Share to:

 

วัดใหม่ทองเสน

13°47′39″N 100°31′17″E / 13.794182°N 100.521464°E / 13.794182; 100.521464

วัดใหม่ทองเสน
พระป่าเลไลยก์
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 74 ซอยวัดใหม่ทองเสน ถนนทหาร แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระป่าเลไลยก์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดใหม่ทองเสน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

วัดใหม่ทองเสน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2365 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2371[1] สร้างโดยพระธรรมอุดม (ถึก) ร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขณะที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิตติ พระธรรมอุดม (ถึก) ประสงค์อุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดามารดาของท่านที่ชื่อทองและเสน จึงให้ชื่อว่า "วัดใหญ่ทองเสน" โดยได้สร้างวัดลึกเข้าไปในป่าที่เป็นไร่สวนในสมัยนั้น ภายหลังได้ขุดเป็นคลองเพื่อต่อเชื่อมออกมาสู่คลองบางซื่อด้านหนึ่งและอีกด้านหนึ่งไปต่อเชื่อมกับคลองบางกระบือ จึงเรียกคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า คลองวัดใหญ่ทองเสน (คลองวัดใหม่ทองเสน) แต่เนื่องจากวัดใหม่ทองเสนเป็นวัดใหญ่ ชาวบ้านจึงเข้าใจผิดว่าเป็นสองวัด เรียกสองวัดว่าวัดใหญ่ทองเสนและวัดป่า (ป่าเลไลยก์) คล้ายกับว่าเป็นวัดแฝด

ต่อมาเมื่อสิ้นบุญท่านเจ้าพระคุณทั้งสองแล้ว วัดใหญ่ทองเสนได้กลายเป็นวัดร้าง จนประมาณปี พ.ศ. 2430 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดร้างแห่งนี้ไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำเลยแม้แต่รูปเดียว พระอธิการปั้นได้ตรวจดูสภาพวัด เห็นว่าอุโบสถ หอไตร และวิหาร ทั้งองค์พระป่าเลไลยก์ยังมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเสียหาย ท่านจึงดำเนินพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน วัดใหญ่ทองเสนและวัดป่าเลไลยก์รวมกันแล้วเหลือพื้นที่ไม่ถึง 10 ไร่ ท่านจึงให้รวมเป็นวัดเดียวกันโดยให้ชื่อใหม่ว่า "วัดใหม่ทองเสน"[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

ภายในวัดมีโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระป่าเลไลยก์ แต่เดิมก่อสร้างด้วยปูนปั้นเป็นองค์ลงรักสีดำทั้งองค์ สูง 9 เมตร แต่ปัจจุบันได้บูรณะลงรักปิดทองสีเหลืองทองดูสวยงาม โดยได้สร้างวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือรูปมณฑปสี่เหลี่ยมไว้เป็นที่ประทับ

พระป่าเลไลยก์

พระอุโบสถมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร หลังคาสูง 2 ชั้น ยื่นออกมาจากผนังน้อยมาก จึงไม่มีทวยไม้ค้ำรับ ไม่มีช่อฟ้า แต่ตรงขอบยางหลังคาเป็นรูปปั้นลายกนกตลอดแนว หน้าบันพระอุโบสถทำเป็นลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับด้วยกระจกสีหน้าอุโบสถ[3] อุโบสถมีประตูเดียว แต่ทางด้านข้างทั้งสองข้างทำประตูไว้อีกข้างละหนึ่งประตู ด้านข้างสองข้างมีหน้าต่างข้างละ 5 บาน ด้านหลังพระอุโบสถมีประตูเข้าอีกหนึ่งประตู ภายนอกมีใบเสมาคู่ทำด้วยหิน ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นงานปูนปั้นเป็นลวดลายศิลปะจีนผสมบาโรก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นลวดลายบัวจำหลักและมีผ้าทิพย์ พระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์คือ พระไสยาสน์ ที่จำลองมาจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เอาผงเสกของหลวงปู่โตไปบรรจุใต้ฐานพระนอนองค์นี้ด้วย

หอไตรสร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ แต่เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมมาก ต่อมาทางกรมศิลปากรได้มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543 บนบานประตูเป็นลายรดน้ำ ตามผนังและเพดานเป็นลวดลายดอกไม้ ส่วนหอระฆังสร้างด้วยอิฐถือปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลม[4]

อ้างอิง

  1. "วัดใหม่ทองเสน". พระสังฆาธิการ.
  2. "ประวัติวัดใหม่ทองเสน".
  3. หนุ่มลูกทุ่ง (13 ธันวาคม 2554). "ขอพรพระป่าเลไลยก์องค์ใหญ่ที่ "วัดใหม่ทองเสน"". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "วัดใหม่ทองเสน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-23. สืบค้นเมื่อ 2020-12-09.
Kembali kehalaman sebelumnya