Share to:

 

เขียดงู

เขียดงู
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 170–0Ma จูแรสซิคตอนปลาย – ปัจจุบัน[1]
ส่วนหน้าของเขียดงูไม่ทราบชนิด (Ichthyophis sp.) ในวงศ์เขียดงู (Ichthyophiidae)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไม่ได้จัดลำดับ: Gymnophiona
ชั้น: Amphibia
ชั้นย่อย: Lissamphibia
อันดับ: Apoda
Oppel, 1811
วงศ์
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของเขียดงู (สีเขียว)

เขียดงู (อังกฤษ: Caecilians) เป็นอันดับของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอันดับหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อันดับ Gymnophion

มีลักษณะโดยรวมของรูปร่าง คือ ลำตัวเรียวยาวคล้ายงูหรือปลาไหล มีทั้งอาศัยอยู่บนบก ในโพรงดิน และในน้ำ โดยลดรูปโครงสร้างหลายประการซึ่งเป็นลักษณะที่พบกับสัตว์ที่มีลำตัวเรียวยาวหรืออาศัยอยู่ในโพรง กล่าว คือ หางมีขนาดเล็กมากหรือไม่มีเลย ไม่มีรยางค์ขาหรือฐานรยางค์ แต่ในสกุล Eocaecilia ที่เป็นซากดึกดำบรรพ์มีรยางค์ขา ตามีขนาดเล็กและบางชนิดอยู่ในร่องของกระดูกกะโหลกและถูกชั้นหนังปกคลุมไว้ ปอดข้างซ้ายมีขนาดเล็กหรือไม่มี ขณะที่บางวงศ์ที่อาศัยอยู่ในน้ำจะไม่มีปอด บางชนิดมีเกล็ดฝังตัวอยู่ในร่องที่แบ่งลำตัวเป็นปล้อง การปฏิสนธิเกิดขึ้นภายใน โดยตัวผู้จะมีอวัยวะถ่ายอสุจิเจริญจากผนังของห้องทวารร่วม บางชนิดวางไข่ในน้ำ และมีระยะเวลาของวัยอ่อนและบางชนิดวางไข่บนบกโดยไม่มีระยะวัยอ่อน ตัวเมียมีพฤติกรรมเฝ้าไข่ แต่เขียดงูส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 75 ออกลูกเป็นตัว วัยอ่อนภายในท่อนำไข่ได้รับสารอาหารจากสิ่งผลิตภายในท่อนำไข่

มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวเป็นปล้อง ปล้องของลำตัวโดยทั่วไปมีจำนานเท่ากับจำนวนปล้องของกระดูกสันหลัง แต่บางชนิดอาจมีปล้องลำตัวจำนวนสองปล้องหรืออาจจะถึงสามปล้องต่อกระดูกสันหลังหนึ่งปล้อง โดยปล้องลำตัวปฐมภูมิเจริญขึ้นมาก่อนต่อจากนั้นจึงมีปล้องลำตัวทุติยภูมิหรือปล้องลำตัวตติยภูมิเจริญขึ้นมาเป็นลำดับต่อมา เกล็ดของเขียดงูประกอบด้วยคอลลาเจนหลายชั้นเรียงซ้อนกันและฝังตัวอยู่ในร่องตรงส่วนลึกที่สุดของปล้องลำตัวปฐมภูมิ โดยเรียงเป็นลำดับต่อเนื่องกันในแนวเฉียง

กะโหลกของเขียดงูมีชิ้นของกระดูกยึดติดกันแข็งแรงและส่วนใหญ่ไม่มีช่องเปิดที่กะโหลก นอกจากช่องเปิดของอวัยวะรับความรู้สึก ได้แก่ ตา, จมูก, หนวด ในบางวงศ์มีช่องเปิดบริเวณขมับ กระดูกกะโหลกจึงขยับได้บ้าง ฟันที่ขากรรไกรบนอยู่บนกระดูกพรีแมคซิลลา กระดูกแมคซิลโลพาลาทีนและกระดูกโวเมอร์ มีอวัยวะรับรู้จำเพาะ คือ อวัยวะที่แลดูคล้ายหนวด ที่เจริญขึ้นมาจากช่องเปิดที่อยู่ระหว่างตากับช่องเปิดจมูก ตำแหน่งของช่องเปิดหนวดแตกต่างกันในแต่ละชนิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการอนุกรมวิธาน สัดส่วนความยาวของหนวดที่โผล่พ้นช่องเปิดออกมาก็แตกต่างกันในแต่ละวงศ์ โดยหนวดเป็นโครงสร้างเชิงซ้อนประกอบด้วยกล้ามเนื้อ, ต่อม และท่อ การเจริญของหนวดสัมพันธ์กับตาและอวัยวะจาคอบสัน ซึ่งทำหน้าที่รับรู้สารเคมี

เขียดงูแบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 9 วงศ์ ประมาณ 200 ชนิด[2] กระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อน ยกเว้นบนเกาะมาดากัสการ์และทางตะวันออกของเส้นสมมติวอลเลซ ในประเทศไทยพบได้ 1 วงศ์ เช่น เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis) เป็นต้น[3]

การจำแนก

  • Rhinatrematidae – 2 สกุล, 11 ชนิด; อเมริกาใต้
  • Ichthyophiidae – 3 สกุล, 50 ชนิด; เอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์
  • Scolecomorphidae – 2 สกุล, 6 ชนิด; แอฟริกา
  • Herpelidae – 2 สกุล, 9 ชนิด; แอฟริกา
  • Chikilidae – 1 สกุล, 3 ชนิด; อินเดีย
  • Caeciliidae – 2 สกุล, 42 ชนิด; อเมริกากลางและอเมริกาใต้
  • Typhlonectidae – 5 สกุล, 13 ชนิด; อเมริกาใต้
  • Indotyphlidae – 7 สกุล, 21 ชนิด; เซเชลส์, อินเดีย, แอฟริกา
  • Siphonopidae – 7 สกุล, 19 ชนิด; อเมริกาใต้
  • Dermophiidae – 4 สกุล, 13 ชนิด; แอฟริกา, อเมริกากลางและอเมริกาใต้[2]

อ้างอิง

  1. Nussbaum, Ronald A. (1998). Cogger, H.G. & Zweifel, R.G.. ed. Encyclopedia of Reptiles and Amphibians. San Diego: Academic Press. pp. 52–59. ISBN 0-12-178560-2.
  2. 2.0 2.1 Wilkinson, M.; San Mauro, D.; Sherratt, E.; Gower, D.J. (2011). "A nine-family classification of caecilians (Amphibia: Gymnophiona)" (PDF). Zootaxa. 2874: 41–64.
  3. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา. วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2552. 240 หน้า. หน้า 303-306. ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya