อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือเดิมใช้ว่า อำนาจตั้งแผ่นดิน (อังกฤษ: constituent power; ฝรั่งเศส: pouvoir constituant) เป็นอำนาจที่จะตราหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเภทอำนาจตรารัฐธรรมนูญเรียกว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยแท้" (original constituent power) เป็นอำนาจที่จะสร้างหลักเกณฑ์พื้นฐานในการใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐ ส่วนอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรียกว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามที่ได้รับมา" (derived constituent power) เป็นอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางรูปแบบ (condition of form) ซึ่งว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม และข้อกำหนดเกี่ยวกับสาระสำคัญ (substantive requirement) ซึ่งกำหนดกรอบของเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ ความเป็นมาและแนวคิดแนวคิดปัจจุบันเห็นว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชน แต่รากฐานของแนวคิดนี้ปรากฏมีมาตั้งแต่มัชฌิมยุค[1] โดยเป็นผลจากการคิดวิเคราะห์ของกลุ่มเคลื่อนไหวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเรียกตนเองว่า "ผู้เรืองปัญญา" (Enlightenment) คนเหล่านี้เสนอว่า รัฐธรรมนูญเป็นตราสารซึ่งได้รับอำนาจมาจากการที่ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นผลิตผลของการที่ประชาชนแสดงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยการสร้างหรือปรับปรุงหลักเกณฑ์การปกครองตนเอง[1] ต่อมา ชาวลัทธิคาลวิน (Calvinism) ได้ตีความเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของฌ็อง โบแดง (Jean Bodin) เสียใหม่ การตีความดังกล่าวเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน[1] ชาวลัทธิคาลวินสร้างทฤษฎี "อธิปไตยสองด้าน" (double sovereignty) โดยเห็นว่า อำนาจอธิปไตยมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ "อำนาจอธิปไตยตามบุคคล" (majestas personalis) คือ อำนาจของผู้ปกครอง และ "อำนาจอธิปไตยที่แท้จริง" (majestas realis) คือ อำนาจอันเป็นของประชาชน[1] ภายหลัง กลุ่มหัวรุนแรง (radical) ในยุโรปได้ใช้ทฤษฎีดังกล่าวในการพิพาทเกี่ยวกับ "เทวสิทธิ์" (divine right) และ "อธิปไตยของปวงชน" (popular sovereignty) หลายครั้ง ตกผลึกเป็นการแบ่งแยกระหว่าง "อำนาจที่สถาปนาขึ้น" (constituted power) คือ อำนาจของผู้ปกครอง กับ "อำนาจที่จะสถาปนา" (constituent power) คือ อำนาจในการให้ผู้ปกครองมีอำนาจ[1] การแบ่งแยกดังกล่าวส่งผลให้แนวคิดปฏิวัติในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น อิทธิพลที่จอห์น ล็อก (John Locke) ปรัชญาเมธีอังกฤษ มีต่อลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) ในสหรัฐอเมริกายังได้รับการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประกาศเอกราช (Declaration of Independence) ด้วยว่า[1]
แม้เป็นแนวคิดสมัยใหม่ แต่แนวคิดทำนองนี้ก็เป็นเสียงสะท้อนการอภิปรายที่มีมาแต่โบราณกาลเรื่อง ประชาชนสามารถอาศัยกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองได้หรือไม่ ตามที่นักบุญออกัสติน (Saint Augustine) เสนอไว้ในแนวคิดเรื่อง "กฎหมายไร้ธรรมหาใช่กฎหมาย" (lex iniusta non est lex)[2] แนวคิดเรื่องประชาชนมีอำนาจตั้งแผ่นดินนี้ยังได้รับการใช้สถาปนาอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา แม้เป็นการขัดกับบทบัญญัติสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) ซึ่งเป็นข้อตกลงในการรวมแผ่นดินเป็นสหรัฐอเมริกาก็ตาม[1] อนึ่ง แนวคิดดังกล่าวยังได้รับการอ้างถึงในวาทกรรมช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส หลวงพ่อเซเยส (Abbé Sieyès) นักทฤษฎีการเมืองชาวฝรั่งเศสซึ่งถือกันว่า เป็นบุคคลสำคัญในการสร้างทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เน้นย้ำว่า ประชาชนคือชาติและดำรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะสถาปนาการเมือง ส่วนรัฐบาลไม่ใช่ชาติ เป็นเพียงสถาบันที่ได้รับมอบอำนาจมาจากชาติ[1] หลวงพ่อเซเยสยังระบุว่า สถาบันผู้ได้รับมอบอำนาจนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งการมอบอำนาจได้ เพราะเป็นอำนาจของชาติ[1] ข้อความคิดทำนองนี้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญของวาทกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญต้องยกร่างในนามของปวงชน[1] การวิพากษ์วิจารณ์ฌอแซฟ เดอ แม็สทร์ (Joseph de Maistre) นักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เห็นว่า ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้คนที่ปกครองกับผู้คนใต้ปกครองเป็นคนละคนกัน ("the people which command are not the people which obey") กล่าวคือ โดยสภาพแล้ว ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านผู้แทน ย่อมบ่งบอกว่า ถึงอย่างไรเสีย รัฐบาลก็เป็นผู้ใช้อำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่ปวงชน[1] เดอ แม็สทร์ใช้ถ้อยคำว่า "ประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ที่ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยของพวกตนได้" ("the people are the sovereign which cannot exercise their sovereignty")[1] อ้างอิง
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
|