หินดำหินดำ (อาหรับ: ٱلْحَجَرُ ٱلْأَسْوَد, อัลฮะญะรุลอัสวัด) เป็นหินที่ตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกของกะอ์บะฮ์ อาคารโบราณที่อยู่ตรงกลางมัสยิดอัลฮะรอมในมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย มุสลิมเคารพหินนี้เป็นเรลิกของอิสลาม ซึ่งมีธรรมเนียมมุสลิมระบุว่าหินนี้มีอายุตั้งแต่สมัยอาดัมและอีฟ[1] หินที่กะอ์บะฮ์ก้อนนี้ได้รับการเคารพบูชาในสมัยก่อนการมาของอิสลาม ตามธรรมเนียมอิสลามระบุว่า ศาสดามุฮัมมัดนำหินก้อนนี้มาติดที่กำแพงกะอ์บะฮ์ใน ค.ศ. 605 ห้าปีก่อนได้รับโองการแรก นับตั้งแต่นั้ันมา หินนั้นถูกทำให้แตกเป็นชิ้น ๆ และปัจจุบันนำไปครอบด้วยเงินที่มุมกะอ์บะฮ์ รูปร่างหินเป็นหินสีเข้มที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งถูกขัดให้เรียบด้วยมือของผู้แสวงบุญ และมักได้รับการกล่าวถึงเป็นอุกกาบาต[2] ผู้แสวงบุญมุสลิมเดินวนรอบกะอ์บะฮ์ (เฏาะวาฟ) ในช่วงฮัจญ์ และมีหลายคนพยายามหยุดเพื่อจุมพิตหินดำ โดยเลียนแบบการจูบตามธรรมเนียมอิสลามที่บันทึกไว้ว่าได้รับจากมุฮัมมัด[3][4] แม้ว่ามุสลิมให้การเคารพหินดำ แต่พวกเขาไม่ได้บูชามัน[5][6] รูปลักษณ์หินดำเคยเป้นหินก้อนเดียว แต่ปัจจุบันประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นที่ประสานเข้าด้วยกัน โดยมีกรอบเงินที่ยึดด้วยตะปูเงินเข้ากับผนังด้านนอกของกะอ์บะฮ์อยู่ล้อมรอบหินนี้[7] ชิ้นส่วนเหล่านี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่าซึ่งรวมกันเป็นชิ้นส่วนหินเจ็ดหรือแปดชิ้นที่มองเห็นได้ในปัจจุบัน ส่วนที่เปิดเผยของหินมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร (7.9 นิ้ว) กับ 16 เซนติเมตร (6.3 นิ้ว) ส่วนขนาดดั้งเดิมยังไม่เป็นที่กระจ่าง และข้อมูลมุมที่บันทึกเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เนื่องจากชิ้นส่วนหินได้รับการจัดเรียงใหม่หลายต่อหลายครั้ง[2] โดยในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ผู้สังเกตกล่าวถึงหินนี้ว่ามีความยาวเพียง 1 Cubit (46 เซนติเมตร หรือ 18 นิ้ว) จากนั้นในช่วงต้นคริสตืศตวรรษที่ 17 มีบันทึกว่าหินมีความยาว 140 โดย 122 เซนติเมตร (4 ฟุต 7 นิ้ว โดย 4 ฟุต 0 นิ้ว) อาลี เบย์ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 รายงานว่าหินมีความสูง 110 เซนติเมตร (3 ฟุต 7 นิ้ว) และมุฮัมมัด อะลี พาชารายงานว่าหินมีความยาว 76 เซนติเมตร (2 ฟุต 6 นิ้ว) และกว้าง 46 เซนติเมตร (1 ฟุต 6 นิ้ว)[2] หินดำติดอยู่ที่มุมตะวันออกของกะอ์บะฮ์ ซึ่งมีชื่อว่า อัรรุกนุลอัสวัด ('มุมหินดำ')[8] ส่วนหินอีกก้อนที่ตั้งอยู่มุมตรงข้ามของหินดำในมุม อัรรุกนุลยะมานี ('มุมเยเมน') มีความสูงค่อนข้างต่ำกว่าหินดำ[9] การเลือกมุมตะวันออกอาจมีความสำคัญทางพิธีกรรม เนื่องเป็นมุมที่เจอกับลมตะวันออกพัดพาฝนมา (อัลเกาะบูล) และเป็นทิศทางที่ดาวคาโนปัสขึ้น[10] แผ่นเงินที่อยู่รอบหินดำและกิสวะฮ์หรือผ้าคลุมกะอ์บะฮ์สีดำ ได้รับการบำรุงรักษาจากสุลต่านออตโตมันในฐานะผู้อารักขามัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองมาหลายศตวรรษ แผ่นนั้นสึกหรอไปตามกาลเวลาเนื่องจากต้องรับมือกับผู้แสวงบุญเป็นอย่างมากและมีการเปลี่ยนเป็นระยะ แผ่นที่ชำรุดนำกลับไปที่อิสตันบูล โดยนำไปจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ sacred relics ในพระราชวังโทพคาปึ[11] ความหมายและการแสดงสัญลักษณ์ชาวมุสลิมกล่าวว่าหินดำนี้ถูกพบโดยอับราฮัม (อิบรอฮีม) และอิชมาเอล (อิสมาอีล) บุตรชายของท่าน ในขณะกำลังหาหินเพื่อนำมาก่อสร้างกะอ์บะฮ์ โดยท่านทั้งสองตระหนักเห็นในคุณค่าของหินดำ จึงได้นำหินดำมาประดิษฐานที่มุมหนึ่งของกะอ์บะฮ์ มุสลิมเชื่อว่าหินนี้เคยมีสีขาวบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลายเป็นสีดำเนื่องจากบาปของผู้ที่แตะต้องมัน[12][13] ตามธรรมเนียมศาสดาบันทึกว่า "การแตะมันทั้งสอง (หินดำและ อัรรุกนุลยะมานี) เป็นการลบล้างบาป"[14] และมีฮะดีษบันทึกว่า เมื่อเคาะลีฟะฮ์ อุมัร (ค.ศ. 580–644) เดินทางมาจุมพิตหิน เขากล่าวว่า: "ข้ารู้ว่า ท่านก็คือหินก้อนหนึ่งที่ไม่มีอันตราย ไม่มีประโยชน์ และหากแม้นว่าข้าไม่เห็นท่านศาสดามุฮัมมัดจูบท่านล่ะก็ ข้าก็จะไม่จูบท่าน"[15] ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของหินดำยังคงเป็นที่ถกเถียง โดยมีการกล่าวถึงหินหลายแบบ เช่น เป็นหินบะซอลต์, โมรา, ชิ้นส่วนแก้วธรรมชาติ หรือหินอุกกาบาต Paul Partsch ภัณฑารักษ์ฝ่ายชุดสะสมแร่ธาตุของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตีพิมพ์การวิเคราะห์หินดำอย่างครอบคลุมเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1857 โดยเขาโปรดปรานสมมติฐานต้นกำเนิดจากอุกกาบาต[16] Robert Dietz และ John McHone เสนอใน ค.ศ. 1974 ว่าหินดำแท้จริงเป็นโมรา โดยตัดสินจากลักษณะทางกายภาพของมันและมีรายงานโดยนักธรณีวิทยาชาวอาหรับว่าหินมีลักษณะการแพร่กระจายของหินโมราที่มองเห็นได้ชัดเจน[2] เบาะแสสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติของมันมาจากรายงานการฟื้นฟูหินใน ค.ศ. 951 หลังหินนี้ถูกปล้นสดมออกไป 21 ปี พงศาวดารรายงานว่า หินถูกระบุด้วยความสามารถในการลอยน้ำ ถ้ารายงานนี้เป็นจริง ก็จะเป็นการชี้ขาดว่าหินดำเป็นโมรา, ลาวาบะซอลต์, หรือหินอุกกาบาต แม้ว่าจะเทียบเท่ากับแก้วหรือหินพัมมิซด้วย[7] Elsebeth Thomsen จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนเสนออีกสมมติฐานหนึ่งใน ค.ศ. 1980 ว่าหินดำอาจเป็นชิ้นส่วนแก้ว หรือ impactite จากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ เมื่อ 6,000 ปีที่แล้วที่วาบัร[17] พื้นที่ในทะเลทรายรุบอุลคอลีทางตะวันออกของมักกะฮ์ 1,100 กม. การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พื้นที่วาบัรใน ค.ศ. 2004 กล่าวแนะว่าเหตุการณ์พุ่งชนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด และอาจเกิดขึ้นในช่วง 200–300 ปีที่ผ่านมา[18] นักธรณีวิทยามองสมมติฐานอุกกาบาตว่าเป็นที่สงสัย ทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของอังกฤษเสนอแนะว่ามันอาจเป็นอุกกาบาตเทียม (pseudometeorite) หรือเป็นหินบนโลกที่ถูกระบุผิดเป็นอุกกาบาต[19] หินดำไม่เคยได้รับการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และต้นกำเนิดของมันยังคงเป็นหัวข้อของการคาดเดา[20] อ้างอิง
บรรณานุกรมวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ หินดำ
|