Share to:

 

วัดบุณยประดิษฐ์

วัดบุณยประดิษฐ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบุณยประดิษฐ์
ที่ตั้งเลขที่ 9 ซอยพุทธมณฑล สาย 2 ซอย 7 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อปาน
เจ้าอาวาสพระครูอรรถกิจจานุกูล (สุพจน์ ฐานธมฺโม)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดบุณยประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

วัดบุณยประดิษฐ์ เดิมชื่อ วัดใหม่บุญน่วม บ้างเรียกว่า วัดใหม่ตาน่วม เมื่อปี พ.ศ. 2478 คุณโยมบุญ คุณโยมน่วม โพธินิมิตร ได้ถวายที่ดินสร้างวัดจำนวน 10 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา และได้กราบอาราธนาพระอาจารย์สวาทจากวัดศาลาแดงมาอยู่จำพรรษาและเป็นผู้ดูแลวัด จนกระทั่งท่านได้ถึงแก่มรณภาพ จากนั้นปี พ.ศ. 2489 ญาติโยมทายกทายิกาได้กราบอาราธนาหลวงพ่อสิน ติสฺโส มาจำพรรษาและดูแลปกครองวัดและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้สร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์เป็นอาทิ ท่านยังได้เปิด ให้มีการเรียนการสอนแผนกธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2503 เจ้าอาวาสองค์ที่สาม พระอาจารย์สนิท อมโร ได้สร้างกุฏิสงฆ์จำนวน 40 ห้อง ปี พ.ศ. 2510 ท่านได้ซื้อที่ดินเพิ่มขยายอาณาบริเวณวัดอีกจำนวน 5 ไร่เศษ ร่วมกับกรรมการและชาวบ้านตัดถนนมูลดินเพื่อทำทางเข้าวัด ถนนนี้ชื่อว่า ถนนพัฒนกิจ ต่อมาสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ พระวิสุทธาธิบดี มีการก่อสร้างอาคารใหม่ คือสร้างศาลาอเนกประสงค์ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซื้อที่ดินขยายอาณาบริเวณวัดเพิ่มขึ้น

วัดบุณยประดิษฐ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2547[1]

อาคารเสนาสนะ

พระอุโบสถสร้างปี พ.ศ. 2531 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสุโขทัย หน้าบันและซุ้มลงรักปิดทอง ผนังด้านนอกหินล้าง ผนังด้านในเขียนภาพพุทธประวัติและพระเวสสันดรและพระเจ้าสิบชาติ ภายในประดิษฐาน พระพุทธชินราชจำลอง

พระวิหารเป็นอุโบสถหลังเดิม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ความยาว 25 เมตร มีการบูรณะจากอุโบสถเดิมโดยได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่เป็นกระเบื้องเคลือบสุโขทัย ช่อฟ้า ใบระกา คันทวย บัวปลายเสาประดับกระจกสีทอง หน้าบันไม้สักดังเดิม ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นแบบโบราณ พื้นและผนังด้านในปูด้วยหินอ่อน ด้านนอกฉาบด้วยหินล้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว[2]

อ้างอิง

  1. "วัดบุณยประดิษฐ์". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
  2. "วัดบุณยประดิษฐ์" (PDF). สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.[ลิงก์เสีย]
Kembali kehalaman sebelumnya