ลมกรดลมกรด[1] (อังกฤษ: jet stream) คือกระแสลมแรงจัดที่มีลักษณะเป็นลำแคบและโค้งตวัดในบรรยากาศของโลก[2] ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน[3] บนโลก ลมกรดกระแสหลักจะอยู่ใกล้ระดับความสูงของเขตโทรโพพอสและเป็นลมฝ่ายตะวันตก (พัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก) กระแสลมนี้อาจเริ่มพัด หยุดพัด แตกออกเป็นสองกระแสหรือมากกว่านั้น รวมตัวกันเป็นกระแสเดียว หรือพัดไปในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจสวนทางกับกระแสลมส่วนที่เหลือด้วยซ้ำ[4] ลมกรดที่แรงที่สุดคือ ลมกรดขั้วโลก ซึ่งอยู่รอบ ๆ กระแสอากาศวนแถบขั้วโลก ที่ระดับความสูง 9–12 กิโลเมตร (5.6–7.5 ไมล์; 30,000–39,000 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล และ ลมกรดกึ่งเขตร้อน ซึ่งมีกำลังค่อนข้างอ่อนกว่า แต่พัดอยู่ในระดับสูงกว่าที่ระดับความสูง 10–16 กิโลเมตร (6.2–9.9 ไมล์; 33,000–52,000 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ลมกรดทั้งสองประเภทนี้มีอยู่ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ โดยในซีกโลกเหนือ ลมกรดขั้วโลกจะไหลเวียนเหนือเขตละติจูดกลางถึงสูงของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย รวมถึงมหาสมุทรที่อยู่ระหว่างทวีปเหล่านี้ ส่วนในซีกโลกใต้ ลมกรดขั้วโลกส่วนใหญ่จะพัดวนรอบทวีปแอนตาร์กติกา โดยลมกรดขั้วโลกทั้งสองจะพัดอยู่ตลอดทั้งปี ลมกรดมีที่มาจากปัจจัยสองประการ ปัจจัยแรกคือการที่บรรยากาศได้รับความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ซึ่งก่อให้เกิดวงจรการหมุนเวียนของอากาศ 3 วงจร ได้แก่ วงจรบริเวณขั้วโลก วงจรเฟร์เริล และวงจรแฮดลีย์ ส่วนปัจจัยที่สองคือแรงกอรียอลิสที่กระทำต่อมวลอากาศที่เคลื่อนที่เหล่านี้ โดยแรงนี้เกิดจากการที่ดาวเคราะห์หมุนรอบแกนของตัวเอง ส่วนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ตัวการสำคัญที่ขับเคลื่อนลมกรดคือความร้อนภายในดาวมากกว่าจะเป็นความร้อนจากดวงอาทิตย์ ลมกรดขั้วโลกก่อตัวใกล้กับรอยต่อระหว่างวงจรบริเวณขั้วโลกกับวงจรเฟร์เริล ในขณะที่ลมกรดกึ่งเขตร้อนก่อตัวใกล้กับรอยต่อระหว่างวงจรเฟร์เริลกับวงจรแฮดลีย์[5] นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีลมกรดรูปแบบอื่น ๆ อีกเช่นกัน ในช่วงฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ ลมกรดฝ่ายตะวันออกอาจก่อตัวขึ้นในเขตร้อน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นบริเวณที่อากาศแห้งปะทะกับอากาศชื้นกว่าในระดับสูงมาก นอกจากนี้ยังพบลมกรดระดับต่ำได้ทั่วไปในหลายภูมิภาค เช่น บริเวณตอนกลางของสหรัฐ เป็นต้น และยังมีลมกรดที่เกิดขึ้นในชั้นเทอร์โมสเฟียร์อีกด้วย[6] นักอุตุนิยมวิทยาใช้ตำแหน่งของลมกรดบางส่วนเป็นตัวช่วยในการพยากรณ์อากาศ ความสำคัญเชิงพาณิชย์หลักของกระแสลมนี้อยู่ที่การเดินทางทางอากาศ เนื่องจากตารางการบินอาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการบินไปในทิศทางเดียวกันหรือบินสวนทางกับกระแสลมนี้ สายการบินต่าง ๆ มักวางแผนเส้นทางให้บิน "ตาม" กระแสลมกรดเพื่อประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงและเวลา เส้นทางการบินแอตแลนติกเหนือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือกันระหว่างสายการบินกับหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศในการใช้ประโยชน์จากลมกรดและลมที่พัดอยู่ด้านบนเพื่อให้สายการบินและผู้ใช้รายอื่น ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุด แม้จะพบอาการปั่นป่วนในอากาศโปร่งในบริเวณที่มีลมกรดซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้โดยสารอากาศยาน แต่สถานการณ์นั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตารางการบิน อ้างอิง
|