Share to:

 

หลักฐานโดยเรื่องเล่า

คำว่า หลักฐานโดยเรื่องเล่า (อังกฤษ: anecdotal evidence) หมายถึงหลักฐานที่ได้มาจากเรื่องที่เล่าสู่กันฟัง เนื่องจากว่า มีตัวอย่างเพียงเล็กน้อย จึงมีโอกาสมากที่หลักฐานนั้นจะเชื่อถือไม่ได้เพราะอาจมีการเลือกเอาหลักฐาน หรือว่า หลักฐานนั้นไม่เป็นตัวแทนที่ดีของกรณีทั่ว ๆ ไปในเรื่องนั้น ๆ[1][2] มีการพิจารณาว่าหลักฐานโดยเรื่องเล่าไม่ใช่เป็นตัวสนับสนุนข้ออ้างที่ดี จะรับได้ก็ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานที่ดีกว่านั้นแล้วเท่านั้น ไม่ว่าเรื่องเล่านั้นจะซื่อสัตย์ตรงความจริงมากแค่ไหน[3][4][5]

หลักฐานอย่างนี้มักจะใช้เทียบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (scientific evidence) เช่นเมื่อกล่าวถึงวิธีการรักษาต่าง ๆ ในการแพทย์ที่อ้างอิงหลักฐาน (evidence-based medicine) คือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต้องเป็นไปตามกระบวนการระเบียบแบบแผนของวิทยาศาสตร์ แต่หลักฐานโดยเรื่องเล่าบางอย่างไม่จัดว่าเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ การใช้หลักฐานโดยเรื่องเล่าอย่างผิด ๆ เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย (informal fallacy) อย่างหนึ่ง ที่เป็นการอ้างหลักฐานเป็นต้นว่า "มีคน ๆ หนึ่งที่..." "มีกรณี ๆ หนึ่งที่..." แต่จริง ๆ แล้ว เหตุผลโดยเรื่องเล่าที่กล่าวนั้นอาจจะไม่เป็นตัวแทนที่ดีของเรื่องในประเด็นนั้น ๆ และเนื่องจากว่ามนุษย์มีความเอนเอียงทางประชานเช่นความเอนเอียงเพื่อยืนยัน (confirmation bias) จึงหมายความว่า จะจำเรื่องบอกเล่าที่เด่น ๆ หรือที่ยืนยันความคิดฝ่ายตนได้ดีกว่า การจะกำหนดว่า เรื่องบอกเล่านั้นเป็นเรื่องที่ทั่วไปในประเด็นนั้นต้องอาศัยหลักฐานโดยสถิติ[6][7]

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีความ นักจิตวิทยาได้พบว่า มนุษย์มักจะระลึกถึงตัวอย่างที่เด่นได้ดีกว่าตัวอย่างที่ทั่ว ๆ ไป[8]

อารัมภบท

ในรูปแบบของหลักฐานโดยเรื่องบอกเล่าทุกอย่าง ความน่าเชื่อถือได้โดยเป็นการประเมินแบบเป็นกลาง ๆ เป็นที่น่าสงสัย ซึ่งเป็นผลของวิธีการที่ไม่มีแบบแผนในการเก็บข้อมูล การบันทึกข้อมูล การแสดงข้อมูล หรือว่า ทั้งสามอย่างผสมผเสกัน หลักฐานชื่อนี้บ่อยครั้งใช้กล่าวถึงสถานการณ์ที่ไม่มีการบันทึกข้อมูลที่ดี จนกระทั่งว่าต้องอาศัยความน่าเชื่อถือของผู้แสดงหลักฐานนั้น ๆ

ในโครงการจำแนกประเภทสารอันตรายของสหประชาชาติ หลักฐานโดยการบอกเล่าเรียกว่า ประสบการณ์มนุษย์ (human experience) สารสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแบบบริสุทธิ์ล้วนหรือแบบผสม แม้ว่าจะไม่เข้ากับหลักเกณฑ์เพื่อการรวมเข้าในประเภท 9 อย่าง แต่ถ้ายังมีหลักฐานโดยการบอกเล่าที่แสดงว่าสินค้านั้นมีพิษต่อมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม ก็จะรวมสินค้านั้นในประเภทที่เหมาะสมด้วย

ทางวิทยาศาสตร์

ทางวิทยาศาสตร์ คำนิยามเกี่ยวกับหลักฐานโดยการบอกเล่ารวมทั้ง

  • ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่ได้เกิดจากการศึกษาที่รอบคอบ[9]
  • รายงานหรือข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์ที่ไม่รู้วิธีการทางวิทยาศาสตร์[10]
  • สังเกตการณ์หรือตัวอย่างอย่างคร่าว ๆ ที่ไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เข้มงวดกวดขันหรือเป็นไปในแนวทางวิทยาศาสตร์[11]

หลักฐานโดยเรื่องเล่ามีการประเมินด้วยมาตรฐานที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ในการแพทย์ หลักฐานโดยเรื่องเล่าที่ตีพิมพ์โดยผู้สังเกตการณ์ผู้เชี่ยวชาญเช่นหมอนั้น เรียกว่า case report ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกัน (peer review)[12] แม้ว่าหลักฐานเช่นนี้จะไม่เป็นข้อยุติ แต่บางครั้งก็จะได้รับการพิจารณาว่า เป็นการเชื้อเชิญเพื่อการศึกษาที่เข้มข้นยิ่งขึ้นไปในประเด็นนั้น ๆ[13] ยกตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า มีรายงานการแพทย์โดยเรื่องเล่า 35 กรณีจาก 47 กรณีเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา ที่ภายหลังได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง[14]

หลักฐานโดยการบอกเล่าพิจารณากันว่าเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือที่สุดในบรรดาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด[15] ซึ่งตรงกันข้ามกับ "หลักฐานทางวิทยาศาสตร์" (scientific evidence)[16] คือนักวิจัยอาจใช้หลักฐานโดยการบอกเล่าในการเสนอสมมติฐานใหม่ แต่จะไม่ใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสมมติฐานนั้น

ตรรกะที่ผิดพลาด

หลักฐานโดยการบอกเล่าพิจารณาว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) เพราะว่าความเอนเอียงทางประชาน (cognitive bias) ของมนุษย์อาจจะมีอิทธิพลต่อการรวบรวมและการแสดงหลักฐานนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่ยืนยันว่าตนได้พบกับอมนุษย์เหนือธรรมชาติหรือมนุษย์ต่างดาวอาจจะเล่าเรื่องที่ละเอียดชัดเจน แต่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าผิดพลาดได้ เป็นปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแม้กับชนกลุ่มใหญ่เพราะตรงกับความเชื่อของตน

นอกจากนั้นแล้ว หลักฐานโดยเรื่องบอกเล่ามักจะตีความหมายกันผิดโดยผ่าน availability heuristic ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่อาศัยเรื่องที่นึกถึงได้ง่ายที่สุด ซึ่งนำไปสู่การประเมินความแพร่หลายของเรื่อง ๆ หนึ่งสูงเกินไป คือ ถ้าสามารถเชื่อมเหตุ ๆ หนึ่งกับผลที่เกิดขึ้นได้อย่างง่าย ๆ เรามักจะประเมินว่าเหตุนั้นทำให้เกิดผลนั้นในระดับที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเล่าที่มีรายละเอียดชัดเจน ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกสูง ดูเหมือนว่ามีความน่าเป็นไปได้ในระดับที่สูงขึ้น เราจึงให้น้ำหนักในเรื่องนั้นสูงขึ้น และอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันก็คือ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบเรื่องบอกเล่าทุก ๆ เรื่อง คือไม่สามารถตรวจสอบเรื่องที่บางคนประสบแต่ไม่ได้พูดถึง

วิธีที่เรื่องบอกเล่ากลายเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือก็โดยผ่านการคิดหาเหตุผลที่ผิดพลาดเช่นเหตุผลวิบัติโดย "Post hoc ergo propter hoc" ซึ่งเป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ที่จะเหมาเอาว่า ถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากอีกเหตุการณ์หนึ่ง เหตุการณ์แรกนั้นต้องเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่สอง (เช่นบนพระบนเจ้าว่า ให้สอบได้ แล้วเกิดสอบได้ ดังนั้น พระหรือเจ้าเป็นผู้บันดาลให้สอบได้) เหตุผลวิบัติอีกอย่างหนึ่งก็คือการหาเหตุผลเชิงอุปนัย (inductive reasoning) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งนำไปสู่บทสรุปที่ต้องการแทนที่บทสรุปที่มีเหตุผล ก็จะเป็นเหตุผลวิบัติโดยการวางนัยทั่วไปที่ผิดพลาดหรือเร็วเกินไป[17] ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นเรื่องบอกเล่าที่ใช้เป็นหลักฐานของบทสรุปที่ต้องการ

มีหลักฐานเยอะแยะว่าน้ำนั้นช่วยรักษาโรคมะเร็ง เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง ข้าพเจ้าได้อ่านถึงเรื่องเด็กหญิงคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง หลังจากที่เธอดื่มน้ำ เธอก็หายป่วย

เรื่องบอกเล่าเช่นนี้ไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์อะไรสักอย่าง[18] ในกรณีที่องค์ประกอบบางอย่างมีอิทธิผลต่อผลที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดผลอย่างสิ้นเชิง กรณีเฉพาะ ๆ ที่เลือกมาไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์อะไร ยกตัวอย่างเช่น "ปู่ของผมสูบบุหรี่ 40 ม้วนต่อวันจนกระทั่งถึงวันตายที่อายุ 90 ปี" และ "ส่วนพี่สาวของผมไม่เคยอยู่ใกล้ใครที่สูบบุหรี่แต่กลับเสียชีวิตไปเพราะมะเร็งปอด" เรื่องบอกเล่าบ่อยครั้งชี้กรณีพิเศษ แทนที่จะชี้กรณีทั่ว ๆ ไป คือ "เรื่องบอกเล่าจะไม่ค่อยสำเร็จประโยชน์เพราะว่าอาจจะแสดงผลที่ไม่ทั่วไป"[19] คือ โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว สหสัมพันธ์โดยสถิติระหว่างเหตุการณ์สองอย่างไม่ได้ชี้ว่าเหตุการณ์ไหนเป็นเหตุของเหตุการณ์ไหน เช่น งานวิจัยหนึ่งพบว่า การดูโทรทัศน์มีสหสัมพันธ์ระดับสูงกับการบริโภคน้ำตาล แต่นี่ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การดูโทรทัศน์ทำให้บริโภคน้ำตาลมาก หรือแม้แต่ทางตรงกันข้าม

ในการแพทย์ ยังต้องมีการตรวจดูว่าหลักฐานแบบบอกเล่าเช่นนั้นเป็นผลของปรากฏการณ์ยาหลอกหรือไม่อีกด้วย[20] คือมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ความคาดหมายหรือความหวังของคนไข้หรือของหมอสามารถมีผลต่อการรักษาได้จริง ๆ การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบปิดสองทาง (double-blind) ให้ยาโดยสุ่ม (randomized) โดยมีกลุ่มควบคุมที่ใช้ยาหลอกเท่านั้น ที่สามารถจะยืนยันสมมติฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพการรักษาโดยไม่มีผลจากความต้องการหรือความคาดหวัง

โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ในวิทยาศาสตร์และตรรกศาสตร์ กำลังของคำอธิบายขึ้นอยู่กับว่าสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ว่ามีเหตุดังที่ว่าจริง ๆ และสามารถตรวจสอบได้โดยเป็นกลางโดยวิธีที่นักวิจัยอื่น ๆ เห็นด้วยว่าเป็นวิธีการตรวจสอบที่สมควร ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยโดยคนอื่น ๆ

กฎหมาย

โดยกฎหมายแล้ว การให้การของพยานเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งกฎหมายก็มีวิธีที่จะเช็คดูพยานว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ กระบวนการตามกฎหมายเพื่อที่จะสืบหาและตรวจสอบหลักฐานมีแบบแผน คำให้การของพยานบางพวกอาจจะจัดอยู่ในหลักฐานโดยเรื่องบอกเล่า เช่นเรื่องราวจากบุคคลต่าง ๆ ที่ประสบการก่อกวน (harassment) ที่พบในคดีฟ้องร้องในนามกลุ่มบุคคล (เช่นฟ้องศาลเรื่องบริษัทมีนโยบายที่มีผลให้เกิดการก่อกวนทางเพศต่อพนักงานของบริษัท) ถึงอย่างนั้น การให้การของพยานก็ยังสามารถประเมินความน่าเชื่อถือได้ ตัวอย่างของวิธีตรวจสอบและประเมินหลักฐานจากพยานรวมทั้งการซักถาม หลักฐานจากพยานที่ให้การคล้อยตามกัน เอกสาร วีดิโอ และหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์อื่น ๆ ถ้าศาลไม่มีวิธีในการตรวจสอบและประเมินคำให้การของพยานคนหนึ่ง ๆ เช่นไม่มีคำให้การอื่นที่เข้ากันหรือยืนยันกัน ศาลก็อาจจะตัดสินว่าหลักฐานมีผลจำกัดหรือไม่มีน้ำหนักในการตัดสินคดี

หลักฐานวิทยาศาสตร์โดยเป็นหลักฐานทางนิติ

ในบางกรณี หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอต่อศาลต้องครบองค์ประกอบเพื่อจะใช้เป็นหลักฐานในศาล ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา คำให้การของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต้องได้มาตรฐาน Daubert standard ซึ่งบ่งว่า หลักฐานที่ผู้เชี่ยวชาญให้ต้องผ่านกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่ว ๆ ไปของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ในบางกรณี หลักฐานโดยเรื่องบอกเล่าอาจจะครบองค์ในการให้การแบบนี้ เช่น case report ที่ยืนยันหรือปฏิเสธหลักฐานอื่น ๆ

ศ. แอลต์แมนและแบลนด์เสนอว่า case report หรือข้อมูลที่ไม่ลงตัวกับสถิติทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถที่จะตัดสินว่าไม่มีน้ำหนักโดยสิ้นเชิง คือ

ในกรณีของโรคที่หายาก

การค้นพบที่ไม่มีนัยสำคัญในการวิจัยโดยสุ่มไม่ได้หมายความว่า

จะไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุที่ไม่มีนัยสำคัญและโรคที่เป็นประเด็นงานวิจัย[21]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. p. 75 of Psychology: Themes and Variations by Wayne Weiten
  2. p. 25 in Research in Psychology: Methods and Design, by C. James Goodwin.
  3. Carroll, Robert Todd. Anecdotal (testimonial) evidence, from the Skeptic's Dictionary.
  4. Novella, Steven. Science-based Medicine. Link. Second link. Retrieved 26 August 2012.
  5. Bearden, James. Anecdotal evidence. Link. เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. Schwarz J, Barrett S. Some Notes on the Nature of Evidence.Link. Retrieved 26 August 2012. "Anecdotal evidence is unreliable, because positive results are much more likely to be reported than negative ones."
  7. Introduction to Statistical Inference section 1.1. Link. เก็บถาวร 2014-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Gibson, Rhonda; Zillman, Dolf (1994). "Exaggerated Versus Representative Exemplification in News Reports: Perception of Issues and Personal Consequences". Communication Research. 21 (5): 603–624. doi:10.1177/009365094021005003.
  9. "Cambridge Dictionaries Online". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-13. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18.
  10. Merriam-Webster
  11. "YourDictionary.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18.
  12. Jenicek, M. (1999). Clinical Case Reporting in Evidence-Based Medicine. Oxford: Butterworth–Heinemann. pp. 117. ISBN 0-7506-4592-X.
  13. Vandenbroucke, J. P. (2001). "In Defense of Case Reports and Case Series". Annals of Internal Medicine. 134 (4): 300–334. PMID 11182844.
  14. Venning, G. R. (1982). "Validity of anecdotal reports of suspected adverse drug reactions: the problem of false alarms". Br Med J (Clin Res Ed). 284 (6311): 249–52. doi:10.1136/bmj.284.6311.249. PMID 0006799125.
  15. Riffenburgh, R. H. (1999). Statistics in medicine. Boston: Academic Press. pp. 196. ISBN 0-12-588560-1.
  16. "U.S. Legal.com". U.S. Legal Forms, Inc. สืบค้นเมื่อ 17 December 2012.
  17. Thompson B. Fallacies. เก็บถาวร 2006-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. Logic via infidels.org
  19. Sicherer, Scott H. (1999). "Food allergy: When and how to perform oral food challenges". Pediatric Allergy & Immunology. 10 (4): 226–234. doi:10.1034/j.1399-3038.1999.00040.x.
  20. Lee D (2005) . Evaluating Medications and Supplement Products. via MedicineNet
  21. Altman, D. G.; Bland, M. (1995). "Absence of evidence is not evidence of absence". British Medical Journal. 311 (7003): 485. doi:10.1136/bmj.311.7003.485.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya