก่อน อันเป็นผลทำให้พระเจ้าฟิลลิปต้องทรงหยุดยั้งการเดินทัพคืบหน้า หลังจากที่ได้ทรงสามารถยึดเมืองสำคัญทางการค้าที่รวมทั้งบรูจส์และเก้นท์ได้แล้ว แต่การที่จะได้รับชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์ พระองค์ก็ต้องยึดอันท์เวิร์พซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่สุดทางการค้าขณะนั้นให้ได้ ซึ่งก็ทรงทำสำเร็จเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1585 เมื่ออันท์เวิร์พเสียแก่สเปน ซึ่งเป็นการยุติสงครามแปดสิบปีสำหรับเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ (เบลเยียมปัจจุบัน) แต่สหจังหวัดดัตช์ (เนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน) ก็ยังคงดำเนินการต่อสู้ต่อไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1648 - เมื่อลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia)

ภาพวาดการเฝ้ายามกลางคืนของแร็มบรันต์ (ค.ศ. 1642)

นับตั้งแต่เหตุการณ์สูญเสียเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ให้กับสเปนในปี ค.ศ. 1585 พ่อค้าผู้มีฐานะมั่งคั่งและช่างฝีมือของลัทธิคาลวินในเมืองต่างๆ ที่ตกไปเป็นของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสายสเปนต้องหนีภัยขึ้นไปทางตอนเหนือ พ่อค้าจำนวนมากหนีขึ้นไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอัมสเตอร์ดัมซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ แต่ไม่นานก็เจริญขึ้นเป็นเมืองท่าสำคัญในบริเวณนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สวนทางกับชาวโรมันคาทอลิกที่หนีลงมาอยู่าทางใต้ การอพยพของพ่อค้าและผู้คนครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นการไป “สร้างอันท์เวิร์พใหม่” การอพยพกันจากฟลานเดอร์สและบราบองต์เป็นชนวนสำคัญในการผลักดันให้เกิด “ยุคทองของเนเธอร์แลนด์” เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์เฟื่องฟู อัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการรู้หนังสือสูง นอกจากผู้ลี้ภัยจากทางใต้ของเนเธอร์แลนด์แล้วก็ยังมีผู้ลี้ภัยจากบริเวณอื่นๆ ของยุโรปมาสมทบ เช่นที่หนีมาจากการไล่ทำร้ายและสังหารทางศาสนาโดยเฉพาะชาวยิวเซฟาร์ดี (Sephardi Jews) จากโปรตุเกสและสเปน และต่อมากลุ่มอูเกอโนต์จากฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม การค้า ศิลปะ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ มีส่วนช่วยทำให้ดินแดนแผ่นดินต่ำเจริญมากขึ้นไปอีก ในยุคคนี้มีการใช้พลังงานจากกังหันลมและถ่านหินพีตที่ราคาถูก การขนส่งถ่านหินก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการขุดคลองไปยังเมืองต่างๆ มีการคิดค้นโรงเลื่อนพลังงานกังหันลม ทำให้อุตสาหกรรมต่อเรือขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการต่อเรือรบและเรือค้าขายจำนวนมาก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการป้องกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางการทหารของอาณาจักร

ทิวทัศน์ริมแม่น้ำ ชาวประมง และกังหันลม ปี ค.ศ. 1679

แต่เดิม ชาวโปรตุเกสและสเปนเป็นมหาอำนาจทางการค้ากับตะวันออกไกล แต่ดุลอำนาจเริ่มเปลี่ยนเมื่อชาวเนเธอร์แลนด์ก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1602 โดยมีเงินทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก(ที่มีการเปิดขายแก่สาธารณะ) บริษัทผูกขาดการค้ากับเอเชียเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ กลายเป็นองค์กรพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงศตวรรษที่ 17  ทำการขนส่งเครื่องเทศจากเอเชียกลับมายังยุโรปและสร้างกำไรมหาศาลจากการค้าขายต่อ ทำให้การเงินของอาณาจักรเติบโตมาก เกิดระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อดูแลผลประโยชน์ของพ่อค้า

นอกจากการค้ากับตะวันออกไกลแล้ว แหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งของสาธารณรัฐมาจากการค้ากับรัฐบอลติกและโปแลนด์ โดยชาวอัมสเตอร์ดัมรับธัญพืชและไม้มาเก็บไว้ก่อนจะขายต่อเพื่อทำกำไร การค้าทรัพยากรเหล่านี้ยังทำให้สาธารณรัฐไม่ต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงเนื่องจากการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของฝรั่งเศสและอังกฤษในศตวรรษที่ 17 นอกจากนี้ กรุงอัมสเตอร์ดัมอยู่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีอีกด้วยโดยอยู่กึ่งกลางระหว่างระยะทางจากอ่าวบิสเคย์(ใกล้ฝรั่งเศสสเปน)และทะเลบอลติก(ใกล้สวีเดนและรัสเซีย) ดังนั้น เรือสินค้าจากบอลติกมักจะจอดที่อัมสเตอร์ดัมเพื่อขนส่งสินค้าอย่างธัญพืช ปลาจากบอลติกไปยังประเทศตะวันตก และรัฐตะวันตกก็นำสินค้าจำพวกเกลือ ไวน์ เสื้อผ้า เงิน และเครื่องเทศ ไปจำหน่ายให้รัฐบอลติกผ่านพ่อค้าคนกลางในอัมสเตอร์ดัม ชาวดัตช์จึงได้ผลประโยชน์มหาศาลจากเรือที่แวะพักและมาแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

การผูกขาดการค้ากับญี่ปุ่น

การค้าที่ผูกขาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์กับญี่ปุ่นผ่านเกาะเดจิมะทำให้อัมสเตอร์ดัมเจริญรุ่งเรืองขึ้นมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1640 เดจิมะเป็นเกาะเทียมที่อยู่ทางตอนใต้ของนางาซากิที่รัฐบาลโชกุนของญี่ปุ่นอนุญาตให้ทำการค้าขายและรับวิทยาการและวัฒนธรรมแบบตะวันตกได้ก่อนปี ค.ศ. 1854 และชาวดัตช์เป็นชนชาติเดียวที่ได้รับสิทธิ์ค้าขายนี้[1] วิทยาการยุโรปนี้เป็นที่เรียกในหมู่ชาวญี่ปุ่นว่า รังงะกุ ซึ่งแปลตรงตัวว่า การเรียนแบบดัตช์[2] เป็นวิทยาการความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ของยุโรป ชาวญี่ปุ่นซื้อและแปลหนังสือวิทยาศาสตร์จากชาวดัตช์จำนวนมาก ในช่วงศตวรรษที่ 17-18 วิทยาการและเศรษฐกิจของดัตช์ก้าวไกลมากและยิ่งเป็นการรับประกันสิทธิพิเศษในการค้าขายกับญี่ปุ่นนี้[3]

อุตสาหกรรมและการค้ากับชาติในยุโรป

การค้าของชาวดัตช์กับประเทศยุโรปด้วยกันเองก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน กลุ่มประเทศต่ำเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมเส้นทางการค้าตะวันออกกับตะวันตกและเหนือกับใต้ เป็นจุดผ่านไปยังดินแดนเยอรมนีผ่านทางแม่น้ำไรน์ พ่อค้าชาวดัตช์ขนส่งไวน์จากฝรั่งเศสและโปรตุเกสไปยังทะเลบอลติก และกลับมาจากทะเลบอลติกด้วยธัญพืชเพื่อขายต่อให้กับชาวทะเลเมดิเตอเรเนียน ราว ค.ศ. 1680 มีเรือดัตช์ราวๆ 1,000 ลำต่อปีเดินสมุทรอยู่ในทะเลบอลติก[4]ซึ่งประจวบเหมาะกับการซบเซาของการค้าในกลุ่มสันนิบาตฮันเซอ และชาวดัตช์ยังมีอำนาจในการควบคุมการค้ากับอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกาและสเปนอีกด้วย

นอกจากการค้าแล้ว อุตสาหกรรมอื่นยังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น การต่อเรือและการกลั่นน้ำตาล เมื่อมีความต้องการใช้ที่ดีมากขึ้น ก็มีการผันน้ำทะเลออกและสร้างเป็นแผ่นดินมากขึ้น สงครามแปดสิบปีกับสเปนเป็นสงครามที่ต่อสู้มาเพื่ออิสรภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพทางกิจกรรมเศรษฐกิจ และอิสรภาพทางการเมือง สงครามจึงได้ส่งเสริมค่านิยมของความรักชาติมากยิ่งขึ้น

โครงสร้างสังคม

ภาพวาดการเต้นรำของชาวดัตช์ โดย ยาน สเตน ค.ศ. 1663

ในศตวรรษที่ 17 โครงสร้างสังคมของเนเธอร์แลนด์ถูกกำหนดด้วยรายได้เป็นหลัก ผู้ครองที่ดินมีความสำคัญน้อยลงเนื่องจากชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล แต่กลับเป็นชนชั้นพ่อค้าที่มีบทบาทโดดเด่นในสังคมชาวดัตช์ เคลอจีทางศาสนามีอิทธิพลทางสังคมน้อยลงเช่นกันอันเป็นผลจากสงครามแปดสิบปีกับสเปนที่เนเธอร์แลนด์เรียกร้องเสรีภาพในการดำเนินศาสนา

พ่อค้าที่ร่ำรวยมุ่งสู่การขยายอำนาจด้วยการซื้อที่ดินให้อยู่ในครอบครอง  ส่วนชนชั้นสูงหรือขุนนางเก่าปะปนอยู่กับชนชั้นอื่นๆในสังคม ด้วยการแต่งงานกับพ่อค้าที่มั่งคั่ง หรือผันตัวมาเป็นพ่อค้าเองหรือรับราชการทหารแทน พ่อค้าเริ่มหันมาทำมีส่วนร่วมกับสังคมเพื่อเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจและยกระดับฐานะตัวเองผ่านทางมหาวิทยาลัย เช่น การส่งลูกหลานไปเรียนกับครูส่วนตัว(ซึ่งมักจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย)และออกเดินทางเยี่ยมมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วยุโรปเพื่อการท่องเที่ยว

เมื่อตระกูลขุนนางเก่าเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลาง ประกอบอาชีพนักกฎหมาย แพทย์ พ่อค้า นักอุตสาหกรรม และเสมียนในองค์กรใหญ่ๆ อาชีพอื่นๆอาทิช่างฝีมือและนักการค้า เจ้าของร้าน และข้าราชการถูกมองเป็นชนชั้นที่รองลงมาในสังคม ส่วนแรงงานไร้ฝีมือ แม่บ้าน บริกร กะลาสี หรือกลุ่มอื่นๆเป็นกลุ่มชนชั้นรากหญ้าในสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานในเนเธอร์แลนด์ก็ยังได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าที่อื่นในยุโรปและมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีกว่าแม้จะเสียภาษีมากกว่าปกติ

ศาสนา

สาธารณรัฐดัตช์ถือว่านิกายคาลวินเป็นนิกายประจำชาติ ชาวโปรเตสแตนท์ไม่ปฏิเสธความมั่งคั่งและชนชั้นทางสังคม อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ยังใจกว้างกับความเชื่อทางศาสนาในแบบอื่นเช่นนิกายคาทอลิก แต่ก็ไม่ถึงกับได้รับเสรีภาพมากนักเนื่องจากความบาดหมางกันในสงครามแปดสิบปีที่เป็นดั่งการห้ำหั่นกันระหว่างสองนิกาย เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เมืองที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์โดยเฉพาะลัทธิคาลวินเป็นจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่ามาก ชาวคาทอลิกยังต้องจ่ายเงินเพื่อสิทธิ์ในการเฉลิมฉลองบางเทศกาลหรือประกอบศาสนพิธีบางพิธีและถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบ้านหลังเล็กๆที่ถูกทำให้เป็นโบสถ์เท่านั้น

แนวคิดมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นแนวคิดสำคัญที่เป็นรากฐานของการเปิดกว้างทางศาสนานี้ โดยมีเอรัสมุส นักเทววิทยาศาสนาคริสต์ชาวดัตช์เป็นผู้ผลักดัน กล่าวโดยรวมแล้ว แม้ชาวดัตช์จะมีการปฏิบัติกับศาสนาอื่นและนิกายอื่นที่แตกต่างออกไปจากชาวโปรเตสแตนท์ แต่ก็ถือว่าเปิดกว้างและอลุ่มอล่วยมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีผู้อพยพชาวยิวและผู้หลบหนีการไต่ส่วนทางศาสนาเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวนมาก

วิทยาศาสตร์

ภาพเหมือนของอันโตนี ฟัน เลเวินฮุก โดย ยาน เฟร์โคลเยอ

สาธารณรัฐดัตช์มีการเปิดกว้างทางแนวคิดและภูมิปัญญา เป็นบรรยากาศที่ดึงดูดนักวิทยาศาสตร์และนักคิดของยุโรปให้เดินทางมาอาศัยอยู่ในดินแดนแผ่นดินต่ำนี้เป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยไลเดินที่ก่อตั้งโดยเจ้าชายวิลเลิมแห่งออเรนจ์ผู้เป็นสตัดเฮาเดอร์ของเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นสถานศึกษาที่มีนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์เดินทางเข้ามาศึกษาและต่อยอดองค์ความรู้ไม่น้อย อาทิ จอห์น อาโมส โคเมนิอุส บิดาแห่งโสตทัศนศึกษาผู้ที่พยายามใช้วัตถุสิ่งของช่วยในการสอนก็หนีภัยทางศานามาอยู่ที่สาธารณรัฐดัตช์เพราะเป็นผู้ผลักดันนิกายโปรเตสแตนท์ในเช็คมาก่อน และในช่วงที่อยู่ในดินแดนเนเธอร์แลดน์นี้ โคเมนิอุสเผยแพร่ผลงานทางวิชาการกว่าครึ่งหนึ่งของเขาทั้งหมด นอกจากนี้ เรอเน เดการ์ต นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสก็เคยอาศัยอยู่ในฮอลแลนด์ในช่วง ค.ศ. 1628 ถึง 1649 ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการที่สำคัญหลายเรื่องในอัมสเตอร์ดัมและไลเดิน ปิแยร์ เบล ก็เคยหนีจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1681 มาเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาที่โรงเรียนในรอตเทอร์ดัมจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต นักปรัชญาการเมืองคนอื่นๆก็เคยต้องมาอยู่ในเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งจอห์น ล็อก และบารุค สปิโนซา

คริสตียาน เฮยเคินส์ เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนที่มีความสำคัญจากผลงานการค้นพบดวงจันทร์ไททัน ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดในดาวเสาร์ และวงแหวนของดาวเสาร์ และยังประดิษฐ์นาฬิกาลูกตุ้ม เป็นเรือนแรกของโลก ส่วนอันโตนี ฟัน เลเวินฮุกนั้นมีบทบาทสำคัญในการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ โดยนำกล้องมาศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจนได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งจุลชีววิทยา[5] ทักษะการฝนเลนส์ของเลเวินฮุกทำให้กล้องจุลทรรศน์ขยายได้ถึง 245 เท่า[6]

ยาน เลห์วาเตอร์ เป็นวิศวกรไฮดรอลิกที่มีความสำคัญในการประกาศชัยชนะของชาวดัตช์ต่อน้ำทะเล กล่าวคือ เลห์วาเตอร์คิดค้นหลักการทางวิศวกรรมที่ช่วยให้ชาวดัชต์สามารถสูบน้ำทะเลออกไปเพื่อสร้างเป็นผืนแผ่นดินใหม่ที่ใช้ประโยชน์ได้เป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ การเปิดกว้างทางวิชาการยังทำให้เนเธอร์แลนด์ตีพิมพ์หนังสือเป็นจำนวนมากทางศาสนา ปรัชญา และการเมือง หนังสือที่เป็นที่ต้องห้ามในต่างประเทศถูกพิมพ์ขึ้นที่เนเธอร์แลนด์และลักลอบนำเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สำนักพิมพ์ของดัตช์เติบโตขึ้นเช่นกันในศตวรรษที่ 17

วัฒนธรรม

การพัฒนาวัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์แตกต่างกับประเทศเพื่อนบ้างอย่างเห็นได้ชัด ศิลปะแบบบารอกไม่ได้มีอิทธิพลในดินแดนแผ่นดินต่ำมากนัก เพราะความฟุ่มเฟือยแบบบารอกไม่เข้ากับหลักการความมัธยัสถ์เรียบง่ายของนิกายคาลวิน แรงผลักดันศิลปะในยุคนี้มาจากพ่อค้าและขุนนางในแถบฮอลแลนด์ที่ร่ำรวย ชาวเมืองชนชั้นกลางนิยมสะสมจานชามรูปแบบสวยงาม[7] อาหารชั้นสูงที่เคยจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มชนชั้นปกครองก็กลายเป็นอาหารมื้อทั่วไปของประชาชนผู้ร่ำรวยในเนเธอร์แลนด์ ดินแดนโพ้นทะเลของจักรวรรดิดัตช์ยังคอยป้อนเครื่องเทศ อาหาร และผลไม้เข้าสู่ครัวของชาวดัตช์ไม่ขาดสาย วัฒนธรรมการดื่มชาและกาแฟก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวดัตช์นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17[8]

จิตรกรรม

ภาพสาวใส่ต่างหูมุกของ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์

แม้ศิลปะสัจนิยมจะมีอิทธิพลต่อภาพเขียนในยุคทองของเนเธอร์แลนด์เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาศิลปะแบบบารอก แต่สิ่งที่ชาวดัตช์วาดออกมามักจะเป็นภาพชีวิต ภูมิทัศน์ และวัตถุต่างๆ การวาดภาพเหมือนบุคคลได้รับความนิยมในหมู่พ่อค้าและชนชั้นกลางที่มั่งคั่ง ในทางกลับกัน ภาพเขียนทางประวัติศาสตร์และศาสนากลับไม่ค่อยมีคนซื้อ[9] จิตรกรที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ได้แก่ แร็มบรันต์ โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ และฟรันส์ ฮัลส์

สถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมแบบดัตช์เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในยุคทอง เมืองมีการขยายตัวตามเศรษฐกิจ จึงมีการสร้างศาลาว่าการเมือง สมาคมพ่อค้า และร้านค้าขึ้นมากมาย พ่อค้าวาณิชย์ซื้อคฤหาสน์ตามแนวคลองและตกแต่งหน้าบ้านให้สมกับฐานะที่สูงขึ้น ในชนบทก็มีปราสาทและบ้านสมัยใหม่ตั้งขึ้นมากมายเช่นกัน

ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมกอทิกยังคงแพร่หลายและบางครั้งถูกผสมเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หลายสิบปีต่อมา ศิลปะแบบคลาสสิคเข้ามาเปลี่ยนแปลงลักษณะสถาปัตยกรรมในเนเธอร์แลนด์ เริ่มมีการตกแต่งน้อยลง ใช้หินธรรมชาติแทนก้อนอิฐ และพัฒนาไปสู่ความเรียบง่าย

ประติมากรรม

ประติมากรรมในสมัยยุคทองของเนเธอร์แลนด์อาจไม่โดดเด่นเท่าจิตรกรรมและสถาปัตยกรรม เนื่องจากโบสถ์โปรเตสแตนท์ไม่มีการตกแต่งภายในที่สวยงามดังเช่นโบสถ์คาทอลก รูปปั้นจะมีอยู่เพียงตามอาคารราชการ ตึกเอกชน ส่วนนอกของโบสถ์ หรือหน้าสุสาน

อ้างอิง

  1. Sinnappah Arasaratnam, "Monopoly and Free Trade in Dutch-Asian Commercial Policy: Debate and Controversy within the VOC." Journal of Southeast Asian Studies 4.1 (1973): 1-15.
  2. Marius B. Jansen, "Rangaku and Westernization." Modern Asian Studies 18.4 (1984): 541-553.
  3. Grant K. Goodman, Japan and the Dutch 1600-1853 (Routledge, 2013).
  4. "Baltic Connections: Mercantilism in the West Baltic". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2015. สืบค้นเมื่อ 19 December 2008.
  5. Burgess, Jeremy; Marten, Michael; Taylor, JRosemary (190). Under the Microscope: A Hidden World Revealed (illustrated ed.). CUP Archive. p. 186. ISBN 978-0-521-39940-1. Extract of page 186
  6. "Antony van Leeuwenhoek". www.ucmp.berkeley.edu. สืบค้นเมื่อ 19 February 2016.
  7. de Graaf, Reitze A. (16 August 2004). "De rijke Hollandse dis". WereldExpat (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 December 2008.
  8. Rose, Peter G. (2002). "Culinary History of New York" (PDF). 16 (1). Culinary Historians of New York: 1–12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 21 December 2013. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  9. Helen Gardner, Fred S. Kleiner, and Christin J. Mamiya, Gardner's Art Through the Ages, Belmont, CA: Thomson/Wadsworth, (2005): 718–19.

แหล่งข้อมูลอื่น

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ยุคทองของเนเธอร์แลนด์

Kembali kehalaman sebelumnya