สิงโตทรานส์วาล
สิงโตทรานส์วาล หรือ สิงโตแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Transvaal lion, Southeast african lion; ชื่อวิทยาศาสตร์: Panthera leo krugeri) เป็นชนิดย่อยของสิงโตชนิดหนึ่งที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิงโตที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ เช่น อุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเขตสงวนส่วนบุคคลคาลาฮารี[3] โดยที่ได้ชื่อมาจากจังหวัดทรานส์วาลในแอฟริกาใต้ โดยได้รับการจำแนกออกมาจากสิงโตแหลมกู๊ดโฮป (P. l. melanochaitus) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งไม่แตกต่างอะไรจากสิงโตที่พบในแอฟริกาใต้ ดังนั้นสิงโตแหลมกู๊ดโฮปอาจจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนของสิงโตทรานส์วาล[4] ตัวผู้มีขนแผงคอใหญ่และยาว มีความยาวลำตัว 2.6-3.20 เมตร รวมทั้งหาง ตัวเมียยาว 2.35-2.75 เมตร น้ำหนักของตัวผู้โดยทั่วไป 150-250 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวเมียประมาณ 110-182 กิโลกรัม ความสูงที่หัวไหล่ 0.92-1.23 เมตร ล่าสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ม้าลาย, ควายป่า, แอนทิโลป เป็นอาหาร รวมถึงลูกยีราฟที่เกิดใหม่หรืออ่อนแอด้วย นอกจากนี้แล้ว สิงโตทรานส์วาลยังมีอีกประเภทหนึ่งที่หายาก คือ สิงโตขาว ที่มีลำตัวและแผงคอเป็นสีขาวเกือบทั้งหมด โดยที่ไม่ใช่สัตว์เผือก แต่เกิดจากการผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งหาได้ยากมากและมีปริมาณที่น้อยมากแล้วในธรรมชาติ โดยจะพบได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติครูเกอร์เท่านั้น สิงโตทรานส์วาลมีมากกว่า 2,000 ตัวที่ได้รับการลงทะเบียนและคุ้มครองในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์[5] [6] อ้างอิง
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Panthera leo krugeri แหล่งข้อมูลอื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panthera leo krugeri ที่วิกิสปีชีส์ |