Share to:

 

วงศ์เมือง นันทขว้าง

วงศ์เมือง นันทขว้าง (น้ำพุ)
วงศ์เมือง นันทขว้าง ในช่วง 6 เดือนก่อนเสียชีวิต
เกิด13 มีนาคม พ.ศ. 2499
เสียชีวิต28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 (18 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตเสพเฮโรอีนเกินขนาด
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากบุตรชายคนเดียวของ สุวรรณี สุคนธา นักประพันธ์นิยายชื่อดัง
บิดามารดาทวี นันทขว้าง (บิดา)
สุวรรณี สุคนธา (มารดา)
ลายมือชื่อ

วงศ์เมือง นันทขว้าง (ชื่อเล่น: น้ำพุ; 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 – 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517) เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวที่มีชื่อเสียง และฐานะครอบครัวที่มั่นคง แต่พ่อแม่หย่าร้างกัน และต้องมาอยู่กับแม่พร้อมกับพี่น้องอีก 3 คนซึ่งล้วนแต่เป็นผู้หญิง ทำให้ผู้เป็นแม่ที่ต้องทำงานเลี้ยงลูกทั้ง 4 คนดูแลได้ไม่ทั่วถึง และด้วยวัยที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ประกอบกับความที่เป็นคนมีจิตใจที่อ่อนไหว จนเกิดเป็นปมด้อย ทำให้หันเหเข้าเสพยาเสพติด จนทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ได้ดีในยุคสมัยนั้น

ประวัติ

วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือชื่อเล่นในครอบครัวว่า "น้ำพุ" เกิดเมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 เป็นบุตรของ สุวรรณี สุคนธา นักเขียน, นักประพันธ์นวนิยายชื่อดัง กับ ทวี นันทขว้าง อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533 ซึ่งได้หย่าร้างกันในเวลาต่อมา น้ำพุเป็นบุตรชายคนเดียวในลำดับที่ 2 จากจำนวนพี่น้อง 4 คนโดยมีพี่สาว 1 คนและน้องสาวอีก 2 คน หลังจากที่บิดาและมารดาได้หย่าขาดจากกัน น้ำพุและพี่น้องทั้ง 4 คนได้มาอยู่กับมารดา โดยมารดาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและดูแลบุตร

เมื่อน้ำพุเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ได้เข้ารับการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนศรีวิกรม์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 น้ำพุเป็นเด็กที่มีจิตใจอ่อนไหวทำให้เกิดปมด้อยในเรื่องของครอบครัว ประกอบกับในครอบครัวมีแต่ผู้หญิง ทำให้ความสนิทสนมระหว่างน้ำพุกับครอบครัวมีน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเนื่องจากมารดามีภาระหน้าที่ค่อนข้างมาก จึงไม่สามารถเอาใจใส่น้ำพุที่เป็นลูกชายคนเดียวได้อย่างเต็มที่ เมื่อเติบโตจนเข้าสู่วัยรุ่นจึงเริ่มเที่ยวเตร่และหันเข้าหายาเสพติด และเคยมีเรื่องราวต้องขึ้นศาลเยาวชนและเข้าสถานพินิจมาแล้ว และเนื่องจากน้ำพุมีความสนใจในด้านศิลปะจึงขออนุญาตมารดาเข้าศึกษาต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์หรือวิทยาลัยช่างศิลปกรมศิลปากรในปัจจุบัน น้ำพุจึงได้เพื่อนสนิทใหม่และได้ชักชวนกันเสพยาเสพติด ในช่วงนี้เองที่น้ำพุได้เสพยาหนักขึ้นจนทำให้ทั้งคู่ต้องหยุดเรียนไปเข้ารับการบำบัดเลิกยาเสพติด ที่สำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก จังหวัดสระบุรี

นอกจากน้ำพุจะชอบเขียนรูปแล้วยังมีความสามารถในการเขียนหนังสือ โดยมีบทความเป็นจดหมายที่เขียนถึงมารดา ซึ่งเป็นเรื่องราวของตนเองในแต่ละวันช่วงที่ไปเข้ารับการบำบัดเลิกเสพยา บทเรียงความสั้น ๆ เรื่อง"พฤติกรรมของวัยรุ่น" และเรื่อง "ครอบครัวของข้าพเจ้า" ซี่งทั้ง 3 เรื่อง ได้ถูกตีพิมพ์ลงเป็นหนังสือเรื่องของน้ำพุ ซี่งเป็นหนังสือระลึกงานฌาปนกิจของตัวเอง

หลังจากการบำบัดเลิกยาเสพติด จึงกลับเข้าเรียนโรงเรียนช่างศิลป์ต่อ และในรุ่งสางของวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 คนในบ้านได้เข้ามาพบน้ำพุนอนหงายหมดสติอยู่กลางพื้นห้องนอน จึงได้รีบนำส่งที่โรงพยาบาลเดชา แต่น้ำพุก็ได้เสียชีวิตลง สันนิษฐานว่าน้ำพุหันกลับมาเสพยาเสพติดอีกโดยเสียชีวิตจากการเสพเฮโรอีนเกินขนาด และจากการวินิจฉัยของแพทย์ระบุว่าหัวใจวายเฉียบพลัน สิริอายุได้ 18 ปี 2 เดือน 15 วัน เรื่องราวของน้ำพุเป็นอุทาหรณ์ของครอบครัวและอันตรายของยาเสพติด โดยได้ถูกนำเรื่องราวมาทำเป็นภาพยนตร์และละครทางโทรทัศน์

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

เรื่องน้ำพุได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ ในปี พ.ศ. 2527 รับบทโดย อำพล ลำพูน, ภัทราวดี มีชูธน, เรวัติ พุทธินันทน์, วรรษมน วัฒโรดม กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท และละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในปี พ.ศ. 2545 รับบทโดย ตะวัน จารุจินดา, สินจัย เปล่งพานิช, จิรายุส วรรธนะสิน

Kembali kehalaman sebelumnya