Share to:

 

วัดเสนหา

วัดเสนหา
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 588 ถนนรถไฟตะวันตก ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธมงกุฎหิรัญเทวาธิราช
เจ้าอาวาสพระวินัยโกศล (ธัญญวัฒน์ เขมธโร)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดเสนหา [สะ-เน-หา] เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ประมาณ 36 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ปัจจุบันมีพระวินัยโกศล (ธัญญวัฒน์ เขมธโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ประวัติ

วัดเสนหาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 โดยนายเพิ่มเสนหา บุญนาค บุตรพระยาศรีสรราชภักดี (วัน บุนนาค) กับเปี่ยม ได้ถวายที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ อยู่ใกล้เขตพระราชวังสนามจันทร์ สร้างเป็นวัดเมื่อเดือนอ้าย ปีระกา ตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2452 โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ 2 รูป คือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร กับพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร จังหวัดราชบุรี เป็นผู้รับที่ดินแทนคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ได้เป็นประธานช่วยอุปการะตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น และยังจัดส่งพระภิกษุสามเณรจากวัดบรมนิวาสมาอยู่จำพรรษาอยู่บ้าง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรกสร้างพระอุโบสถกับหล่อพระประธานอีกส่วนหนึ่ง เป็นพระประธานหล่อด้วยทองเหลือง พระเพลากว้าง 3 ศอก และสูงตลอดถึงพระรัศมี 4 ศอก โดยจำลองแบบพระพุทธชินสีห์ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2466

วัดเสนหาตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2452 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2462 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 2 เส้น ยาว 3 เส้น ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2487 วัดยังได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2535 โดยเรียนควบคู่ไปกับนักธรรมและบาลี ยังมีโรงเรียนเทศบาล 2 วัดเสนหา (สมัครพลผดุง) ซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2465[1]

วัดมีการก่อสร้าง พระพุทธมงกุฎหิรัญเทวาธิราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องมหาจักรพรรดิปางนาคปรก ขณะกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานองค์พระ เกิดเรื่องแปลกประหลาดขึ้น มีมาณพหนุ่มรูปงามในมือถือบ่วงนาคบาศมาเข้านิมิตพระครูโชติธรรมาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส แจ้งว่าตนเป็นเทพนาคราชอยู่ในนาคพิภพ ประสงค์จะช่วยในการสร้างพระวิหารเพื่อประดิษฐานองค์พระพุทธรูป จึงขอให้พระครูโชติตั้งศาลเทพนาคราชขึ้นในบริเวณวัด แล้วการสร้างวิหารจะสำเร็จ วัดจึงดำเนินการจัดตั้งศาลเทพนาคราชขึ้น[2]

อ้างอิง

  1. "วัดเสนหา". ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-23. สืบค้นเมื่อ 2021-01-04.
  2. "วัดเสนหาสร้างเทพนาคราช". คมชัดลึก.
Kembali kehalaman sebelumnya