ห้ามถาม ห้ามบอก
ห้ามถาม ห้ามบอก (อังกฤษ: Don't ask, don't tell ย่อว่า DADT) เป็นคำที่หมายถึงนโยบายที่ห้ามเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวลที่เปิดเผยตัว เข้าร่วมกองทัพอเมริกัน อยู่ในประชุมกฎหมายมหาชนที่ 103-160 (ประมวลกฎหมายสหรัฐอเมริกา ลักษณะ 10 มาตรา 654)[1] โดยมีนโยบายห้ามบุคคลใดก็ตาม ซึ่งมีลักษณะเป็นผู้รักร่วมเพศหรือรักร่วมสองเพศ ในขณะที่ปฏิบัติงานในกองทัพสหรัฐอเมริกา เปิดเผยลักษณะรสนิยมทางเพศของตนเอง โดยการพูดหรือเปิดเผยถึงความสัมพันธ์รักร่วมเพศ การแต่งงานกับเพศเดียวกัน ด้วยเหตุเพราะว่า จะเป็นการสร้างปัญหาที่ไม่สามารถยอมรับได้กับมาตรฐานระดับสูงด้านคติธรรม ความเป็นระเบียบและวินัย และการทำงานร่วมกันเป็นหน่วยที่เป็นสาระสำคัญของกองทัพ ในส่วนของหลักการ ห้ามถาม ห้ามบอก ระบุว่า ส่วน "ห้ามถาม" ของนโยบายหมายถึง ผู้บังคับบัญชาไม่ควรเริ่มต้นการสืบสวนรสนิยมทางเพศของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถูกห้าม ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือจนสามารถเริ่มการสืบสวนได้ การละเมิดส่วนดังกล่าวโดยการสืบสวนที่ไม่ได้รับมอบอำนาจและการข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องสงสัยส่งผลให้มีการวางกฎเกณฑ์ปัจจุบันของนโยบายว่า "ห้ามถาม ห้ามบอก ห้ามตามล่า ห้ามข่มขู่"[2] ความพยายามที่จะยกเลิกนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เพิ่มขึ้นหลังจากการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีบารัก โอบามาใน พ.ศ. 2551 ผู้ซึ่งกล่าวสนับสนุนการยกเลิกนโยบายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง[3] ใน พ.ศ. 2553 สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านคำแปรบัญญัติรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติสำหรับปีงบประมาณ 2554 ซึ่งจะยกเลิกส่วนที่เกี่ยวข้องกันของกฎหมายดังกล่าว เมื่อมาตรการยกเลิกกฎหมายหยุดชะงักในระดับวุฒิสภา ร่างกฎหมายเดี่ยวสำหรับยกเลิกนโยบายก็ได้รับการเสนอในวุฒิสภาแทน สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และผ่านการลงคะแนนเสียงในวุฒิสภาที่ผ่านเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553[4] บารัก โอบามา ได้ลงนามให้การยกเลิกนี้มีผลทางกฎหมายเมื่อ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ดีนโยบายดังกล่าวยังมีผลบังคับต่อไป จนกว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะลงความเห็นว่าการยกเลิก DADT ไม่มีผลต่อความพร้อม ประสิทธิภาพ ความสามัคคี และการจัดหากำลังพลของกองทัพ เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงลงความเห็นแล้วต้องรอเวลาอีก 60 วัน DADT จึงจะถูกยกเลิกโดยสมบูรณ์[5] ประวัติ
การยกเลิกรัฐบัญญัติปรับปรุงการเตรียมพร้อมทางทหารรัฐบัญญัติปรับปรุงการเตรียมพร้อมทางทหารเป็นร่างกฎหมายที่ได้รับการเสนอเข้าสู่สภาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2548 โดยแจ้งจุดประสงค์ว่า "เพื่อแก้ไขลักษณะ 10 ของประมวลกฎหมายสหรัฐ เพื่อปรับปรุงการเตรียมพร้อมของกองทัพโดยเปลี่ยนนโยบายปัจจุบันเกี่ยวกับการรักร่วมเพศในกองทัพ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม 'ไม่ถาม ไม่ตอบ' ให้เป็นนโยบายที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศ" ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการเสนออีกครั้งใน พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2552 การยกเลิกใน พ.ศ. 2553ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้สนับสนุนการยกเลิกในกฎหมายที่ห้ามกลุ่มรักร่วมเพศมิให้เข้ารับราชการทหาร[3] วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552 โอบามาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อมูลนิธิรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มให้การสนับสนุนรักร่วมเพศ รักร่วมสองเพศและคนข้ามเพศที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ว่าเขาจะยุติการห้ามดังกล่าว แต่ไม่ได้กำหนดตารางเวลาที่ชัดเจน[6] ในตำแหน่งประธานาธิบดี โอบามาได้กล่าวในการแถลงนโยบายประจำปี พ.ศ. 2553 ครั้งแรก ว่า "ในปีนี้ ผมจะทำงานร่วมกับรัฐสภาและกองทัพของเราเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ปฏิเสธสิทธิของชาวอเมริกันเกย์ที่จะรับใช้ชาติที่พวกเขารัก เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเป็น"[7] คำแถลงดังกล่าวตามมาด้วยการแสดงความเห็นด้วยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โรเบิร์ต เกตส์ และประธานคณะเสนาธิการร่วม ไมเคิล มุลเลน ที่ให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวอย่างรวดเร็ว[8] วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีเกตส์ได้มีเอกสาร[9] สั่งให้คณะทำงานระหว่างกระทรวงและระหว่างหน่วยงานจะได้รับการัดตั้งขึ้น "เพื่อควบคุมการทบทวนที่ครอบคลุมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย [ห้ามถาม ห้ามบอก]" คณะทำงานทบทวนครอบคลุม (CRWG) มีประธานร่วม คือ พลเอกคาร์เตอร์-แฮม และที่ปรึกษาทั่วไปกระทรวงกลาโหม เจย์ จอห์นสัน[10] ทางเพนตากอนได้ตีพิมพ์รายงานสุดท้ายของคณะทำงานเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมีเนื้อหาระบุว่า การยกเลิกกฎหมายมีอัตราความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดการขัดขวางการทำงานของหน่วยงาน[11] รัฐมนตรีกลาโหม เกตส์ เกรงว่าศาลจะบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งอย่างระมัดระวัง[11] จึงกระตุ้นให้สภาคองเกรสมีมติยกเลิกกฎหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อที่ว่าทางกองทัพจะได้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว พรรคเดโมแครตได้เลื่อนการพิจารณายกเลิกกฎหมายให้เร็วขึ้น[12] 25 มีนาคม พ.ศ. 2553 เกตส์ได้ประกาศกฎใหม่ที่สั่งให้มีเพียงนายทหารระดับนายพลเท่านั้นที่สามารถเริ่มการดำเนินการปลดออกจากหน้าที่และกำหนดกฎของพยานหลักฐานที่เข้มงวดที่จะถูกนำไปใช้ในระหว่างการพิจารณาปลดออกจากหน้าที่[13] 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริการับรองการแปรบัญญัติเมอร์ฟี[14] ที่แก้ไขรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติสำหรับปีงบประมาณ 2554 ด้วยคะแนนเสียง 234-194 เสียง[15] ซึ่งจะยกเลิกส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน 60 วันหลังจากการศึกษาโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐเสร็จสิ้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานคณะเสนาธิการร่วม และประธานาธิบดีสหรัฐรับรองว่าการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกองทัพ[16][17] วันเดียวกัน คณะกรรมการกิจการทหารวุฒิสภาสหรัฐได้มีมาตรการอย่างเดียวกันด้วยคะแนนเสียง 16-12 เสียงที่จะนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติ[16] ร่างกฎหมายที่ได้รับการเสนอผ่านสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[18] 21 กันยายน พ.ศ. 2553 จอห์น แมคเคน สามารถขัดขวางการผ่านมติได้สำเร็จ (56-43 เสียง) ต่อการโต้วาทีเกี่ยวกับรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติ[19] 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553 คณะเสนาธิการร่วมได้ปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมการกิจการทหารวุฒิสภาเกี่ยวกับห้ามถาม ห้ามบอก[20] ในขณะที่รองประธานคณะเสนาธิการร่วม เสนาธิการทหารเรือ และผู้บัญชาการยามฝั่งได้ประเมินว่าการยกเลิกนโยบาย "ห้ามถาม ห้ามบอก" จะมีผลกระทบน้อยต่อการทำงานร่วมกันของทหารบกและทหารเรือ เสนาธิการทหารบกและทหารอากาศเช่นเดียวกับผู้บัญชาการนาวิกโยธินกลับไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายในคราวนี้[20] โดยกล่าวว่า ในขณะที่การรับชายและหญิงรักร่วมเพศสู่กองทัพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้[20] การยกเลิกนโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดความตึงเครียดไม่พึงปรารถนาเพิ่มเติมต่อกำลังเน้นการรบระหว่างช่วงสงครามปัจจุบัน[20] 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 การขัดขวางการผ่านมติอีกครั้งหนึ่งเป็นอุปสรรคต่อการโต้วาทีเกี่ยวกับรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติระหว่างสมัยประชุมสภาที่มีสมาชิกไม่ได้รับเลือกตั้งซ้ำ ซูซาน คอลลินส์ จากรัฐเมน ลงคะแนนเสียงให้ปิดอภิปรายและให้มีการลงคะแนนเสียงทันที และโจ แมนชิน จากรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ได้ลงคะแนนเสียงคัดค้าน[21] แมนชินกล่าววว่าเขาไม่สนับสนุนให้มีการลงคะแนนเสียงทันทีเพราะเขายังไม่ได้หารือกับประชาชนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แต่ก็ระบุว่านโยบายดังกล่าว "มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกยกเลิกในอนาคตอันใกล้"[22] สมาชิกวุฒิสภา โจ ลีเบอร์แมน และซูซาน คอลลินส์ ได้เสนอร่างกฎหมาย เอส.4022 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เพื่อตอบโต้ความล้มเหลวในการเปิดอภิปรายรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติ รวมไปถึงกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบัญญัติอนุมัติการป้องกันแห่งชาติ ซึ่งลีเบอร์แมนและคอลลินส์พิจารณาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านเป็นกฎหมายเดี่ยวได้ วอชิงตัน โพสต์ได้เปรียบเทียบมันกับการส่งเฮลแมรี่[23][24] ร่างกฎหมาย เอช.อาร์. 6520 ได้รับการสนับสนุนจากแพทริก เมอร์ฟี และผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยทาง เอช.อาร์. 2965 ด้วยคะแนนเสียง 250 ต่อ 175 เสียง วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553[25][26] 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553 วุฒิสภาลงคะแนนเสียงเพื่อปิดการโต้วาทีใน เอส. 4023 อันเป็นร่างกฎหมายของวุฒิสภาที่เหมือนกับ เอช.อาร์. 2965 โดยทางการลงคะแนนเสียงทันทีด้วยคะแนนเสียง 63-33 เสียง[27] ก่อนหน้าการลงคะแนน ลีเบอร์แมนได้กล่าวสรุปโดยเห็นด้วยกับการยกเลิกห้ามถาม ห้ามบอก และแมคเคนกล่าวสรุปโดยเห็นตรงกันข้าม ผลคะแนนสุดท้ายของวุฒิสภาที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน โดยมาตรการที่ได้รับการเสนอนั้นผ่านด้วยคะแนนเสียง 65-31 เสียง[4] เกตส์ได้มีการแถลงหลังจากการลงคะแนนเสียงชี้ว่าการวางแผนสำหรับการดำเนินการยกเลิกนโยบายดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในทันที นำโดยรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านกำลังพลและความพร้อมรบ คลิฟฟอร์ด แอล. สแตนลีย์ และจะมีการดำเนินการจนกระทั่งเกตส์เชื่อว่าเขาสามารถรับรองว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสำหรับการยกเลิกนโยบายดังกล่าวอย่างสงบเรียบร้อย[28] อ้างอิง
|