วัดดีดวด
วัดดีดวด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 769 ซ.จรัญสนิทวงศ์ 12 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาส รูปปัจจุบัน คือ พระครูศรีสิทธิบัณฑิต (ถวิล กลฺยาณธมฺโม, น.ธ.เอก,ป.ธ.6, พธ.บ.,ปว.ค.,พธ.ม.,พธ.ด.) เลขานุการเจ้าคณะแขวงวัดท่าพระ ปัจจุบัน (22 มีนาคม 2567) มีพระภิกษุสามเณร พระภิกษุ 9 รูป สามเณร 2 อารามิกชน 2 คน ประวัติวัดดีดวดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2317 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2417[1] สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อของวัดดีดวดมาจากคำเดิมว่า ดีด๊วด อาจมาจากคำภาษาไทยรวมกับคำภาษามอญ โดยคำว่า ดี เป็นคำภาษาไทย ส่วนคำว่า ด๊วด (ဍောတ်) ในภาษามอญแปลว่า "เล็ก, ไม่ใหญ่โต" อาจหมายความว่าผู้สร้างวัดนี้ชื่อดี รูปร่างเล็กก็ได้ หรือดีเป็นชื่อคนหนึ่ง ด๊วดเป็นชื่ออีกคนหนึ่ง ร่วมกันเป็นผู้สร้างวัดนี้ก็ได้ บ้างก็เล่าว่า มีชาวมอญสองคนผัวเมีย ผัวชื่อดี เมียชื่อด๊วด ได้นำอิฐล่องเรือมาขาย เมื่อมาถึงบริเวณนี้ก็ตั้งโรงทำอิฐขาย จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า นายดีและนางด๊วดคงเป็นหัวหน้าสร้างวัดนี้[2] ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสทั้งหมด 16 รูป ประกอบด้วย 1.ขรัวคลุมโปง (ช่วงสมัยรัชกาลทีี่ 5) 2.สมภารจันทร์ 3.สมภารคง 4.สมภารแป้น 5.สมภารป่วน 6.สมภารเคียว 7.สมภารฮวด 8.สมภารไข่ 9.สมภารนิ่ม 10.สมภารบุศย์ สรเสน ปกครองวัดในราวปี พ.ศ.2447-2448 เป็นอย่างน้อย 11.สมภารโต สุวรรณกาญจน์ 12.สมภารโห้ รอดวิเชียร 13.พระครูสุตาภิวัฒน์ (หลวงปู่ผล) ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.2521 14.พระครูนันทิยคุณ (แวว นนฺทิโย) พ.ศ.2522-2546 15.พระครูมงคลวุฒิสุนทร (มานิตย์ ถิรมโน) 2547-2565 16.พระครูศรีสิทธิบัณฑิต (ถวิล กลฺยาณธมฺโม) พ.ศ.2565- ปัจจุบัน อาคารเสนาสนะพระอุโบสถสร้างปี พ.ศ. 2447 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 17 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิเป็นพระประธาน กับมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงกลมแบน หล่อด้วยโลหะรมดำอีก 1 องค์ วิหารน้อยตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางป่าเลไลยก์ที่เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ดั้งเดิม[2] วิหารหลวงพ่อศิลา สร้างขึ้นมาแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม เสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2563 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา ตั้งอยู่ภายบริเวณเขตพุทธาวาส ภายในกำแพงเดียวกันกับอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อศิลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่่าแก่ สร้างด้วยศิลาแลง เมื่อก่อนมีสามชิ้นส่วนต่อกัน ปัจจุบันได้เชื่อมเป็นองค์เดียวกัน อ้างอิง
จากสื่อออนไลน์ |