สเตโกดอน
สเตโกดอน (อังกฤษ: Stegodon) เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกช้างที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stegodon (หมายถึง "รากฟัน" จากภาษากรีกคำว่า στέγειν อ่านว่า "stegein" หมายถึง "ครอบคลุม" และ ὀδούς อ่านว่า "odous" หมายถึง "ฟัน") เดิมทีสเตโกดอนถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Elephantidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับวงศ์ของช้างในยุคปัจจุบัน แต่ต่อมาได้ถูกแบ่งแยกออกมาเป็นวงศ์ของตัวเอง คือ Stegodontidae มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลาย ถึงต้นยุคไพลสโตซีน ราว 1,800,000 ปีก่อน จัดว่าเป็นช้างรุ่นที่ 6 ในลำดับวิวัฒนาการของช้าง ซึ่งนับว่าว่าเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธ ซึ่งถูกจัดอยู่ในรุ่นที่ 8 ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเสียอีก[1] สเตโกดอน จัดว่าเป็นช้างโบราณ ที่เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์กับช้างในสกุล Elephas หรือช้างเอเชียในยุคปัจจุบัน เป็นไปได้ว่าช้างเอเชียอาจสืบสายพันธุ์หรือวิวัฒนาการมาจากสเตโกดอน นอกจากนี้แล้วสเตโกดอนยังถือว่าเป็นช้างที่มีลักษณะร่วมกันของช้างเอเชียกับมาสโตดอน ซึ่งเป็นช้างโบราณอีกสกุลหนึ่งที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นกัน สเตโกดอน มีรูปร่างที่สูงใหญ่ บางตัวหรือบางชนิดอาจสูงถึง 4 เมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับช้างในยุคปัจจุบัน กะโหลกมีขนาดใหญ่ ขากรรไกรสั้น ไม่มีงาล่าง ฟันกรามประกอบด้วยสันฟันแนวขวาง 6–13 สัน มีลักษณะเด่น คือ มีงาหนึ่งคู่ที่ยาวงอกออกมาจากมุมปากทั้งสองข้าง มีลักษณะชิดติดกัน ซึ่งในบางชนิดมีความยาวได้ถึง 3.3 เมตร[2] งวงไม่สามารถแทรกลงตรงกลางงาได้ ต้องพาดไปไว้ข้างใดข้างหนึ่ง[1] ซากดึกดำบรรพ์ของสเตโกดอนถูกค้นพบในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยค้นพบที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา[2] และอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โดยที่จังหวัดสตูลนั้น ถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีน้ำทะเลไหลผ่านพื้นถ้ำด้วยความยาวกว่า 4 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านที่นี่เรียก "ถ้ำวังกล้วย" แต่ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถ้ำเลสเตโกดอน" จากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดด้วย[1] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Stegodon ที่วิกิสปีชีส์ วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ Stegodon |