Share to:

 

สุวรรณหงส์

สุวรรณหงส์ เป็นนิทานพื้นบ้านของไทย ปรากฏอยู่ในปัญญาสชาดก เรียกว่า สุวรรณหงสชาดก[1]

ประวัติ

ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ละครหลวง มักนิยมเล่นกันเฉพาะเรื่องอิเหนา และอุณรุท ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับละครใน ส่วนละครนอกซึ่งเป็นละครระดับชาวบ้านที่เล่นกันนอกวังและใช้ผู้ชายเป็นตัวแสดง แสดงเรื่องตั้งแต่ครั้งกรุงเก่านั้นมีฉบับอยู่ในหอพระสมุด ด้วยกัน 14 เรื่อง ทว่าไม่บริบูรณ์เลยสักเรื่องเดียว คือ เรื่องการเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ มโนราห์ โม่งป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ไชย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ โสวัตร

ส่วนบทละครนอกอีก 5 เรื่อง ซึ่งเป็นบทละครสำนวนเก่าก่อนสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ยังไม่แน่ชัดว่า อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือไม่คือเรื่อง ไกรทอง โคบุตร ไชยเชษฐ์ พระรถเสน ศิลป์สุริวงศ์

ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงโปรดเรื่องละครนอก จึงทรงแต่งบทละครนอกขึ้น 4 เรื่อง คือ มณีพิไชยตอนต้น (ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงเสียดายเรื่อง จึงทรงพระราชนิพนธ์ต่อในตอนที่นางยอพระกลิ่นแปลงเป็นพราหมณ์)สุวรรณหงส์ แก้วหน้าม้า และนางกุลา (โสนน้อยเรือนงาม) ปรากฏว่า บทละครนอกของ พระองค์เจ้าทินกร หรือกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ เป็นที่แพร่หลายมากจนถึงบัดนี้เป็นละครนอก หรือที่เรียกกันว่าละครชาตรี นิยมเล่นกันมาก ไม่แพ้เรื่อง สังข์ทอง คาวี ไชยเชษฐ์ และ ไกรทอง

สำหรับเรื่อง สุวรรณหงส์ นี้ตอนที่นิยมเล่นละครชาตรีกันมากมี 3 ตอน คือ ตอนพราหมณ์เล็กพราหมณ์โต ชมถ้ำเพชรพลอย และตอนกุมภณฑ์ถวายม้า ผู้แสดงซึ่งเป็นตัวละครสำคัญก็มีอยู่ 3 คน เช่นกัน คือ ตอนพราหมณ์เล็กพราหมณ์โต มีพราหมณ์เล็ก (คือพราหมณ์เกศสุริยง) พราหมณ์โต (คือพราหมณ์กุมภัณฑ์) และพระสุวรรณหงส์ ส่วนตอนกุมภัณฑ์ถวายม้าก็มีผู้แสดงสำคัญ 3 คน คือ กุมภัณฑ์ยักษ์ เกศสุริยงยักษ์ และพระสุวรรณหงส์ 1 และตอนสุวรรณหงส์ต้องหอก

นอกจากนี้ยังมีต้นฉบับวรรณกรรมที่แพร่หลายไปยังภาคใต้เช่น สุวรรณหงส์ คำกาพย์ ฉบับหลวงพุทธราชศักดา จังหวัดพัทลุง เป็นต้น ซึ่งสัณนิษฐานว่า คงจะได้รับอิทธิพลจากการเล่นละครในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ก็ปรากฏเป็นวรรณกรรมใบลาน และภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ เช่น วิหารลายคำวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

อ้างอิง

  1. "สุวรรณหงส์". ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย.
Kembali kehalaman sebelumnya